นิวบิ๊กป้อม เสื้อแจ๊กเก็ต-เสรีนิยม

ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน

 

นิวบิ๊กป้อม เสื้อแจ๊กเก็ต-เสรีนิยม

 

ในบรรดาผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังบุกตะลุยสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ ดูเหมือน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากคนหนึ่ง เพราะมีการปรับลุคทันสมัย ปรับแฟชั่น ปรับตัว ปรับท่าทีความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเป็นประเด็นให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

ภาพบิ๊กป้อมที่ปรากฏตามสื่อในวันนี้ ใส่แจ๊กเก็ตวัยรุ่น กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ เดินถนน นั่งร้านอาหารริมถนน

แถมยังปรับจุดยืนความคิดทางการเมืองแนวใหม่ผ่านเฟซบุ๊ก แม้จะเป็นคนเขียนเองหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการประกาศตัวตนใหม่ในนามของ พล.อ.ประวิตร

โดยวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดการเมืองแบบอนุรักษนิยม ยอมรับว่าตนเองก็เป็นคนที่เติบโตมาแบบนายทหาร แต่เมื่อได้ลงมาเล่นการเมือง ได้สัมผัสนักการเมืองต่างๆ ทำให้เริ่มเข้าใจแล้วว่า มีแต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของประเทศได้

ยืนยันว่า ในวันนี้ไม่เห็นด้วยกับระบบอำนาจนิยม ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ไม่ว่าจะมีคนเชื่อหรือไม่เชื่อ กับท่าทีใหม่ของ พล.อ.ประวิตรดังกล่าว

แต่ถึงที่สุดแล้ว เท่ากับ พล.อ.ประวิตรและทีมงานยอมรับแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภาพพจน์ของนายทหารเก่า อยู่ในกรอบล้าหลัง ไม่ใช่จุดขายได้อีกต่อไป

ที่สำคัญภาพเดิมๆ แบบนั้น ติดตรึงอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่อุดมด้วยนักการเมืองแนวขวาจัด อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็คืออดีตนายทหารอนุรักษนิยมสุดขั้ว

พล.อ.ประวิตรและทีมงาน คงเห็นว่า ความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องการประชาธิปไตยเสรี และผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศแบบเปลี่ยนแปลงไปจากยุค 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

จึงตัดสินใจเปลี่ยนโฉมเปลี่ยนท่าทีจุดยืนใหม่ หันมาหาเสรีประชาธิปไตย และเสนอตัวเป็นคนที่จะนำประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ขั้วดังกล่าว

ทำให้หลายคนต้องนึกถึงภาพที่ปรากฏกลางที่ประชุมสภา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น พล.อ.ประวิตรได้ลุกขึ้นชี้แจงตอบโต้ฝ่ายค้าน

ตอนหนึ่งกล่าวถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ยืนยันว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง พร้อมกับชี้มือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งข้างๆ ว่า นี่ครับคนปฏิวัติ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยิ้มรับอย่างภูมิใจ พร้อมกับยกมือชูขึ้น แสดงตัวตนตอบรับด้วย ทำนองว่า ใช่แล้ว ผมนี่แหละปฏิวัติเอง

วันนั้น พล.อ.ประวิตรอาจพูดเล่นๆ หรือแค่เล่นมุขเรียกเสียงฮา

แต่มาวันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้นำมาใช้ในการหาเสียงทางการเมือง ยืนยันว่าตนเองไม่เกี่ยวข้องและไม่เห็นด้วยกับวิธีรัฐประหาร!

 

ภาพที่ พล.อ.ประวิตรชี้มือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับบอกว่า คนนี้แหละที่ปฏิวัติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยิ้มรับชูมือหรา ภาพนั้นเหมือนนำมาฉายซ้ำ ผ่านการแสดงท่าทีทางการเมืองในห้วงหาเสียงเลือกตั้งของ พล.อ.ประวิตรที่ว่า มีแต่นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน และระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของประเทศ

ทำให้ตัวเองดูแตกต่างไปจาก พล.อ.ประยุทธ์

ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต่างไปจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ของรวมไทยสร้างชาติ มีภาพผู้นำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ก็เต็มไปด้วยแกนนำ กปปส. ที่เป่านกหวีดปูทางให้ทหารออกมายึดอำนาจ จึงนับได้ว่าเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองสุดขั้ว

ส่วน พล.อ.ประวิตรและพลังประชารัฐ ปรับโฉมเป็นพรรคการเมืองแนวเป็นกลาง พร้อมจะเป็นผู้นำประเทศก้าวพ้นความขัดแย้ง ที่สำคัญทำให้ภาพของพรรคนี้ สามารถจับมือกับขั้วฝ่ายประชาธิปไตยได้กลมกลืนมากขึ้น

ประการหนึ่ง เพราะพลังประชารัฐไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อีกแล้ว เป็นการลดประเด็นอุปสรรค หากฝ่ายประชาธิปไตยจะจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ประการต่อมา หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่นายทหารเก่าแข็งกร้าวดุดันวางอำนาจอีกแล้ว

แต่เป็นลุงป้อมลุคใหม่ทันสมัย เข้ากับโลกยุคใหม่ และมีความเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้งวิถีประชาธิปไตยอย่างเต็มปากเต็มคำ

เท่ากับว่า พล.อ.ประวิตรและพลังประชารัฐมองว่า ภาพใหม่แนวใหม่ จะได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น

ในขณะที่การจับกระแสแนวโน้มการเลือกตั้ง พบว่า พล.อ.ประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งแค่ในภาคใต้เป็นหลัก เพราะเป็นภาคที่มวลชนยังมีท่าทีหวาดกลัวพรรคการเมืองขั้วทักษิณ ชินวัตร รุนแรง

ส่วนภาคอื่นๆ กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

ถ้ารวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.ภาคอื่นเพิ่มเติม ก็ต้องเป็นเฉพาะกลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น เท่านั้น ที่น่าจะเหนียวแน่นในภาคตะวันออกและภาคกลางบางส่วน

แต่ขณะเดียวกัน เสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังดีในพื้นที่ภาคใต้ ก็ยังจะต้องแบ่งเค้กกันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังแข็งแกร่งในปักษ์ใต้ แถมมีภูมิใจไทย พลังประชารัฐบางส่วน และพรรคประชาชาติ ที่ยังเป็นตัวหารในภาคนี้อีกด้วย เอาเข้าจริงๆ ส.ส.ภาคใต้ก็ยังต้องหารกันอีกหลายพรรค

เมื่อกระแสของรวมไทยสร้างชาติและ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้พลังประชารัฐและ พล.อ.ประวิตร ยิ่งต้องสร้างความแตกต่างออกไปให้เห็น

 

แนวโน้มการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยการสำรวจล่าสุดพบว่าพรรคเพื่อไทยยังคงนำโด่ง ได้ ส.ส.เกินกว่า 200 ที่นั่งแน่นอน แต่ขณะเดียวกันเพื่อไทยยังเดินเครื่องขยายความนิยมให้เพิ่มขึ้นไปอีก โดยเริ่มเชื่อมั่นว่าจะได้เกิน 250 แล้วแน่ๆ

เพื่อทำให้เป้าหมายแลนด์สไลด์เป็นจริง เพื่อให้โอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เด็ดขาดมากขึ้น

ส่วนพรรคที่มาแรงเป็นอันดับ 2 คือ ภูมิใจไทย ที่น่าจะได้ ส.ส.เกิน 100 ขึ้นไป

แต่น่าคิดว่า การโดนมรสุมกระหน่ำรอบทิศ โดยเฉพาะการขุดคุ้ยของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากข้อกล่าวหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านว่าซุกหุ้น

รวมทั้งกำลังโดนขุดคุ้ยอีกหลายคดี แถมยังมีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จอมแฉ กำลังเปิดฉากถล่มหนัก

ทำให้แนวโน้มผลเลือกตั้งของภูมิใจไทยน่าจะเปลี่ยนแปลง แรงกระหน่ำจากรอบด้าน อาจทำให้จำนวน ส.ส.ที่จะได้เข้าสภาลดลงไป

ถ้าหากภูมิใจไทยซวนเซหนัก กระแสเริ่มลด อาจส่งผลให้จำนวน ส.ส.ไปเพิ่มที่เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ รวมทั้งพลังประชารัฐด้วย

เริ่มมีแนวโน้มว่า พลังประชารัฐอาจขยับขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 2 สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่กว่าจะถึงการเลือกตั้ง ก็ยังมีเวลาอีกราว 2 เดือน ยังต้องจับตาสถานการณ์กันต่อไป

ท่ามกลางสูตรจัดตั้งรัฐบาลที่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่สุดคือ เพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ

โดยพลังประชารัฐและบิ๊กป้อม กำลังปรับตัวแปลงโฉม เพื่อให้กลมกลืนกับฝ่ายประชาธิปไตยมากที่สุด!