อยุธยาควรมีรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ควรสร้างทางรถไฟทับบนพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ตามที่ได้มีโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 ตรงกับปีแรกของรัฐบาล คสช.นั้น จะเริ่มทำการสร้างทางรถไฟแล้วนะครับ

และช่วงหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่ว่านี้ คือช่วงระยะทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพ-สถานีพระแก้ว ก็ได้พาดผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเลียบด้านนอกเกาะเมืองอยุธยา (ทับทางรถไฟสายเดิม) นั้น จะทำให้การคมนาคมสะดวกสบายขึ้นมาก และย่อมส่งผลดีในทางเศรษฐกิจกับพื้นที่แน่ๆ

แต่ทั้งการก่อสร้างที่ย่อมมีการขุดเจาะเสาเข็ม และตอม่อขนาดใหญ่ รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนในการสร้าง และการสั่นสะเทือนจากการวิ่งของรถไฟทุกเมื่อเชื่อวันหลังจากที่สร้างเสร็จแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อบรรดาโบราณวัตถุสถานทั้งบนดิน และใต้ดินอย่างมากมายมหาศาลด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญก็คือพื้นที่บริเวณที่รถไฟกำลังจะแล่นผ่านข้างเกาะเมืองอยุธยานั้น เป็นพื้นที่สำคัญ ซึ่งเคยเป็นเมืองเก่า ซึ่งมีมาก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ซึ่งพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปใส่วงเล็บต่อท้ายว่าคือกษัตริย์ในตำนานอย่าง “พระเจ้าอู่ทอง”) จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น เมื่อ พ.ศ.1893 เสียอีก

พื้นที่บริเวณดังกล่าวตรงกับเมืองที่ในศิลาจารึกเรียกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร”

 

คำว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมสุโขทัย คือจารึกวัดเขากบ จ.นครสวรรค์ ส่วนในจารึกวัดศรีชุม จ.สุโขทัย เรียกว่า “ศรีรามเทพนคร” ซึ่งควรจะหมายถึงเมืองเดียวกัน เพราะตามปรัมปราคตินั้น เมืองของพระรามก็คือ เมืองอโยธยา หรืออยุธยานั่นเอง

ยังมีหลักฐานด้วยในจารึกลานทองวัดส่องคบ จ.ชัยนาท เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองนครพระราม” ที่ควรจะหมายถึงอโยธยาศรีรามเทพนครด้วยเช่นกัน (ในตำนานเรื่องของพระนางจามเทวีนั้น ก็บอกว่า สวามีของพระนางมาจากเมืองรามบุรี ซึ่งก็น่าจะตรงกันกับชื่อเมืองนครพระราม ในจารึกลานทองวัดส่องคบ) โดยศิลาจารึกทั้งหมดนี้มีอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ไล่เลี่ยกันคือช่วงราวปลายศตวรรษของ พ.ศ.1800 ถึงช่วงต้นศตวรรษของ พ.ศ.1900 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะสถาปนาเมืองขึ้นด้วยชื่อใหม่ว่า “กรุงศรีอยุธยา”

ในพระราชพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาอ้างว่า มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นมาองค์หนึ่งเมื่อ พ.ศ.1867 อันเป็นช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง

ดังนั้น อยุธยาจึงเป็น “เมือง” ที่มีทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังคน ในการที่จะสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยักษ์มาก่อนปี 1893 แล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีใครที่ไหนอพยพผู้คนหนีโรคห่ามาจากถิ่นฐานดั้งเดิม แล้วสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาใหม่จนสำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวเสียเมื่อไหร่

ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่ว่านั้นก็คือ พระพุทธรูปองค์ที่พระราชพงศาวกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (ซึ่งเป็นพงศาวดารอยุธยาฉบับที่เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ [ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231] โดยถือว่าเป็นพงศาวดารฉบับที่เขียนด้วยภาษาไทยที่เก่าที่สุด) เรียกว่า “พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง” ซึ่งก็คือหลวงพ่อวัดพนัญเชิงนั่นเอง

“วัดพนัญเชิง” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ทางด้านใต้ประชิดกันกับ “เมืองอโยธยา” โดยผลการขุดค้นทางโบราณคดีของ อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าชั้นดินรุ่นก่อนสถาปนาเมืองกรุงอยุธยาที่วัดแห่งนี้ มีการใช้งานที่หนาแน่นมากยิ่งกว่าในยุคสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้วเสียอีก จึงพอจะกล่าวได้ว่า หลวงพ่อพนัญเชิงนั้นสร้างขึ้นภายใต้อำนาจรัฐของอโยธยาศรีรามเทพนครก็ไม่ผิด

ที่สำคัญก็คือ นักมานุษยวิทยาชั้นครูอย่าง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยพิจารณาร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า เมืองโบราณยุคก่อนอยุธยาแห่งนี้เคยมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่สภาพปัจจุบันเลือนรางไปหมดแล้ว

พื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงนั้นจึงเป็นพื้นที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาในทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี อันเป็นพื้นที่เก่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.1893 หมายความว่าพื้นที่บริเวณนี้คือ รากฐานที่จะก่อให้เกิด “ความเป็นอยุธยา” เป็นพื้นที่ของคติกษัตริย์คือพระราม ซึ่งยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากๆ ซึ่งยังมีอะไรต้องศึกษาขุดค้นในทางโบราณคดีอีกเยอะ แต่กำลังจะถูกตอม่อเสาเข็มรถไฟความเร็วสูงเสียบทะลุเป็นช่วงๆ ก่อนรอรับแรงสะเทือนอีกสารพัดระลอกอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

กรณีศึกษาที่อาจนำมาเปรียบเทียบกันก็คือ “สนามบิน” ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนคร (นครวัด นครธม) เสียจนรัฐบาลกัมพูชาต้องสร้างสนามบินใหม่ให้ไกลออกไปจากกลุ่มโบราณสถาน ทั้งๆ ที่สนามบินเดิมนั้นก็ยังไม่ได้เก่าเกินกว่าจะใช้งาน หรือชำรุดเสียหายอะไรเลยสักนิด

 

Siem Reap International Airport เพิ่งจะเปิดใช้งานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 เท่านั้น แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่ใกล้กับกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนครมากเกินไป (ห่างจากนครวัดเพียง 6 กิโลเมตร) จนทำให้กลุ่มโบราณสถานได้รับการกระทบกระเทือนจากทั้งแรงสั่นสะเทือนเวลาเครื่องบินขึ้น และลงจอด (ที่เห็นด้วยตาเปล่าคือ ทำให้ลวดลายแกะสลักต่างๆ บนเนื้อหินได้รับความเสียหาย) รวมไปถึงมลพิษ จึงทำให้ในอีกเพียง 4 ปีหลังการเปิดใช้สนามบินแห่งนี้คือ พ.ศ.2553 รัฐบาลกัมพูชาก็ต้องเริ่มต้นวางแผนที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ ให้ตั้งอยู่ไกลออกจากกลุ่มโบราณสถานเหล่านี้

ในปีนั้นเอง รัฐบาลกัมพูชาจำต้องต้องได้อนุมัติแผนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในเมืองเสียมเรียบ เป็นเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหวังใจว่าจะสร้างสนามบินใหม่ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 แต่ก็กลายเป็นว่าเกิดเรื่องยุ่งอีนุงตุงนัง สนามบินสร้างไม่เสร็จ จนต้องเปลี่ยนบริษัทรับสัมปทานใหม่ รัฐต้องจ่ายเงินชดใช้ต่างๆ จนสุดท้ายในปี พ.ศ.2560 ค่อยเซ็นสัญญากับบริษัทจากจีนในวงเงิน 880 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสนามบินแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า New Siem Reap-Angkor Airport จะเปิดให้บริการปลายปี 2566 นี้ โดยตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบ 50 กิโลเมตร และห่างจากนครวัด 40 กิโลเมตร ส่วนสนามบินเดิมที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถานจะปิดใช้งาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์กลุ่มโบราณสถานต่างๆ เอาไว้

แน่นอนว่าสำหรับชาวกัมพูชาแล้ว “นครวัด” เป็นหัวใจหลักของชาตินิยมกัมพูชา (ก็ถึงขนาดเอาขึ้นไปแปะไว้บนธงชาติ) และการท่องเที่ยวที่นครวัด และโบราณสถานต่างๆ ทำเงินอย่างมหาศาลให้กับประเทศกัมพูชา ดังนั้น ที่รัฐบาลกัมพูชาจะให้ความสำคัญกับโบราณสถานต่างๆ ของชาติก็ไม่แปลก

ย้อนกลับมาที่กรณีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา รัฐบาลของไทย โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการทุกสมัยชอบอ้างประวัติศาสตร์ เพื่อปลุกสำนึกชาตินิยมต่างๆ แต่ในทางกลับกันก็ชอบที่จะปล่อยโบราณสถาน เมืองโบราณต่างๆ ไปตามยถากรรม และบางทีก็พร้อมจะทำความเสียหายให้โบราณสถาน

ไม่น่าเชื่อโครงการนี้จะผ่านมาจนเกือบสร้างอยู่รอมร่อได้ ทั้งที่ก็ได้รับการคัดค้านจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลโบราณวัตถุสถานของชาติ เพราะก็เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่า โบราณสถานจะได้รับผลกระทบแน่ๆ ก็ขนาดในกัมพูชาปราสาทหินยังเกือบจะพังเอา แล้วจะนับประสาอะไรกับเจดีย์ก่ออิฐถือปูนของอยุธยา?

การสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังอยุธยาย่อมส่งเสริมการท่องเที่ยวแน่ และสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรสร้างให้ห่างออกไปจากเขตเมืองเก่า (แน่นอนต้องมีคนบ่นว่าไกล แต่พอมีสถานีแล้ว พื้นที่ตรงนั้นก็ย่อมเจริญขึ้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจขึ้นใหม่ มีอาชีพเพิ่มขึ้น เช่น รถโดยสารที่พาเข้าไปเมืองเก่า เป็นการสร้างทราฟฟิกใหม่ๆ ให้การท่องเที่ยวอยุธยาด้วยซ้ำไป) เช่นเดียวกับที่กัมพูชาทำ เพราะแน่นอนว่า จุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวอยุธยานั้น ก็คือความเป็นเมืองเก่านั่นเอง

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับคนไทยแหละว่า เห็นอยุธยาสำคัญมากได้เท่ากับที่คนกัมพูชามีต่อนครวัดหรือเปล่า? •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ