สงกรานต์ไทย-เขมร : สมัยนิยมแห่งความหลอมหลวม?

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

สงกรานต์ไทย-เขมร

: สมัยนิยมแห่งความหลอมหลวม?

 

อย่างสม่ำเสมอ ในทุกๆ ฤดูร้อนอันโหด “กเดา” เผาไหม้ของเดือนเมษายนที่ฉันมักเสนอบทความ แนวกึ่งวรรณกรรม อันมีที่มาจากความร้อนรุ่มกเดานั่น

อย่างที่ทราบ เมษายนของกัมพูชามักจะเป็นเดือนเมษายน แห่งความยุ่งเหยิงแม้ว่ามันจะเป็นเดือนแห่งเทศกาล “โจลฌนำทไม” (ใช้ ฌ.เฌอ แทน ช.ช้าง เพราะเสียง “Ch” ลมเพดาน) คือวันปีใหม่เขมร ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความกระตือรือร้นในวิถีผู้คนที่อาศัยในภูมิภาคนี้ ผลักดันให้งานบุญประเพณีทุกประเภทเทศกาลมีความน่าจดจำ

แต่วิถีนิวเยียร์แขมร์ที่สืบทอดกันมาแต่บรรพกาล จู่ๆ เตโชเสน (คำเรียกผู้นำอย่างเป็นทางการโดยสื่อของรัฐ) ได้ผุดไอเดีย “โจลฌนำทไม” หรือปีใหม่แขมร์ ภายใต้วาทกรรมใหม่ในชื่อ “สงกรานต์” อย่างเป็นทางการ ราวกับยุคหนึ่งของไทยสมัยจอมแปลก พิบูลสงคราม ที่เดินตามแนวคิดรัฐนิยมใหม่ อย่างไรอย่างนั้น

สำหรับ Post Modern ยุคใหม่ของเขมรนั้นเต็มไปด้วยสารตั้งต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงและการผลิตคุณค่านิยมความทันสมัยและทันสมัยมากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นภารกิจแห่งการ “ลอกเลียนแบบ”

จากระบอบของตนเอง ไปสู่ระบอบอื่น และจากจารีตของตนไปสู่จารีต-ประเทศอื่น

credit : @tvk

แต่กัมพูชาซึ่งไม่เคยผ่านความเป็นประเทศ Post Modern ใกล้สุดเพียงครั้งเดียวคือในสมัยระบอบสีหนุ (1955-70) ในยุคปลายของพระองค์ที่ความรุ่งโรจน์ทุกด้าน

ขณะที่ครึ่งแรกของระบอบยังเป็นเรื่องของการสร้างสาธารณูปโภคสมัยใหม่แบบตะวันตก เพื่อให้ชาวเขมรซึ่งเพิ่งผ่านชีวิตหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส/1953 มาได้เพียงไม่กี่ปี

วาทกรรม “สันติภาพ” จึงช่างหอมหวานต่อการลิ้มลองไปพร้อมกับวิถีสมัยใหม่ขณะนั้น

แต่นั่นก็ยังไม่ถึงกับจะเรียกว่า “โพสต์โมเดิร์น” ได้เต็มปาก และประชาชนเขมรก็ยังไม่เสพสุขกับระบอบโมเดิร์นอย่างเต็มคราบ แถมยังหวาดกลัวนิยมสมัยใหม่ไปเสียอีก

ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเจ้าชายสีหนุสร้างตึกขาว-อพาร์ตเมนต์สมัยใหม่ สำหรับเป็นบ้านพักนักกีฬาและต่อมาได้เกณฑ์ข้าราชการในกระทรวงการคลังซึ่งก้าวหน้ากว่ากระทรวงใดๆ เวลานั้นไปอยู่

แต่พวกข้าราชการส่วนใหญ่ปฏิเสธ โดยยินดีจะอยู่บ้านโกโรโกโสของตนด้วยเหตุผลนานา

หนึ่งในเหตุผลนั้นคือกลัววิถีอาศัยโดดเดี่ยวแบบสมัยตะวันตก ว่าจะทำลายจิตวิญญาณแบบเขมรที่ติดอาศัยพื้นที่ราบมากจนเกินไป

แต่ในเมื่อเป็นความประสงค์ของผู้นำเขมรที่จะสร้างอารยธรรมใหม่ให้แก่พลเมืองตามแนวคิดรัฐสมัย อย่างน้อยเราจะได้เห็นภาพเหล่านั้นจากภาพยนตร์ของเจ้าชายสีหนุ แต่ก็ขัดไม่ได้ และว่าไปแล้วกลับกลายเป็นภาพทำลายกลุ่มนักปฏิบัติสังคมนิยมที่ถูกด้อยค่าว่าเป็นฝ่ายกระฏุมพี

แต่อานิสงส์ยุค Pre-Modern ยุคสีหนุคิสต์มันกลับมาอยู่ในสมัยลอน นอล ถือเป็นยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างแท้จริงในทศวรรษ 70

เราได้เห็นความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของ Post Modern ในวิถีผู้คนพนมเปญและจากสื่อภาพยนตร์ ดนตรีที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างเต็มคราบ ตามแบบฉบับการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงเขมรตอนนั้น หลังจากระบอบสีหนุถูกโค่นไป

แน่ล่ะ มันยิ่งตอกย้ำความแตกต่างระหว่างชนชั้น คนรวย-คนจน ชนบท-เมืองใหญ่ ที่นำไปสู่การต่อสู้อย่างเต็มสูบ ระหว่างทุนเสรีกับมาร์กซิสต์ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปในที่สุด

และทำให้วิถีโพสต์โมเดิร์นที่ยังไม่ทันจะเติบโตงอกงามในเขมรยุคนั้น มีอันถูกทำลายดำดิ่งลึกลงไปอย่างถอนรากด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

credit : @tvk

แต่ในความคิดของฉัน “โพสต์โมเดิร์นเขมร” เพิ่งจะถูกลิ้มลองกันอย่างเต็มสูบกันมากๆ ในยุคเตโชเสนนี้เอง

ทำไมฉันจึงเชื่อเช่นนั้น?

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ไม่เพียงแต่การเคลมวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งแบบที่เคยมีอยู่และไม่เคยมีมาแม้แต่ราก

หากแต่ประดิษฐ์ขึ้นในระบอบฮุนเซนที่ปกครองกัมพูชามายาวนานและจำเป็นต้องสร้างแนวทางพัฒนาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศทั้งแบบการก่อสร้างที่จับต้องได้ อย่างสาธารณูปโภคสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เช่น การก่อสร้างพหุกีฬาสถาน “มรดกเตโช” ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อลบล้างอดีตยุคโมเดิร์นของสมเด็จนโรดม สีหนุ ในกรณีโอลิมปิกสเตเดี้ยม ที่ถูกลดความสำคัญลงไปในทุกด้าน ในนามของอดีตเจ้าชายสีหนุ “Prince Stadium”

และนี่คือผลพวงอันตามมาของการสร้างอาณาจักรเตโชเสนอันยิ่งใหญ่ที่ยาวนานกว่าระบอบใดๆ ในกัมพูชาอย่างไม่เคยมีมาก่อน นับจากผลพวงข้อตกลงปารีส/1991 ที่ตามมาด้วยชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จของฝ่ายฮุนเซนในรอบ 30 ปี

และนี่คือเหตุผลทำไมวาทกรรมอย่างคำว่า “สันติภาพ-สันติเพียบ!” ถูกผลิตซ้ำซากในระยะไม่กี่ปีมานี้

เช่นเดียวกับซอฟต์เพาเวอร์อื่นๆ ที่รัฐสมัยในระบอบฮุนเซนจำเป็นต้องผลิตขึ้นเพื่อกระตุ้นเร้าพลเมืองให้จดจำระบอบเตโชฮุนเซนแห่งกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้สร้าง ณ ที่นี้

credit : @tvk

ขอคารวะแด่เตโชเสนแห่งกัมปูเจีย ผู้ก่อสร้างความหลากหลายในสกุลรัฐศาสตร์แห่งการปกครองไม่ว่าจะเป็น มาร์กซิสต์ เลนิน เหมาอิส ฮานอย เปกัง (ปักกิ่ง) รวมทั้งกรุงเทพฯ

ฮุน เซน ผู้สามารถประมวลเอาระบอบต่างๆ ทั้งแบบสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ทั้งแบบเครมลิน ปักกิ่ง ฮานอยมารวมกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังยึดโยงกับแนวคิดชุณหะวัณในทุนนิยมเสรียุคแรก และจับเอาแนวคิดสีหนุเรื่องการสร้างรัฐเขมรสมัยใหม่มาผสมรวม

สถาปนาความเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างวิถีประชากรโลกซึ่งกำลังจะถูกหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

ความต้องการเป็นรัฐนาวาสมัยใหม่แบบโพสต์โมเดิร์นที่รวดเร็วเปิดกว้างนี้ได้บีบคั้นสังคมเขมรที่มีผู้ปกครองซึ่งมีแนวคิดหัวเก่า

ความพยายามที่จะ “หยิบฉวย” หรือ “จำลอง” จาก “ระบอบอื่นๆ” มาใช้สอยจึงเกิดขึ้นเรื่อยมา

ไม่ว่าจะเป็น สีหนุคิสต์ ลอน นอลลิสซึ่ม หรือแม้แต่เขมรแดงของระบอบพล พต!

และดูเหมือนหวยจะมาลงที่ไทยซึ่ม (Thaism) หรือไทยซั่ม! โดยเฉพาะกรณีทางวัฒนธรรมที่คาบเกี่ยวกันด้วย!

ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์เฟสติวัล ที่องกอร์เมืองเสียมเรียบ กุนแขมร์-มวยเขมร และ ฯลฯ

แต่ยังไม่จบแค่นี้เท่านั้น นโยบายแผ่ขยายวัฒนธรรมกัมพูชาในระบอบเตโชฮุนที่ครอบจักรวาลนี้ นอกจากจะนำไปยึดโยงอาณาจักรนครวัดนครธมแล้ว ยังสามารถเพาะเชื้อเป็น “ตัวอ่อน” สำหรับปลูกฝังประชาชนให้หลงใหลและเชื่อในลัทธิชาตินิยมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า การประยุกต์แนวคิดที่ว่านี้ ได้ก่อให้เกิดกระแส “ปฏิวัติสี” หรือ “Color Revolution” ที่สมเด็จฮุน เซน หวาดกลัวหนักหนาขึ้นด้วย

การมาถึงของ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในหมู่ประชาชน 2 ประเทศ ไทย-กัมพูชา นี้เชื่อไหมว่า ตัวก่อการอันวิเศษวิโสนี้ ไม่ได้อยู่ที่เขมร แต่อยู่ที่ประเทศไทย

โดยเฉพาะพลเมืองของประเทศนี้ที่กำลังเต็มไปด้วยนักจุดไฟในนาคร แต่สำหรับผู้นำบางประเทศนั้น อาจถึงขั้นเรียกว่า เป็น “ไฟ” ประลัยกัลป์

credit : @tvk

นับมาถึง-กึ่งกลางความสำเร็จในระบอบฮุนเซน 20 ปีหลังเผาสถานทูตไทยในปี ค.ศ.2003/2546 นั้น

กัมพูชาได้ยืมไทย ในนโยบายแห่งการสมยอม แต่บังเอิญควบคุมไม่ได้จนกลายเป็นจลาจลครั้งนั้น ซึ่งลึกๆ ไทยเองส่วนหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็นความปกตินี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อระบอบฮุนเซน ด้วยข้อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หนึ่งในนั้นคืออานิสงส์ลัทธิบูชาผู้นำนิยมของ 2 ผู้นำประเทศเวลานั้น

แล้วการเผาครั้งนั้น ก็ตามซึ่งโภชผลหลายอย่างรวมทั้งความเสียหายต่อภาคเอกชนผู้ทำสัมปทานในกัมพูชา

แต่ 1 ในนั้น คือการที่ตระกูลฮุนได้รับอานิสงส์ธุรกิจมวยไทยที่เคยอยู่ในรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ถือครองสัมปทานเป็นชาวไทย ซึ่งรายการที่สร้างรายได้มหาศาลตอนนั้น ก็คือการชกมวยปรอดาลเสรีหรือมวยไทยนี่เอง เช่นเดียวกับผลการเลือกตั้ง/2003 ที่ชัยชนะเป็นของระบอบฮุนเซน!

ย้อนกลับไปสู่ฉากกลเหล่านั้น ราวกับเป็นพล็อตเรื่องเดียวกัน ในผลพวงแห่งการตามมาแห่งการตามมาในซอฟต์เพาเวอร์เหล่านั้น ไม่ว่าจะกุนแขมร์หรือสงกรานต์องกอร์ ล้วนแต่มีแรงจูงใจจาก “กาลครั้งหนึ่งฯ ในปี 2546”

และการถือกำเนิดของนักการเมืองผู้สร้างตลอดการเปลี่ยนแปลงสังคมเขมร จากสังคมนิยมสู่โพสต์โมเดิร์นในวันนี้ ราวกับว่าเขาผู้นั้นจะมากด้วยบารมีแห่งการเป็นผู้รับตลอดมา ไม่ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางใด

ต่อในความผิดหรือถูกที่ลากเลื่อนในแบบชักพาสังคมไป ทั้งขั้วลบสังคมนิยม หรือขั้วบวกเสรีสมัย แต่โปรดอย่าชะล่าใจ ในความผุดพรายเหล่านั้นที่ติดฝังอยู่ในใจประชาชน ไม่ว่าเขมรหรือไทย, สังคมนิยม, เสรีสมัย หรือแม้แต่โพสต์โมเดิร์น เพราะหากว่าคุณติดหล่มนั้นในวันหนึ่ง

ขอเรียนตามตรงว่า นรกบนดิน!

credit : @tvk
credit : @tvk

credit : @tvk