โรซาลินด์ แฟรงคลิน สตรีผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบล (แต่ไม่ได้รับ) | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

หากถามว่ามีนักวิทยาศาสตร์คนไหนที่มีอายุไม่ยืนยาวนัก แต่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นระดับโลกถึงระดับที่สมควรได้รับรางวัลโนเบลหากไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน ชื่อของ โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) คงจะติดโผอย่างแน่นอน

ชื่อของเธอมักจะปรากฏขึ้นเสมอเมื่อพูดถึงการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA) เพราะว่า Photo 51 ของเธอเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้วัตสันกับคริกมั่นใจว่าโครงสร้างของดีเอ็นเอเป็นเกลียวคู่ โดยต่อมาวัตสันกับคริกได้รับรางวัลโนเบล พร้อมกับนักวิทยาศาสตร์อีกคนคือ มอริซ วิลคินส์

โรซาลินด์ แฟรงคลิน
ที่มา > https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2451929421001005

โรซาลินด์ แฟรงคลิน เกิดในปี ค.ศ.1920 ที่ลอนดอน เธอเกิดในครอบครัวชาวยิวฐานะดี มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน (รวมตัวเธอเอง) โดยโรซาลินด์เป็นลูกคนที่สองและมีพี่คนโตเป็นผู้ชาย

ในวัย 6 ขวบ ป้าของเธอสังเกตความพิเศษในตัวเด็กน้อย และใช้คำว่า alarmingly clever คือ เฉลียวฉลาดอย่างน่าตื่นตระหนก เพราะว่าเด็กน้อยโรซาลินด์นำโจทย์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กมานั่งทำอย่างเพลิดเพลิน แถมทำได้ถูกเกือบทั้งหมด

พอ 11 ขวบ เธอเข้าโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ซึ่งสอนฟิสิกส์และเคมี (โรงเรียนหญิงล้วนอื่นๆ ไม่สอนสองวิชานี้) ปรากฏว่าเธอได้ท็อปของคลาสในวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศส เรื่องฝรั่งเศสนี่โรซาลินด์ชื่นชอบเป็นพิเศษ ไม่ว่าภาษา อาหาร ผู้คน และสถานที่ท่องเที่ยว

โรซาลินด์เรียนเก่งและมีสิทธิ์รับทุน แต่พ่อบอกเธอว่าให้สละสิทธิ์ทุนเสีย เพื่อให้ทุนนั้นไปตกกับคนที่ยากจนกว่า

ภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ของดีเอ็นเอ
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Photo_51

พออายุ 15 ปี เธอประกาศว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และต่อมาเข้าเรียนที่นิวแนมคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จบเกียรตินิยมอันดับสอง

ทว่า แม้จะได้เกียรตินิยมอันดับสอง แต่ก็ไม่ถือว่าเธอได้รับปริญญาตรี เพราะว่าในปี ค.ศ.1941 นั้น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (และอาจจะอีกหลายแห่งด้วย) ยังไม่ได้ให้ปริญญาตรีและโทกับสตรี สังคมอังกฤษเป็นเช่นนี้มาอีกกว่าสิบปี จึงค่อยมาเปลี่ยนกฎภายหลังว่าสามารถให้ปริญญากับสตรีได้ พอประกาศแล้วสตรีจึงค่อยได้รับปริญญาย้อนหลัง

แต่ด้วยความสามารถเธอจึงสมัครเข้าทำงานได้ ทว่า งานแรกไม่ราบรื่นนัก เพราะเธอไม่ค่อยกินเส้นกับหัวหน้า เธอจึงลาออกในอีก 1 ปีต่อมา

ต่อมาโรซาลินด์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยที่ British Coal Utilisation Research Association ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากถ่านหิน

Rosalind Franklin in 1955
โรซาลินด์ แฟรงคลิน ในปี ค.ศ.1955
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Rosalind_Franklin

เธอศึกษารูพรุนของถ่านหิน และสามารถจำแนกลักษณะของรูพรุนของถ่านออกเป็นแบบต่างๆ ทำให้บอกได้ว่า ถ่านหินแบบไหนเหมาะที่จะนำไปทำอะไร ประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

งานของเธอเหมาะกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี เพราะว่าหน้ากากกันก๊าซพิษต้องสามารถดักกรองสารพิษเอาไว้ได้ และตัวกรองก็คือถ่านที่มีรูพรุนขนาดพอเหมาะนั่นเอง

งานเกี่ยวกับถ่านหินเป็นฐานให้เธอทำงานวิจัยระดับปริญญาเอก เธอจบปริญญาเอกในปี ค.ศ.1945 หัวข้อดุษฎีนิพนธ์คือ สมบัติทางเคมีเชิงฟิสิกส์ของคอลลอยด์อินทรีย์ในสภาพของแข็งซึ่งเชื่อมโยงกับโครงสร้างของถ่านและวัสดุอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน

ต่อมาโรซาลินด์รู้จักกับคนฝรั่งเศสคนหนึ่ง เธอถามคนผู้นั้นว่ามีงานในฝรั่งเศสที่ไหนบ้างไหมที่รับนักเคมีเชิงฟิสิกส์ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเคมีเชิงฟิสิกส์เท่าไหร่ แต่รู้เรื่องถ่านดีมาก

เธอจึงได้งานที่แล็บแห่งหนึ่งซึ่งใช้รังสีเอ็กซ์ในการศึกษาโครงสร้างของวัสดุที่เรียกว่าเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ (X-ray diffraction) ในระยะแรกเทคนิคนี้มักใช้ศึกษาสสารที่มีโครงสร้างเป็นผลึก แต่ต่อมาขยายผลไปศึกษาของแข็งอสัณฐาน คือสสารที่ไม่มีโครงสร้างเป็นผลึกอีกด้วย

 

โรซาลินด์ทำงานอยู่ที่ฝรั่งเศส 4 ปี บ่มเพาะความสามารถในการเตรียมตัวอย่าง และการถ่ายภาพรูปแบบการเลี้ยวเบน จนมีฝีมือดีเยี่ยม

เมื่อกลับมาที่อังกฤษ เธอได้ทุนมาทำงานที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน อยู่ที่ Medical Research Council (MRC) หน่วยงานฟิสิกส์ชีวภาพ ซึ่งขณะนั้นมีจอห์น แรนดาลล์ เป็นผู้อำนวยการและเป็นผู้กำหนดว่าใครจะทำงานอะไร

แรนดาลล์มอบหมายให้โรซาลินด์ทำงานต่อจากมอริซ วิลคินส์ เนื่องจากมอริซ วิลคินส์ ลาพักร้อน แต่แรนดาลล์กลับไม่ได้แจ้งให้วิลคินส์ทราบว่ามีคนอื่น (คือโรซาลินด์) มาทำงานวิจัยนี้ต่อ ผลก็คือเกิดความกินแหนงแคลงใจขึ้น

มอริซ วิลคินส์ ได้สร้างความก้าวหน้าบางอย่างเอาไว้ เช่น สร้างแหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ หลอดเอ็กซเรย์ และกล้องขนาดเล็กสำหรับถ่ายภาพ

แต่เมื่อโรซาลินด์ แฟรงคลิน เข้ามาทำงานแทน นอกจากเธอจะต่อยอดงานวิลคินส์แล้ว เธอยังได้ผู้ช่วย (นักศึกษาหลังปริญญาเอก) ของเขามาด้วย

ที่สำคัญคือ เธอสร้างอุปกรณ์ที่ควบคุมความชื้นได้ ทำให้เธอได้ค้นพบว่า ดีเอ็นเอมีโครงสร้างอย่างน้อย 2 รูปแบบ

แบบหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิน 75% เรียกว่า ดีเอ็นเอในสภาวะเปียกชื้น (wet DNA) ซึ่งมีโครงสร้างยืดตัวออกมากกว่า

ส่วนอีกแบบเรียกว่า ดีเอ็นเอซึ่งมีโครงสร้างเป็นผลึก (crystalline DNA) นี่เป็นการค้นพบแรกของเธอ

 

ดีเอ็นเอเป็นโมเลกุลแห่งชีวิต จึงมีการแข่งขันกันหาโครงสร้างอย่างจริงจัง ทางฝั่งอเมริกามีไลนัส พอลิง ซึ่งพยายามหาโครงสร้างดีเอ็นเอเช่นกัน

โรซาลินด์กับลูกศิษย์ชื่อ เรย์มอนด์ กอสลิง ได้ถ่ายภาพ Photo 51 ซึ่งเป็นภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ของดีเอ็นเอที่คมชัดที่สุดในโลกขณะนั้น อย่างไรก็ดี เธอมีทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ว่า ข้อมูลต้อง “แม่น” และ “แน่น” เพียงพอเสียก่อน จึงไม่ควรที่จะคาดการเชิงทฤษฎีที่เกินเลยไปกว่าข้อมูลที่มี เพราะอาจผิดพลาดได้มาก เธอจึงตัดสินใจรอข้อมูลเพิ่มเติม

แต่ต่อมาวิลคินส์นำภาพถ่ายดังกล่าวนี้ไปให้วัตสันดู ซึ่งเมื่อวัตสันเห็นแล้ว ก็รู้ว่าดีเอ็นเอต้องเป็นเกลียวคู่อย่างแน่นอน

เรื่องที่วิลคินส์นำภาพดังกล่าวไปให้วัตสันดูนี่แหละครับที่เกิดเป็นข้อถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่!

 

มีเกร็ดตอนหนึ่งระบุว่า วัตสันรู้ว่าตนเองมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างไลนัส พอลิง (ซึ่งอยู่ที่อเมริกา) จึงอยากให้เคมบริดจ์ (วัตสัน กับคริก) ร่วมมือกับคิงส์คอลเลจ (มอริซ วิลคินส์)

วัตสันจึงคว้าข้อมูลของพอลิงและเดินทางมาที่คิงส์คอลเลจ เพื่อพยายามหาตัวมอริซ วิลคินส์ แต่เผอิญวิลคินส์ไม่อยู่ เขาเจอแต่โรซาลินด์ แฟรงคลิน

ทว่า วัตสันกับโรซาลินด์คุยกันไม่ค่อยถูกคอเท่าไหร่ แถมเขายังพูดทำนองว่าเฉพาะแต่ตัวโรซาลินด์เองนี่คงแปลผลภาพถ่ายไม่ได้ ต้องมีตัวเขากับคริกมาช่วยด้วย

วัตสันจึงไปร่วมมือกับวิลคินส์ ทำให้ภายหลังวิลคินส์ได้รับรางวัลโนเบลปี 1962 ร่วมด้วย ทั้งนี้ในปีที่มีการประกาศรางวัลนั้น โรซาลินด์ได้เสียชีวิตไปแล้ว

 

ช่วงบั้นปลายชีวิต โรซาลินด์ทำงานที่วิทยาลัยเบิร์กเบก (Birkbeck College) ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อมนัก แต่เธอยังศึกษาอาร์เอ็นเอ (RNA) และศึกษาไวรัส ภายหลังก็มีคนในสถาบันที่เธอทำงานได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา

พูดได้ว่า โรซาลินด์ แฟรงคลิน ไปที่ไหน ก็สร้างความเจริญให้แก่ที่นั่น ทำเรื่องอะไร ก็เกิดประโยชน์ต่อวงการนั้น

โรซาลินด์ แฟรงคลิน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1958 สิริอายุ 37 ปี 9 เดือน

ชื่อของเธอกลายเป็นตำนานและเป็นที่จดจำ แม้แต่แล็บบางแห่ง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์บางเครื่อง และดาวเคราะห์น้อยบางดวงต่างก็มีชื่อเธอ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่สตรีมากความสามารถผู้นี้