ไปเต๊อะไปแอ่วเมืองเจียงฮาย / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ไปเต๊อะไปแอ่วเมืองเจียงฮาย

 

ระหว่างศุกร์ 2 – อาทิตย์ 4 กันยายนที่ผ่านมาไปร่วมเยือนเรือนเหย้าร่มเย็นเป็นสุขที่หย่อมย่านเชียงรายเหนือสุดสยามกับคณะ สว.

ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ด้านศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม

ครบสามด้าน สามฐานที่ย่านเชียงรายนี่เลย

 

ด้านศาสนาไปที่วัดพระแก้วเป็นหลักด้วยเคยเป็นที่สถิตประทับขององค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตมาแต่เดิม ก่อนจะอัญเชิญไปเป็นองค์ปูชนียบูชายังหลากหลายภูมิสถานพื้นถิ่น กระทั่งสุดท้ายได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังอุโบสถวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ตราบปัจจุบันนี้

ปัจจุบันวัดพระแก้ว เชียงราย มีองค์พระปฏิมาคือพระเจ้าล้านทอง สถิตเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถ พร้อมมีพิพิธภัณฑ์ “โฮงหลวงแสงแก้ว” อยู่ในวัดให้คนได้เยี่ยมชมหาความรู้เรื่องราวแต่อดีตหนหลังอย่างน่าสนใจ

ที่จริงเรื่องราวของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้นในเชียงรายมีหลากหลายพร้อมให้เยี่ยมชมและสักการบูชา อันแสดงถึงทั้งศรัทธาและปัญญาไปพร้อมกัน เช่น วัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้น วัดห้วยปลากั้ง ที่โดดเด่นทางปฏิมากรรม คือวัดร่องขุ่น ออกแบบโดยศิลปินเอกคือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นสีขาวล้วน ส่งอิทธิพลสู่วัดร่องเสือเต้น ออกแบบโดยศิลปินพุทธา กาบแก้ว หรือสล่านก เป็นสีน้ำเงิน ส่วนวัดห้วยปลากั้งนั้นมีปฏิมากรรมเจ้าแม่กวนอิมสีขาวตระหง่านเทียมฟ้าอยู่บนเนินดอย พร้อมสถูปเจดีย์แบบจีนและพระอุโบสถแบบไทย

ทั้งสามวัดนี้โดดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเชียงรายไม่ขาดสาย ด้วยลักษณะศิลปะอันอลังการที่ชวนให้เชิดชูและชื่นชม

ศักดิ์สิทธิ์อีกวัดคือ วัดพระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย สถิตบนดอยสูง ฝากเรื่องราวแต่อดีตสร้างเมืองเชียงรายซึ่งล้วนหลากเรื่องเล่าของเผ่าชนน่าภูมิใจยิ่ง

ท่าน ว.วชิรเมธี พระผู้เป็น “เมธีธรรม” รูปสำคัญ ท่านก็สำนักอยู่ ณ ไร่เชิญตะวัน เป็นดั่งมหาวิชาลัยชุมชนที่มีผู้ศรัทธาไปมามิได้ขาดด้วยธรรมเสวนาของพระผู้เป็นปราชญ์ทางธรรมรูปสำคัญของไทย

 

ศิลปินเอกผู้ล่วงลับหากฝากชื่อลือลั่นเป็นอมตะคือ ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างอนุสรณ์ศิลปะสถานบ้านดำ ถือเป็นผู้นำเหล่าศิลปินเชียงราย กระทั่งร่วมใจกันสร้างเสมือนสถาบันศิลปะแห่งเชียงราย ดังชื่อ “ขัวศิลปะ” คือสะพานเชื่อมศิลปะ ซึ่งเป็นศูนย์รวมทั้งงานศิลปะจัดแสดงและแหล่งกิจกรรมของศิลปิน ณ ปัจจุบันอันจะพัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคตก็ใกล้จะปรากฏเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน

ด้วยพลังของเหล่าศิลปินเอกแห่งเชียงรายโดยแท้

ศิลปิน ขัวศิลปะ

จรัสแสง แห่งดาวเหนือ

ส่องทาง สว่างเพื่อ

สร้างโลกสวย ด้วยงานศิลป์ ฯ

เชียงรายสมควรจะเป็นเมืองหลวงของงานศิลปะได้จริง

 

ศิลปะ คืองานสร้างสรรค์อันเกิดจากการทำงานทั้งฝีมือและจิตวิญญาณ หรืออีกนัยหนึ่งศิลปะคือการบอกเล่าหรือเล่าเรื่องอย่างมีเสน่ห์และชีวิตชีวาโดยมีความจริงเป็นพื้นฐาน

ซึ่งเชียงรายมีความพร้อม มีต้นฉบับอยู่เพียบพร้อม ทั้งสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ทั้งฟ้าสวยและดอยสาว

พร้อมแหล่งบ้านย่านตำบลดังได้เยือนอีกสองแหล่งคือ บ้านสันทางหลวง ชุมชนชาวไทยยองได้มาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่นี่เมื่อกว่าสองร้อยปีแล้ว ถิ่นฐานเดิมของ “เมืองยอง” อยู่ที่เชียงตุงในรัฐฉานของพม่า สืบเชื้อสายชาติพันธุ์ไทลื้อจากเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ครั้นตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่จึงเรียกตัวเองว่า “ไตเมิงยอง” สัญลักษณ์คือ โพกหัวด้วยผ้าขาว

วิถีไตเมิงยองก็คือวิถีไทคือคนไทยที่พูดภาษาไทยในแถบถิ่นล้านนาตั้งแต่เหนือสุดมณฑลยูนนานในจีน มีเผ่าจ้วง เป็นต้น กระจายไปในรัฐฉานพม่า ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่าคำฉานมาจากคำสยามนั่นเอง

อีกสายก็กระจายมาทางเดียนเบียนฟู เวียดนาม มาหลวงพระบาง ดังเรียกไทยทรงดำหรือลาวโซ่งในไทย

น่าสนใจคือสำเนียงภาษาของ “ไตเมิงยอง” หรือ “ไทยเมืองยอง” นี้ เป็นสำเนียงเดียวกับชาวเจ๊ะเหที่ตากใบ นราธิวาส ซึ่งพ้องสำเนียงเมืองเพชร เมืองระยอง เมืองจันท์ เมืองตราด สำเนียงเดียวกันเลย…น่าฟังและน่าคิดนะ

จากรากฐาน พื้นฐาน สู่ภูมิฐาน

สืบสานอารยยุคมาทุกสมัย

บ้านสันทางหลวงคุ้มภูมิไผท

วิถีชนวิถีชัยไตเมิงยอง

อีกแหล่งที่ไปเยือนคือ “บ้านเมืองรวง” ที่ ต.แม่กรณ์ มีน้ำตกแม่กรณ์ขึ้นชื่อ กับชุมชนคุณธรรมพร้อมศักยภาพการผลิตโดยเฉพาะผ้าทอและกระบวนโภชนาการนานาสำรับกับข้าว สมชื่อเมืองรวงมีสัญลักษณ์รวงข้าวคือความอุดมสมบูรณ์ของไร่นาป่าดอยสินทรัพยากรอันอุดมของแผ่นดิน

คือคนของแผ่นดินผู้บันดล

ภูมิมณฑลภูมิไผทหนึ่งในสยาม

เสน่ห์วัฒนธรรมความดีงาม

เสน่ห์นามตำนานบ้านเมืองรวง

นี้คือเสน่ห์เชียงรายที่สมบูรณ์แบบครบทั้งสามด้านคือ การศาสนา คุณธรรมจริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สมเป็น

ภูมิบ้านภูมิเมืองให้ภูมิใจนัก •

 

กราบพระธาตุดอยตุง

ปู่เจ้าลาวจกตั้ง ดอยตุง

ดอยปู่ดอยย่าพยุง อยู่เหย้า

ดอยทาท่าอำรุง พื้นราบ

ดอยสบดอยสามเส้า พระธาตุสร้างเป็นศรี

พงพีพันลึกล้าง ถางพง

ปลงป่าปลงเมืองปลง ปู่เจ้า

สืบเชื้อสืบลาววงศ์ ลวจักร ราชแล

ศักดิ์สิทธิ์พระธาตุเฝ้า ฝากพื้นมหาสมัย

สมัยเมื่อพระเสาะสร้าง ศรีสถาน

ธงพระพันวาพาน พาดพริ้ง

กำหนดเขตเอาฬาร โดยรอบ

แสงพระกลอกฟ้ากลิ้ง สว่างด้าวดอยสวรรค์

มรรคาผาทอดเลื้อย ลอยดอย

ดอยสู่ดอยถั่นทยอย ยอดล้ม

ตะวันสาดดอยลอย ระยับแดด

จอบจกจอบจักรก้ม จักกู้ดอยไฉน