คนโทษ คำโบราณนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ญาดา อารัมภีร
คนพวงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ แห่งความหลัง) : ในสมัยโบราณนักโทษที่ทางการจ่ายออกมาทำงานนอกคุกจะถูกใส่พวงคอหรือร้อยด้วยโซ่ติดกันเป็นพวงๆ เพื่อสะดวกในการคุม ชาวบ้านเรียกนักโทษดังกล่าวว่า “คนพวง” คือเรียกตามลักษณะคนที่ถูกจองจำดังกล่าว

คนโทษ หรือนักโทษ เป็นบุคคลที่ถูกลงโทษจำคุก “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ ให้รายละเอียดว่า

นักโทษ, คือ อ้ายพวกคนชั่วทั้งปวงนั้น, เช่น พวกนักโทษในคุกนั้น.

ความผิดที่กระทำมีหลากหลายตั้งแต่ปล้นทรัพย์ ขโมยพาหนะ ขโมยสัตว์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่า ฯลฯ บางกรณีทำผิดรวมๆ กัน เช่น คนโทษในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

“อ้ายจันผัวอีจานบ้านกะเพรา โทษปล้นจีนเก๊าเผาโรงเจ๊ก
ยิงปืนปึงปังประดังโห่ แล้วเอาสันพร้าโต้ต่อยหัวเด็ก”

นี่คือหนึ่งในคนโทษ 35 คนที่ขุนแผนทูลขอสมเด็จพระพันวษาให้เป็นทหารอาสาไปทำศึกกับเมืองเชียงใหม่

“สิริคนโทษซึ่งโปรดมา ครบสามสิบห้าล้วนกล้าแข็ง
อยู่ยงคงกระพันทั้งฟันแทง เรี่ยวแรงทรหดอดทน
ทำกรรมต้องจำมาช้านาน สิ้นกรรมบันดาลจึงได้ผล”

 

ความผิดบางครั้งก็ร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ดังกรณีของไวยทัต นางคันธมาลี และยายเฒ่าทัศประสาท ในบทละครนอกเรื่อง “คาวี” พระคาวีตรัสแก่อำมาตย์น้อยใหญ่และบรรดาเสนาบดีว่า

“เราจับได้คนผิดคิดคด
คืออ้ายไวยทัตตัวดี กับนางคันธมาลีเป็นกบฏ
อีเฒ่าทัศประสาทชาติทรยศ โทษถึงตายหมดไม่ไว้มัน
จงจองจำขื่อคาพาตัว ตระเวนไปให้ทั่วเขตขัณฑ์
ทั้งทางเรือทางบกสักหกวัน แล้วพิฆาตฟาดฟันให้บรรลัย”

ก่อนประหารให้ประกาศประจานความชั่วของตัวเองต่อสาธารณะทั้งทางบกทางน้ำเป็นเวลา 6 วัน

“บัดนั้น เสนารับสั่งบังคมไหว้
ออกมาจัดกันทันใด เร่งไพร่ให้คุมคนโทษมา
จองจำพันธนาห้าประการ นครบาลถือดาบเดินหน้า
ให้ร้องตามโทษตัวที่ชั่วช้า เสนาตีฆ้องป่องป่องไป
ตระเวนทั้งเรือบกได้หกวัน แล้วพากันมาที่ท้ายกรุงใหญ่
เอาคนโทษผูกรัดมัดไว้ ฟาดฟันบรรลัยทั้งสามคน”

นอกจากคำว่า ‘คนโทษ’ กวียังใช้คำว่า ‘นักโทษ’ ดังที่นายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) พรรณนาถึงน้ำพระราชหฤทัยเมตตาของรัชกาลที่ 3 ไว้ใน “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า

“หนึ่งนักโทษโปรดปล่อยทั้งน้อยใหญ่ ที่โทษใหม่ภัยถึงตัดเกศี
ก็งดไว้ไม่ฆ่าด้วยปรานี ไว้เพียงที่จำจองไม่ต้องตาย”

 

วรรณคดีบางเรื่องใช้คำว่า ‘คนโทษ’ และ ‘นักโทษ’ ควบคู่กันไป ดังจะเห็นได้จากบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์ นางฟ้าที่ถูกพระอิศวรสาป นางเตือนสติฝ่ายชายว่า

“เจ้าจะมาแปดปนกับคนโทษ จะเอาผลประโยชน์ที่ตรงไหน
แม้นทราบถึงพระศุลีไซร้ จะพากันบรรลัยแหลกลง”

ส่วนตอนที่พระมงกุฎถูกจับกุมจองจำทำประจานนั้น พระอินทร์ส่งนางฟ้ารัมภามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที สุมันตันเสนาใช้คำว่า ‘นักโทษ’ ทูลพระรามว่า

“อันนักโทษที่ให้ไปประจาน นครบาลระวังนั่งกอง
มีหญิงหนึ่งตักน้ำมาให้ แล้วพากันหายไปทั้งสอง
เห็นแต่โซ่ตรวนที่จำจอง หลุดกองอยู่กับพื้นพสุธา
พวกผู้คุมทั้งหลายนายไพร่ แยกไปทุกตำบลค้นหา
ไม่ประสบพบพานกุมารา จงทราบใต้บาทาฝ่าธุลี”

 

‘คนโทษ’ เป็นคำโบราณที่สมัยอยุธยาก็มีใช้กันแล้ว และใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเหตุการณ์รัชกาลสมเด็จเจ้าฟ้าอภัย ดังนี้

“ฝ่ายทัพข้างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกลงมาทางฝาเขียวเข้าถอดเอาคนโทษในคุกไป”

เมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักโทษหรือคนโทษได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษ ดังที่ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงพระเจ้าเอกทัศน์ว่า

“…มีพระสิงหนาทราชโองการตรัสสั่งโปรดให้เลิกส่วยอากรสมพักศรแลขนอนตลาดแลค่าน้ำเชิงเรือนแลความเริศร้างค้างเก่าอย่าให้ว่าขานกัน แล้วให้ปล่อยคนโทษทั้งสี่คุกอันอยู่เรือนจำจองทั้งปวง มีรับสั่งให้ปล่อยทั้งสิ้นแล้ว” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ไม่ต่างจาก “จดหมายเหตุความทรงจำ” ของกรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 2 ว่า

“พระโองการให้ปล่อยสัตว์ครั้งนั้น เหมือนมนุษย์ได้เห็นสวรรค์ ทรงปล่อยมนุษย์ชายหญิงคนโทษไทยในคุกตะรางทิมโขลนทิมตำรวจ พระโองการโปรดปล่อยสิ้น”

คำว่า ‘คนโทษ’ ยังพบใน “ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4”

“161. ประกาศเรื่อง คนโทษหนีเข้าไปอาศัยในวังเจ้า หรือมีผู้แก้ไขให้ผู้คุมร้อง

(ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก)

ประกาศให้ส่งต่อๆ กันไปว่า บรรดาโรงศาลแลทิมแลคุก แลที่จำที่ขังคนโทษฤๅคนเป็นหนี้หลวงก็ดี ทุกหมู่ทุกกรมในพระบรมมหาราชวัง แลเจ้าหมู่นายหมวดบรรดาที่คุมเลกไพร่หลวงจ่ายเดือน หรือไพร่หลวงกองส่วนต่างๆ ในกรุงนอกกรุงก็ดีให้ทราบทั่วกันว่า กาลทุกวันนี้เจ้าเล็กนายน้อยก็มักมีที่เลื่องลือไป ดังได้ยินอยู่ด้วยกันกลุ้มๆ คนทั้งปวงก็มักถือตามคำคนมากกลัวเกรงตามไป เมื่อเป็นดังนี้คนโทษในทิมในคุกแลลูกความที่จะแพ้ในศาล แลตัวไพร่หลวงแลลูกหมู่ไพร่หลวงก็เชื่อถือดังนั้น ก็จะหลบหลีกหนีคุก หนีทิม หนีโรงศาล หนีหมู่ หนีกรมไปแอบแฝงฝากตัวอาศัยที่เจ้านายนั้นๆ ก็มักตื่นๆ รับเอาตัวไว้ง่ายๆ แลเป็นที่สำนักอาศัยของคนพวกนั้นมีมากหลายราย ฝ่ายผู้คุมขุนโรงขุนศาลก็ไปกริ่งเกรงกลัวเสีย ไม่ติดตามไปว่ากล่าวท้วงถามร่ำเรียนเพ็ดทูล พากันทำการให้เป็นเหตุให้คนพาลกำเริบทั้งไพร่ทั้งผู้ดี ตั้งแต่นี้ถ้าเกิดความขึ้นดังที่เป็นแล้วนี้ คือมีมาฉุดลากแย่งชิงคนโทษไปแต่ผู้คุม… ฯลฯ”

ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ถ้าภายใน 7 วัน เจ้าหน้าที่ไม่มีการกราบบังคมทูลให้ผู้คุมทำเรื่องราวร้องถวายฎีกา ปล่อยให้เนิ่นนาน หรือถ้าทรงทราบเรื่องนี้มาเองทางใดทางหนึ่ง ทรงกำหนดโทษชัดเจนว่า

“จะปรับไหมให้ผู้คุมแลตัวนายที่ทราบเรื่องความนั้นแล้วนิ่งเสียไม่กราบทูลพระกรุณานั้นให้ใช้แทน ถ้าเป็นลูกความให้ใช้ความท่านทั้งเรื่อง ถ้าเป็นหนี้หลวงให้ใช้หนี้หลวงจนครบ ถ้าเป็นไพร่หลวงให้ใช้ตัวไพร่หลวง เมื่อไม่มีตัวไพร่จะใช้ให้คิดเงินใช้ให้สามสิบตำลึงแทนไพร่หลวง เทอญฯ”

สภาพความเป็นอยู่ของคนโทษสมัยก่อนคือ นรกบนดิน

ฉบับหน้าอย่าพลาด •