“เจ้าแม่โคกพนมดี” หมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้ว | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เจ้าแม่โคกพนมดี โครงกระดูกเพศหญิง ราว 3,000 ปีมาแล้ว ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอยแบบตัว I และแบบแว่นกลม ราว 120,000 เม็ด แล้วยังมีแผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ, และเครื่องประดับศีรษะ เป็นต้น และเต็มไปด้วยดินเทศสีแดง

ผู้หญิงในไทยและอาเซียนยุคดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีสถานะและบทบาททางสังคมสูงกว่าผู้ชาย

โดยผู้หญิงเป็นหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เท่ากับเป็นใหญ่ในพิธีกรรม แล้วเป็นเจ้าของเครื่องมืองานช่างทุกอย่าง เช่น ตีหม้อ, ทอผ้า, ฯลฯ รวมทั้งช่างฟ้อน (รำ), ช่างขับ (ร้อง), ช่างปี่ (แคน), ฯลฯ ผู้ชายไม่มีสิทธิ์ทำสิ่งสำคัญอย่างนี้

เจ้าแม่โคกพนมดี ชื่อโครงกระดูกผู้หญิงที่เป็นหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ของชุมชนดึกดำบรรพ์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว บริเวณบ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

สิ่งที่แสดงสถานะและบทบาททางสังคมสูงกว่าผู้ชาย คือลูกปัดเปลือกหอยจำนวนมาก และเครื่องประดับสัญลักษณ์ผู้เป็นใหญ่ที่ฝังรวมกับโครงกระดูก

นักโบราณคดีสมมุติชื่อว่าเจ้าแม่โคกพนมดี เพราะเป็นกระดูกเพศหญิง ขุดพบที่บ้านโคกพนมดี และน่าจะเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ชายยุคนั้น

แม่ คือ ผู้เป็นใหญ่

แม่ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า (เมีย ก็น่าจะเลื่อนเสียงจากคำว่า แม่)

เป็นคำร่วมมีในเกือบทุกภาษาของคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ แล้วมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน

เมื่อจะเรียกสิ่งที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นสำคัญ จึงมีคำว่าแม่นำหน้า เช่น แม่น้ำ, แม่ทัพ, แม่เหล็ก, ฯลฯ

คำว่า แม่ พบในสมัยหลังเมื่อชุมชนเติบโตเป็นบ้านเมืองแล้ว อยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่ไม่พบหลักฐานว่า 3,000 ปีมาแล้ว เรียกผู้หญิงเป็นใหญ่ด้วยคำอะไร?

 

เนินสูงกลางทุ่งนา

บ้านโคกพนมดี บริเวณที่ขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่โคกพนมดี และโครงกระดูกอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เป็นเนินดินสูงประมาณ 12 เมตร จากพื้นที่นารอบๆ มีเนื้อที่ประทมาณ 30 ไร่

เนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นท้องนากว้างขวาง ไม่มีป่าดงไม้ใหญ่ จึงมองเห็นโคกพนมดีแต่ไกลๆ

ถือเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็น Landmark หลักหมายสำคัญมาแต่ดึกดำบรรพ์

โคก หมายถึง เนินดิน

พนม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ภูเขา

ดี เป็นภาษาเขมร อ่านว่า เด็ย แปลว่า ดิน

 

ที่ฝังศพตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์

บริเวณศักดิ์สิทธิ์โคกพนมดี แม้จะเป็นที่ฝังศพเจ้าแม่และศพอื่นๆ ทับซ้อนกันถึง 7 ยุคสมัย เป็นเวลายาวนานมาก

แต่ตรงนี้ไม่เหมือนป่าช้าหรือสุสานอย่างที่รู้จักและเข้าใจกันในปัจจุบัน ว่าเป็นพื้นที่แยกออกต่างหากจากหมู่บ้าน

เพราะ 3,000 ปีมาแล้ว บ้านเรือนกับที่ฝังศพตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์อยู่ปะปนบริเวณเดียวกัน เช่น ฝังศพใต้ถุนเรือน หรือฝังศพไว้ลานกลางบ้านอันเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมของชุมชน

เมื่อรับศาสนาจากอินเดียแล้ว ที่ฝังศพตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ บางแห่งจะเป็นที่สถาปนาเทวสถานหรือพุทธสถานต่อไป

มีกรณีตัวอย่างวัดชมชื่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขุดพบโครงกระดูก 2,000 ปีมาแล้ว หลายสิบโครง อยู่ใต้อาคารพุทธสถาน แล้วยังมีพบที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง

ผู้หญิงเผ่าละเวนในลาว มีลูกปัดประดับที่หู คอ แขน ฯลฯ ตามจารีตประเพณีดึกดำบรรพ์ของคนอุษาคเนย์ (ชาวยุโรปถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ.2453 / ค.ศ.1910) เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบถ้าเจ้าแม่โคกพนมดีมีชีวิตจะประดับลูกปัดมากกว่านี้หลายเท่า หรืออาจคลุมทั้งตัวตั้งแต่หัวถึงตีน