Mob Type : ศิลปะแห่งการต่อต้านของประชาชน ผ่านการออกแบบฟอนต์หลังรัฐประหาร 57 | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Mob Type

: ศิลปะแห่งการต่อต้านของประชาชน

ผ่านการออกแบบฟอนต์หลังรัฐประหาร 57

 

“…ผมริเริ่มทำฟอนต์นี้ตอนช่วงปี 2557 เขียนสดๆ ลงแผ่นลองบอร์ดด้วยลิควิด เป็นประโยคเสียดสีสังคมที่ผมไม่อยากให้ใครอ่านมันได้ง่าย เป็นความรู้สึกอัดอั้นอยากระบาย แต่เสือกกลัวคนจะอ่านออก ผมเขียนโดยมีกรอบว่าจะใช้แต่เส้นตรงให้มันเหมือนเป็นการกรีดตัวเองด้วยมีดให้เป็นคำ…ผมภูมิใจและรู้สึกเมามันที่เห็นคนใช้มัน จนผมไม่สนว่าใครจะรู้ว่าผมเป็นคนริเริ่มสร้างมัน ผมอยากให้มันแพร่ระบาดเติบโตไปตามธรรมชาติของมัน ให้มันมีฐานะเป็นสมบัติของมวลชน เป็นสัญลักษณ์ เป็นภาษาของผู้ถูกกดขี่…”

ข้อความข้างต้นคือบันทึกของคุณพึ่งบุญ ใจเย็น ที่มีต่อฟอนต์เขียนมือของตัวเองที่เขียนลงบนป้ายประท้วงเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจมาสู่การออกแบบฟอนต์ที่รู้จักกันในชื่อ FC Rebel ซึ่งเป็นฟอนต์รูปแบบหนึ่ง (ในหลายแบบ) ที่ถูกใช้ในการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีมานี้

บันทึกดังกล่าวอยู่ในหนังสือชื่อ “Mob Type บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร” ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เขียนโดยประชาธิปไทป์ ร่วมกับ Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต

Mob Type เป็นหนังสือขนาดกะทัดรัด ออกแบบอย่างสวยงาม อ่านเพลินจบได้ในรวดเดียว ที่สำคัญคือ เนื้อหาน่าสนใจมาก มากกว่าที่คาดคิดไว้ในตอนแรก

อ่านจบทำให้ผมนึกถึงงานเขียนของคุณประชา สุวีรานนท์ ผู้บุกเบิกการศึกษาและอธิบายงานออกแบบฟอนต์ของไทยขึ้นมาทันที ที่ทำให้นึกถึง มิใช่เพราะ Mob Type มีวิธีการศึกษา วิเคราะห์ หรือลีลาสำนวนแบบเดียวกับคุณประชานะครับ ในส่วนนี้จริงๆ แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

แต่ที่ทำให้นึกถึง คือเป้าหมายที่คล้ายกันในการอธิบายฟอนต์ต่างๆ ที่มิใช่มุ่งเน้นลงไปที่มิติในด้านประโยชน์ใช้สอยและความหมายในระดับพื้นฐาน แต่กลับลงลึกไปถึงนัยยะแฝงที่ฟอนต์แต่ละแบบสามารถสื่อความหมายออกมาได้ ทั้งในแง่ของอารมณ์ ความรู้สึก ไปจนถึงอุดมการณ์

แน่นอน การศึกษาในแนวทางนี้ในต่างประเทศอาจจะมีอยู่มาก แต่ในสังคมไทย งานเขียนที่พูดถึงการออกแบบฟอนต์ในลักษณะนี้ (โดยเฉพาะงานที่มีคุณภาพ) ต้องถือว่าแทบไม่มีให้เห็นมากนัก ซึ่ง Mob Type เป็นหนึ่งในนั้น

เนื้อหาประกอบไปด้วยตัวอย่างฟอนต์มากเกือบ 20 แบบที่เข้ามามีบทบาทในการต่อสู้ทาง การเมืองของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (น่าเสียดายนิดหน่อยที่หนังสือไม่ได้นำฟอนต์ sov_rajadamnern มารวมอยู่ด้วย) โดยฟอนต์ทั้งหมดที่ปรากฏในเล่ม ผู้เขียนได้ทำการบ้านมาอย่างดีในการสืบค้นประวัติ ที่มา และความคิดเบื้องหลังการออกแบบ ไปจนถึงการนำไปใช้ในลักษณะต่างๆ

หลายฟอนต์แม้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยผ่านตากันบ่อยครั้ง เช่น “คณะราษฎร” “หัวหาย” “33712” และ “FC Rebel”

แต่หลายคนคงไม่คิดว่าแต่ละฟอนต์จะมีที่มาและเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นนี้

 

สิ่งที่มองเห็นได้ชัดจากการอ่าน Mob Type คือ ฟอนต์ทั้งหมด (ยกเว้นฟอนต์ที่ยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศ) ที่ถูกรวบรวมไว้ในเล่ม เป็นฟอนต์ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา

ดังนั้น จึงไม่เกินไปนักหากจะบอกว่า Mob Type คือหนังสือเล่มแรกที่พยายามรวบรวมและวิเคราะห์งานออกแบบฟอนต์ที่ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในประเทศไทยในยุคหลังรัฐประหาร 2557

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปรากฏการณ์การชุมนุมใหญ่ของคนรุ่นใหม่หลายครั้งในช่วงระหว่าง พ.ศ.2563-2564

ที่น่าสนใจคือ เมื่อนำฟอนต์หลายๆ แบบมาตีพิมพ์รวมกันไว้ในเล่มเดียว ทำให้ผมจับความหมายและอารมณ์ร่วมกันของฟอนต์กลุ่มนี้ได้อย่างหนึ่งว่า ล้วนเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของ การต่อต้าน การเสียดสี ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ และความโกรธแค้น ต่อบรรยากาศทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ที่นับวันจะเป็นเผด็จการอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

บันทึกความรู้สึกเบื้องหลังฟอนต์ของคุณพึ่งบุญ ใจเย็น ที่ยกมาข้างต้นคือตัวอย่างแรกที่ชัดเจน

 

ฟอนต์ “หัวหาย” เป็นอีกหนึ่งฟอนต์ที่น่าสนใจ และโดยส่วนตัวชอบฟอนต์นี้มากที่สุด

ตัวมันถูกออกแบบขึ้นจากความคับแค้นใจต่อเหตุการณ์ในเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ที่ iLaw ทำการรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเวลาไม่นานก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้มากกว่าแสนชื่อ แต่ความพยายามทั้งหมดกลับถูกปัดตกทิ้งไปอย่างง่ายๆ โดย ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การออกแบบฟอนต์ “หัวหาย” โดยผู้ออกแบบเลือกใช้ฟอนต์ TH Sarabun New ซึ่งเป็นฟอนต์ที่นิยมใช้ในเอกสารราชการของไทย (เพื่อสื่อนัยยะของการเป็นตัวแทนระบบราชการอำนาจนิยม?) โดยนำมาตัดส่วนที่เป็นหัวกลมออกทั้งหมด

เพื่อสื่อความหมายของการ “ไม่เห็นหัวประชาชน”

 

ส่วนฟอนต์ “คณะราษฎร” (ถูกปล่อยออกมาในช่วงราวปี พ.ศ.2563) ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นฟอนต์ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่เพียงถูกนำไปใช้ในการเขียนป้ายประท้วงในม็อบหลากหลายครั้ง แต่ยังถูกนำไปใช้ในการออกแบบปกหนังสือและสิ่งของอีกหลายอย่างจนถึงปัจจุบัน

ที่มาก็เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ เพราะถูกสร้างขึ้นจากฟอนต์ที่ปรากฏอยู่บน “หมุดคณะราษฎร” (หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ) ที่ถูกทำให้สูญหายอย่างไร้ร่องรอยเมื่อ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามลบความทรงจำคณะราษฎรที่กำลังกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่

ดังนั้น นัยยะสำคัญของการสร้างฟอนต์คณะราษฎรจึงเป็นปฏิบัติการทางการเมืองผ่านการออกแบบฟอนต์เพื่อตอบโต้และต่อต้านความพยายามลบความทรงจำคณะราษฎร ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ณ ช่วงเวลานั้น ดังที่หนังสือ Mob Type อธิบายว่า

“…นักออกแบบนิรนามผู้ออกแบบฟอนต์ชุดนี้ ไม่ขอรับเครดิตใดๆ ทั้งสิ้น มีเจตนาเพียงว่า ขอมอบฟอนต์คณะราษฎรนี้ ให้เป็นสมบัติของประชาชน เหมือนดังที่คณะราษฎรปักหมุดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อมอบอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชนทุกคน และเพื่อให้เป็นสิ่งที่ระลึกว่า แม้ตัวหมุดคณะราษฎรดั้งเดิมจะหายไป แต่ ‘จิตวิญญาณ’ ของมันจะยังคงอยู่…”

 

อีกหนึ่งฟอนต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย และเป็นอีกหนึ่งแบบที่ชอบมาก คือ ฟอนต์ที่ถูกใช้ในกลุ่มม็อบตระกูล “ทะลุ…” ทั้งหลาย เช่น ทะลุฟ้า, ทะลุแก๊ซ, ทะลุวัง ฯลฯ

ฟอนต์นี้เริ่มต้นมาจากกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 โดยในการเดินครั้งนั้นมีธงสัญลักษณ์สีแดงขาว ที่มีตัวอักษรเขียนว่า “เดินทะลุฟ้า”

Mob Type อธิบายว่า ฟอนต์นี้ถูกออกแบบจัดวางในแนวเฉียง เส้นสายและการจัดวางตัวอักษรให้ความรู้สึกถึงการแผดเสียงร้องตะโกน ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ผมคล้อยตาม และอยากคิดเองต่อไปอีกด้วยว่า มันสื่อนัยยะเสมือนดั่งเป็นการร้องตะโกนของประชาชนที่อึดอัดคับข้องใจในสภาพบ้านเมืองที่ไม่มีประชาธิปไตย

ที่ชอบเป็นการส่วนตัว เพราะมันแสดงให้เราเห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยได้ดี และสวยงาม (ตามรสนิยมส่วนตัวของผมนะครับ) ในขณะที่ฟอนต์ FC Rebel แม้จะสื่ออารมณ์ในท่วงทำนองแบบเดียวกันได้ดีเช่นกัน แต่ค่อนข้างอ่านยากไปหน่อย

 

Mob Type ไม่เพียงนำเสนอการออกแบบฟ้อนต์ในกลุ่มที่ทำหน้าที่เรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้นนะครับ แต่ยังพูดถึงการสร้างฟ้อนต์ในกลุ่มอนุรักษนิยมและอำนาจนิยม เพื่อมาต่อสู้กันในสนามการเมืองว่าด้วยการออกแบบฟอนต์อีกด้วย

แต่เนื้อหาในส่วนนี้มีน้อยไปนิด ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก และจะเป็นเนื้อหาที่ทำให้มิติของการต่อสู้ทางการเมืองผ่านฟอนต์มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย

ซึ่งก็พอเข้าใจได้นะครับ ว่าอาจเป็นเพราะเป้าหมายหลักของผู้เขียนที่อาจต้องการเน้นนำเสนอฟอนต์ฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐ จึงทำให้การนำเสนอภาพ “สงครามระหว่างฟอนต์” ที่ต่อต้านรัฐกับสนับสนุนรัฐ ไม่ถูกแสดงในหนังสือให้เราเห็นมากนัก

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว Mob Type เป็นหนังสือควรอ่านอีกเล่มสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นว่าด้วย “ศิลปะแห่งการต่อต้าน” ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองให้เราเห็นว่า การออกแบบฟอนต์คือศิลปะรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำหน้าที่สื่อสารนัยยะทางการเมืองและเป็นหนึ่งในเครื่องมือต่อต้านของประชาชนต่ออำนาจที่กดขี่เราอยู่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากงานศิลปะในรูปแบบอื่น

ใต้ภาพ

หนังสือ Mob Type บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร

ที่มาภาพ : เพจ PrachathipaType