‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา’ จ่อจัดใหญ่ทั่วไทยครั้งแรก 4 ภาค ไต้หวันเอาด้วย แง้มประเดิมโรดแมป ม็อบราษฎร

จ่อจัดใหญ่ทั่วไทยครั้งแรก 4 ภาค ไต้หวันเอาด้วย ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา’ สื่อ-พยาน รอพาทัวร์จุดเกิดเหตุ แง้มประเดิม ‘เปิดโรดแมป’ ม็อบราษฎร

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เมื่อเวลา 12.30 น. ที่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา ร่วมแถลงข่าวถึงรายละเอียดของการจัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นายศรัณย์ สัชชานนท์ หนึ่งในคณะผู้จัด กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแถลงข่าวรอบที่ 2 ของคณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา โดยนักศึกษาและกลุ่มพันธมิตร ครั้งนี้เป็นการแถลงเพื่อเน้นย้ำประสงค์และลงรายละเอียดงานว่า วัตถุประสงค์รูปแบบงานต่างๆ รวมถึงเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง

ด้าน น.ส.สุกัลยา หลักแหล่ง หนึ่งในคณะผู้จัดงาน กล่าวเสริมว่า สำหรับกำหนดการ ทางมหาวิทยาลัยจะดูแล และจะมีการกล่าวเปิดงาน รวมทั้งมีการกล่าวรำลึก และยืนไว้อาลัย โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นจะเป็นการมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ ให้กับ ด.ช.วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ที่ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ16สิงหาคมไล่ล่าทรราช เราจะเดินไปบ้านประยุทธ์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมอบรางวัลกวางจู

จากนั้น เวลา 10.30 น. จะย้ายไปในหอประชุม มีเสวนาเรื่อง “ความหวังที่ยังไม่ตาย อุดมการณ์ของนิสิตนักศึกษาในแต่ละยุค” นำโดย นายสุธรรม แสงประทุม อดีต ส.ส.หลายสมัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และนายชานันท์ ยอดหงษ์ หรือปกป้อง ผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ และ ‘หลังบ้านคณะราษฎร’ ดำเนินการโดย นายนชาท เหล่าพานิช

น.ส.สุกัลยากล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจะมีการฉายหนัง “หลากความคิดผิดถึงตาย” และเสวนาเรื่อง “เ(สื่อ)ม สั่ง ตาย” เราตั้งใจในมุมมองของสื่อ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเชิญวิทยากรที่เป็นนักศึกษายุค 6 ตุลา ซึ่งออกมาทำงานสื่อ และสื่อที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และสื่อปัจจุบัน อย่าง น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ว่าได้รับแรงกดดันอะไรมาบ้าง ส่วนสื่อในเหตุการณ์นั้น ชื่อ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, ปนัดดา เลิศล้ำอําไพ, ชนายุส ตินารักษ์ และดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

“ส่วนด้านนอก จะมี Walking tour และ Human Library โดยคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงมาเล่าถึงเหตุการณ์ พาชมสถานที่จริง และหลังจากนั้นเวลา 16.30 น. จะมี October to remember เป็นการล้อมวงเหล้าโดยคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา และร่วมรับสมัครคนที่จะมาร่วมถกถาม ถกเถียงกัน

หลังจากนั้นในเวลา 18.30 น. จะมีการจุดเทียนพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค ของหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ” น.ส.สุกัลยาระบุ

ขณะที่ นายฐิรวัฒน์ แทบทัพ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รายละเอียดกำหนดการในแต่ละมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เราคุยกันว่าเราจะใช้ชื่อ “เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา” เพื่อให้งานนี้ไม่ใช่แค่ของคนในกรุงเทพฯ หรือเป็นงานแค่ในรั้วธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่จะทำให้งานนี้ไปยังจุดต่างๆ ในประเทศ โดยเริ่มจากภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างจุดแรกภายในกรุงเทพฯ เป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะมีนิทรรศการตั้งแต่ 17.30-20.00 น. เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเหมือนกับในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นี้ด้วย

และสถานที่ที่ 2 ทางเหนือ จะเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จัดงานรำลึก 6 ตุลาเช่นเดียวกัน สถานที่ที่ 3 คือ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่อาคารอเนกประสงค์ชั้น 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี และสถานที่ที่ 4 คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก็จะมีงานรำลึกเช่นเดียวกัน

นายฐิรวัฒน์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ อีกจุดหนึ่ง จะมีกลุ่ม October to Remember จัดงาน “6 ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป” ที่ลานคนเมือง และในวันที่ 9 ตุลาคมปีนี้ จะมีกลุ่มพันธมิตรชานม ที่ประเทศไต้หวัน จัดงานรำลึก 6 ตุลา ที่กรุงไทเป ปีนี้เป็นปีแรกที่เราได้จัดงานรำลึก 6 ตุลาทั่วประเทศ และไปสู่ต่างประเทศ อย่างประเทศไต้หวัน

นายรัชศักดิ์ คมกฤส หนึ่งในคณะผู้จัด กล่าวว่า งาน 6 ตุลาปีนี้ไม่อยากให้เป็นการย้อนอดีตรำลึกเพียงอย่างเดียว ในปีนี้จะสื่อไปถึงการเคลื่อนไหวในปัจจุบันและอนาคตด้วย ประเด็นที่เคลื่อนไหวกันในสังคมที่เป็นเรื่องใหญ่คือ มาตรา 112 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และประเด็น 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“งาน 6 ตุลาไม่ใช่เพียงการรำลึกวีรชนในอดีตอย่างเดียว แต่ก็ยังมีนักเคลื่อนไหว เพื่อนเราปัจจุบันที่ยังต่อสู้อยู่ มีบางคนอยู่ในคุกด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของการจัดงาน 6 ตุลาด้วย” นายรัชศักดิ์ระบุ

ด้าน ลาดู ทะลุฟ้า กล่าวว่า พวกเราทางกลุ่มทะฟ้าและเครือข่ายราษฎร จะมาร่วมในกิจกรรมรำลึก 6 ตุลาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ด้วย ซึ่งเราจะมาร่วมในวันนั้นเพื่อแถลงการณ์ถึงโรดแมป ซึ่งเป็นแนวทางของราษฎร ว่าพวกเราจะเคลื่อนไหวในรูปแบบไหนต่อไป เพื่อสานต่ออุดมการณ์ที่เรารำลึกในวันที่ 6 ตุลาคม

“เราเชื่อว่าการต่อสู้ยังไม่ตาย และเราจะพานำไปสู่ความหวังและปลายทาง” ลาดูกล่าว

 

 

    

ศรัณย์ กล่าวถึงการจัดงาน 46 ปี 6 ตุลา ว่า มีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อให้ทุกคนเห็นสแลนที่ปิดรอบสนาม โดยมีการกล่าวอ้างว่าจะปรับปรุงพื้นที่ ไถหน้าดินใหม่ ซึ่งตามความเข้าใจของตนเป็นเรื่องปกติที่สิ่งของใดๆ ชำรุดหรือว่าต้องได้รับการปรับปรุง ก็ควรจะปรับปรุง แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมต้องเป็นช่วงเดือนตุลาคม ที่มีเหตุการณ์สำคัญที่นักศึกษาและประชาชนจะใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรำลึก ควรจะได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการถ่ายทอดเรื่องราว ในการแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม สนามบอลตรงนี้เกิดอะไรขึ้น

“มีกี่คนที่ถูกฆ่าตายอย่างไม่เป็นธรรม ตอนนั้น รัฐเผด็จการทรราช ใช้อำนาจแบบไหนในการกดขี่ข่มเหงคนกลางสนามบอลแห่งนี้ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงออกถึงสิ่งนี้ได้อย่างชัดเจน

แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไมถึงถูกกั้นไม่ให้ใช้พื้นที่ นี่เป็นข้อสังเกตที่อยากตั้งคำถามถึงมหาวิทยาลัย และฝากพี่น้องประชาชนในการตั้งคำถามร่วมกันด้วย” นายศรัณย์กล่าว และว่า

“เมื่อปีที่แล้ว ที่ลานประติมากรรมก็ถูกกั้นเหมือนกัน เราแก้ปัญหาด้วยการใช้กรรไกรตัดสแลนและเข้าไปใช้พื้นที่ แต่ปีนี้ราจะพิจารณาถึงความจำเป็น ซึ่งความจริงแล้วจำเป็นมาก เราจะพิจารณาอีกครั้งว่าในวันจริงเราจะถือกรรไกรคนละกี่ด้าม” นายศรัณย์กล่าว