‘งานใหญ่’ หลังเลือกตั้ง | ปราปต์ บุนปาน

แม้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจเป็นความหวังของใครหลายคนในสังคมไทย

แต่ก็มีเสียงเตือนออกมาไม่น้อยว่า การเลือกตั้ง 2566 คงมิได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ฉับพลันอย่างที่คนจำนวนมากคาดหวัง

ดังเช่นที่ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นักกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพเอาไว้ในงานแถลงข่าว “มติชน : เลือกตั้ง ’66 บทใหม่ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ว่า

“คนซึ่งยึดอำนาจเมื่อ 9 ปีที่แล้ว จะได้เป็นนายกฯ ต่อไหม? นี่คือจุดเปลี่ยน

“จุดเปลี่ยนจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อ ส.ว.ชุดนี้หมดวาระ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจในการเลือกองค์กรอิสระ และรวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะหมดไป พูดง่ายๆ คือ ผู้ยึดอำนาจที่สามารถรักษาอำนาจได้ คือผ่านองค์กรอิสระเหล่านี้และ ส.ว.

“ทั้ง ส.ว.ที่เลือกนายกฯ ได้ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. … สิ่งเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ตอนนั้น ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ ส.ว.ชุดนี้มาจาก คสช. มันก็เลยรักษาอำนาจได้

“ส.ว.ชุดนี้จะหมดวาระ 11 พฤษภาคม 2567 ก็แปลว่าการเลือกตั้งใดๆ ก็แล้วแต่ก่อนหน้า 11 พฤษภาคม 2567 ส.ว.ที่มาจาก คสช.เลือกไว้ จะยังคงมีอำนาจในการเลือกนายกฯ รวมถึงองค์กรอิสระด้วย

“ข้อสำคัญ คือ เลือกตั้ง 2566 ที่เราบอกว่าอยู่ที่ประชาชนว่าจะกำหนดอนาคตตนเองภายใต้การแข่งขันทางนโยบาย ผมว่าถูกครึ่งเดียว เผลอๆ ไม่ถึงครึ่ง เพราะพรรคแลนด์สไลด์ของจริง คือ ส.ว. 250 (คน) นอนมาแล้ว

“สำคัญแค่ว่า 2 ป.เขาแตกกันไหม? ความจริงผมก็ค่อนข้างเห็นด้วย (กับการวิเคราะห์ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า) โอกาสเนี่ยสูงมาก

“คือว่าง่ายๆ เลือกตั้งไปในระบอบประชาธิปไตย ผมเปรียบเทียบเหมือนกับทุกท่านเป็นประชาชน เราก็ประกาศทีโออาร์ไป รับสมัครทีมงานมาบริหารบ้านเมืองให้เรา แล้วมีเงินเดือนตามนี้ แล้วงบประมาณแผ่นดินมีปีหนึ่ง 3 ล้านล้านบาท มีทรัพยากรของประเทศอย่างนี้ มีทั้งคลื่นในอากาศ มีทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ ที่ดิน รับสมัครทีมงานมาบริหารประเทศไทย 4 ปี หรือจะยุบ (สภา) ก่อนก็ได้

“แล้วประชาชนก็ฟัง (การหาเสียง) ไป แต่ละพรรคก็ส่งทีมงานมา พร้อมนโยบาย ประชาชนชอบพรรคไหนก็เลือกพรรคนั้น ทีมนั้นมีเสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไป แต่ไอ้นี่มันไม่ใช่ไงตอนนี้ เพราะมันมี ส.ว.”

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ปัญญาชนอีกหนึ่งคนที่มองเห็นภาพคล้ายๆ กัน ก็คือ “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญซึ่งอาจารย์นิธิยังเห็นต่างจากอาจารย์ปริญญา ก็คือ เสียงของ ส.ว.นั้นอาจเป็นได้ทั้งพลังอนุรักษนิยมที่เหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง และเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับรุนแรงในคราวเดียวกัน

ดังที่นักประวัติศาสตร์อาวุโสท่านนี้เพิ่งให้สัมภาษณ์กับทางมติชนทีวีว่า

“คืออย่างนี้นะ เมื่อตอนที่คนรุ่นใหม่ออกมาชุมชนกัน แล้วเขาพูดกันว่ามันเป็นผลมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ จำได้ไหมครับ อนาคตใหม่มันเป็นที่น่ารักอะไรนักหนาถึงขนาดนั้น? ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องของอนาคตใหม่ แต่มันชี้ให้เห็นว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนประเทศนี้โดยสงบได้อีกแล้ว

“ถามว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนจริงๆ ได้ไหม? ผมว่าได้ แต่อย่าหวังนะ ว่ามันจะเปลี่ยนโดยสงบ ผมไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณเปลี่ยนระดับพื้นฐาน ระดับโครงสร้าง มันไม่สงบหรอก

“เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าคุณประยุทธ์ยังทำอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ สืบต่อไปเรื่อยๆ คืออย่างนี้ คุณประยุทธ์จะได้เป็นหรือไม่เป็น (นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า) ไม่ใช่แค่ 25 เสียงที่จะได้จากการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเดียว มันต้องบวกกับที่คุณประยุทธ์จะสามารถทำให้เสียง ส.ว.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่? ซึ่งผมไม่รู้ว่าทำได้หรือเปล่า

“ถ้าสมมุติทำได้ คุณเคาะกะลา ก็จะมีพรรคอื่นมาร่วมกับคุณเยอะแยะ ง่ายมาก ภาพมันก็จะเหมือนเก่าทุกอย่าง ในทรรศนะผม ในแง่หนึ่งก็ดีเหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงมันจะได้มาเร็วๆ ขึ้น…

“คือมันไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เสมอไป (ที่เป็นพลังผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย) แต่ไอ้ความเฟะฟอนของตัวระบบ ผมคิดว่าคนเริ่มเห็นมากขึ้นๆ ทุกที คือประเทศไทยเวลานี้คุณแตะห่าอะไรไม่ได้สักอย่าง แม่งพังหมด ถูกไหม? แตะอะไรไม่ได้สักเรื่อง”

พิเคราะห์จากความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งสองคนข้างต้น ดูเหมือนประชาชนไทยที่ใฝ่ฝันถึง “ระบอบประชาธิปไตยปกติ” จะยังมี “งานใหญ่” รออยู่ ภายหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม •