“นาค” ทำไมถึงมีสีเกล็ดต่างกัน?

นาฯคฯ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นาก”

นาค หรือพญานาค เป็นอมนุษย์ที่มีอยู่ในความเชื่อในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภาพลักษณ์โดยรวมเป็นงูขนาดใหญ่ มีหงอนสีทอง ตาสีแดง เศียรหรือหัว มีตั้งแต่เศียรเดียว สามเศียร ห้าเศียร เจ็ดหรือเก้าเศียร ตามระดับชั้นตระกูล

กล่าวคือ นาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว ตระกูลสูงขึ้นไปจะมีสามเศียร ห้าเศียร และเก้าเศียร จนระดับสูงสุดจะมีเศียรถึงพันเศียร

มีเกล็ดคล้ายปลาซึ่งมีหลายสีตามสายตระกูล ได้แก่ สีทอง สีเขียว สีรุ้ง และสีดำ

การเกิดของนาคเกิดได้สี่แบบ คือ เกิดจากไข่ (อัณฑชโยนิ) เกิดจากครรภ์ (ชลาพุชโยนิ) เกิดจากเหงื่อไคล (สังเสทชโยนิ) และเกิดเป็นตัวเป็นตนด้วยผลแห่งกรรมโดยไม่ต้องมีพ่อแม่ (โอปปาติกะ)

เผ่าพงศ์วงศ์ตระกูลของนาคมีอยู่ ๔ ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลวิรูปักขนาคราช ตระกูลเอราปถนาคราช ตระกูลฉัพพยาปุตตนาคราช และตระกูลกัณหาโคตมทนาคราช

แต่ละตระกูลมีสีเกล็ดที่แตกต่างกันไป คือ ตระกูลวิรูปักขนาคราชมีเกล็ดสีทอง ตระกูลเอราปถนาคราชเกล็ดสีเขียว ตระกูลฉัพพยาปุตตนาคราชเกล็ดสีรุ้ง และตระกูลกัณหาโคตมทนาคราชมีเกล็ดเป็นสีดำ

ที่อยู่อาศัยของนาคมีภพภูมิอยู่ใต้บาดาลที่เรียก “นาคพิภพ” ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้แผ่นดินอย่างน้อย 1 โยชน์

ทั้งนี้ อาจอาศัยอยู่นอกเหนือจากนั้น เช่น แหล่งน้ำ อากาศและสรวงสวรรค์ ตามมโมทัศน์ของแต่ละความเชื่อ หรือลัทธิตามความเชื่อจะระบุ

 

อมนุษย์ประเภทนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งด้านการเนรมิตแปลงกายและการใช้พิษสง การแปลงกายโดยเฉพาะแปลงกายเป็นมนุษย์พญานาคสามารถแปลงกายมาใช้ชีวิตกับมนุษย์ได้

ยกเว้นเวลาเกิด เวลาตาย นอนหลับ ร่วมเพศ และเวลาลอกคราบ

ซึ่งการแปลงกายก็จะขึ้นอยู่กับประเภทของพญานาคอีก คือพญานาคประเภทหนึ่งแปลงกายได้เฉพาะบนบก เรียกว่า “ถลชะ” และพญานาคประเภทแปลงกายในน้ำที่เรียกว่า “ชลชะ”

ส่วนพิษสงนั้น พญานาคสามารถทำอันตรายผู้อื่นด้วยพิษถึง 64 ชนิด และมีการพ่นพิษตามกาลเวลา กล่าวคือ

ตามความเชื่อของล้านนาว่ามีพญานาคตนหนึ่งชื่อ “วิสสติ” มีผิวสีเข้มคราม ลำตัวยาวใหญ่กระหวัดรัดโลกไว้ พอถึงวันและเวลาตามกำหนดจะชูคอขึ้นพ่นพิษลงสู่พื้นโลก ทำให้เกิดผลร้ายบังเกิดแก่มนุษย์ที่ประกอบกิจกรรมในช่วงวันเวลานั้นๆ คือในวันขึ้น 4 ค่ำ และขึ้น 10 ค่ำ พญานาคพ่นพิษในเวลากลางคืน โบราณจึงห้ามแต่งงาน เพราะจะทำให้เกิดร้างรากัน

ในวันขึ้น 9 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ พญานาคจะพ่นพิษในเวลากลางวัน ห้ามทำการมงคล

วันแรม 3-4 ค่ำ และวันเดือนดับ พญานาคจะพ่นพิษในเวลากลางวันอีกครั้ง จึงไม่ควรสร้างบ้านใหม่ ไม่ควรออกเดินทาง ไม่ควรปลูกพืชผลเพราะจะเกิดความเสียหายตามมา

ด้านความเชื่ออื่นๆ ชาวล้านนาเชื่อว่านาคมีบทบาทด้านการรักษาแผ่นดิน และนาคเป็นผู้ให้น้ำหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์

ในการกระทำกิจกรรมใดๆ บนแผ่นดินจะต้องนึกถึงพญานาคด้วยการเซ่นสรวงบูชา หรือขอขมาตามพิธีกรรมและความเชื่อ

นาฯคฯในล้านฯนาฯ นาคในล้านนา

สําหรับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในพุทธตำนานกล่าวถึงนาคตนหนึ่งชื่อ “มุจลินท์” ขึ้นจากสระมาขนดกายรอบพระบัลลังก์ของพระพุทธเจ้า พร้อมแผ่พังพานเหนือเศียรพระพุทธองค์เพื่อคุ้มภัย ครั้งเมื่อทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่สระมุจลินท์หลังตรัสรู้ได้ 4 สัปดาห์

นอกจากนี้ ในแง่ของปรัชญานาคเป็นสิ่งเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ดังจะเห็นได้จากความเชื่อเรื่อง “บันไดนาค” ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหล่าเทวดาได้เนรมิตรบันไดแก้วมณีสีรุ้งโดยมีพญานาคสองตนเอาหลังหนุนบันไดไว้ในโอกาสนั้น

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าพญานาคเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังอำนาจตามคตินิยมของคนในแถบเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ตลอดถึงคนไทย

จึงเป็นเหตุให้ภาพของนาคปรากฏในรูปของศิลปกรรมทั้งในงานจิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม

โดยเฉพาะตามอาคารที่เป็นปราสาท ราชวังของสถาบันกษัตริย์ และศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นบันไดนาค นาคทัณฑ์ และสัตภัณฑ์ เป็นต้น

อย่างที่เราท่านพบเห็นกันโดยทั่วไป •

 

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่