เปิดร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับ ‘ส.ว.’ คิดดอก-จ่ายเบี้ยปรับ-ปลอดหนี้เพิ่ม

ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประธาน ซึ่งพิจารณารายละเอียดของเนื้อหาเสร็จเรียบร้อยไปแล้วในชั้น กมธ. และเสนอที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

จะได้ข้อสรุปอย่างไร…

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ กมธ.วุฒิสภาพิจารณา มีการแก้ไขเนื้อหาใน 8 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่อีก 1 มาตรา โดยแก้ไขความในวรรคสองของมาตรา 5 กำหนดให้ทุนการศึกษาเฉพาะนักเรียน หรือนักศึกษา สาขาวิชาที่ขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่อยู่ในร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ให้แก้ไขอัตรา “ดอกเบี้ย” ให้คิดได้ไม่เกิน 1% ต่อปี…

ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมต้องจ่าย “เบี้ยปรับ” ไม่เกิน 0.5% ต่อปี เว้นแต่คณะกรรมการจะยกเว้น หรือลดหย่อนให้…

จากเดิมที่ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ให้ปลอดดอกเบี้ย และไม่คิดค่าปรับ

นอกจากนี้ กมธ.ของวุฒิสภายังได้กำหนดเวลา “ปลอดหนี้” เพิ่มอีก 2 ปี กรณีมีเหตุจำเป็น และสมควร

ขณะที่มาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ เป็นการเพิ่มมาตรการให้ผู้กู้ยืมเงินช่วยเหลือให้มีงานทำ!!

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ.ในวาระแรก เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ภายหลังสภาพิจารณาเห็นชอบให้ปรับแก้เนื้อหาจากร่างที่ ครม.เสนอ โดยไม่คิดดอกเบี้ยกู้ยืม ไม่มีเบี้ยปรับจ่ายล่าช้า และไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี

จากปัจจุบันที่เก็บดอกเบี้ย ไม่เกิน 2% และเบี้ยปรับล่าช้า ไม่เกิน 1%

โดยมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 179 ต่อ 4 งดออกเสียง 4 และตั้ง กมธ.วิสามัญฯ 27 คน โดยแปรญัตติใน 7 วัน ก่อนพิจารณาในวาระ 2

การประชุมครั้งนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงหลักการของกองทุน กยศ. ว่าการที่สภาแก้ไขให้ปลอดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ อาจนำมาซึ่งปัญหาขาดวินัยการชำระหนี้เงินกู้ ส่งผลให้เกิดอันตรายทางศีลธรรม ขาดจิตสำนึกส่งคืนเงินกู้ และมีผลกระทบต่อการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เพราะขาดรายได้จากดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ทำให้กองทุน กยศ.อาจต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน และกระทบต่อการให้นักเรียนกู้ยืมเงิน ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 3 ปี อาจต้องของบฯ เพิ่มเติม

ส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ก็เพื่อสร้างโอกาสการศึกษา สร้างวินัยการเงิน รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศ!!

 

ขณะที่มี ส.ว.อภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่อภิปรายไปในแนวทางเดียวกัน อาทิ เห็นด้วยกับหลักการร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ช่วยเหลือนักศึกษาให้มีเงินกู้ยืมเรียน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีเบี้ยปรับ เพราะจะไม่มีใครคืนเงินกู้ยืม ทำให้กองทุน กยศ.ดำเนินการต่อไปไม่ได้ โดยเสนอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำแทนการไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีค่าปรับ

หรือการแก้ไขร่างกฎหมาย ควรยึดหลักการให้มีกองทุนเพื่อหมุนเวียนให้ผู้กู้รุ่นต่อไป เพราะหากไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ และไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี นอกจากนี้ ยังมีเวลาปลอดหนี้ทุกกรณี 2 ปี และมีผลย้อนหลังทุกกรณี จะทำให้มียอดไม่ชำระหนี้ กยศ.สูงขึ้นหลายเท่าตัวทันที

ส่วนที่ไม่มีผู้ค้ำประกันนั้น ถ้ากู้แล้วเรียนไม่จบ จะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทั้งที่เป็นการกู้ยืม ไม่ใช่เรียนฟรี ฉะนั้น จำเป็นต้องมีหลักประกัน แต่ควรมีข้อยกเว้นตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรถึงขั้นไม่มีการค้ำประกัน และถ้าไม่คิดดอกเบี้ย จะทำให้ผู้กู้ไม่คิดที่จะชดใช้ ขาดความรับผิดชอบและขาดจิตสำนึก

เพราะแค่สภาเห็นชอบให้ปรับแก้เนื้อหา โดยไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับจ่ายล่าช้า และไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี ตัวเลขไม่จ่ายหนี้ กยศ.ก็พุ่งเป็น 26% ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้เงินทุนหมุนเวียนในกองทุน กยศ.ปีละ 4 หมื่นล้านบาท หายไป 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี และภายใน 2-3 ปี เงินกองทุน กยศ.จะหมดลง

อย่างไรก็ตาม มี ส.ว.บางคนสนับสนุนเนื้อหาตามที่สภาแก้ไข เพราะมองว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่การให้กู้ยืมเงิน โดยเห็นว่าการออกกฎหมาย กยศ.เป็นความผิดตั้งแต่ต้น เพราะต้องจัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชน!!

 

แต่หากย้อนกลับไปดูการประชุมสภาเมื่อกลางเดือนกันยายน ในมาตรา 17 การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ.เสียงข้างมาก ให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ร้อยละ 0.25 โดยที่ประชุมได้ลงมติแยกเป็นกลุ่ม ระหว่างกลุ่มเก็บดอกเบี้ย กับกลุ่มไม่เก็บดอกเบี้ย และมีมติเห็นด้วยกับการไม่เก็บดอกเบี้ย ด้วยคะแนน 218 ต่อ 109 งดออกเสียง 53 ไม่ออกเสียง 1 เสียง

โดย ส.ส.ที่โหวตเห็นด้วยกับการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ส.ภูมิใจไทย ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่งดออกเสียง ส่วนพรรคที่โหวตไม่เห็นด้วยคือ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งหลังจากที่ประชุมพิจารณาครบ 27 มาตราแล้ว ได้ลงมติวาระ 3 เห็นด้วย 314 ไม่เห็นด้วย 3 งดออกเสียง 2 ไม่ลงมติ 2 และเห็นชอบกับข้อสังเกตตามที่ กมธ.เสนอ

รวมถึงมาตรา 24 ที่ กมธ.แก้ไขเพื่อกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้มีผลย้อนหลังกับผู้กู้ยืม และคนค้ำประกัน ที่ทำสัญญากู้ยืมก่อนที่ร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้

จะมีผู้ที่ได้รับอานิสงส์จำนวนมากหากร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับนี้ ผ่านทั้ง 2 สภา

ซึ่งภายหลังสภาโหวตให้ปรับแก้เนื้อหาจากร่างที่ ครม.เสนอ โดยไม่คิดดอกเบี้ยกู้ยืม ไม่มีเบี้ยปรับจ่ายล่าช้า และไม่มีผู้ค้ำประกัน ทำให้ผู้กู้ส่วนหนึ่ง ชะลอจ่ายหนี้เงินกู้ กยศ.โดยมีผู้ชำระหนี้วันละ 10 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมชำระหนี้ถึง 50 ล้านบาทต่อวัน

ในส่วนที่กองทุน กยศ.หักจากบัญชีลูกจ้างนั้น ไม่มีปัญหา แต่เห็นได้ชัดเจนในส่วนที่จ่ายหนี้ด้วยตัวเอง

ทำให้ทรัพย์สินที่ กยศ.มีอยู่ในปัจจุบัน 3.7 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท และได้รับชำระหนี้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้เป็นเบี้ยปรับ และดอกเบี้ย ถึงปีละ 6 พันล้านบาท

หากผู้กู้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และค่าเบี้ยปรับจ่ายล่าช้าแล้ว ก็คาดการณ์กันว่าในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า กองทุน กยศ.คงต้องขอใช้งบประมาณแผ่นดินมาสมทบเพิ่ม

จากเดิมที่กองทุนสามารถบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ได้เอง โดยไม่ต้องของบฯ มาหลายปีแล้ว!!

 

ฉะนั้น ถ้า ส.ว.แก้ไขรายละเอียดของร่างกฎหมายที่ผ่านสภา จากไม่คิดดอกเบี้ย เป็นคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 1% ต่อปี และผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ ต้องจ่ายเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี รวมถึง กำหนดเวลาปลอดหนี้เพิ่มอีก 2 ปี กรณีมีเหตุจำเป็น และสมควร ตามที่ กมธ.วุฒิสภาเสนอ

ขั้นตอนต่อไป ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ.กยศ.ย้อนกลับไปที่สภาอีกครั้ง เพื่อตั้ง กมธ.ร่วม 2 ฝ่าย ขึ้นมาปรับแก้กฎหมายร่วมกัน ก่อนที่จะส่งร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ปรับแก้เนื้อหาแล้ว กลับไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ต้องยืดเวลาออกไป!! •