DiaLogic การสังสรรค์สนทนาทางความคิด ของนักสร้างสรรค์ต่างสาขา (1) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

DiaLogic

การสังสรรค์สนทนาทางความคิด

ของนักสร้างสรรค์ต่างสาขา (1)

โดยปกติ “ภาพ” กับ “เสียง” เป็นสื่อที่มนุษย์เสพรับรู้ในประสาทสัมผัสที่แตกต่างกัน เราเสพภาพด้วยตา ในขณะที่ใช้หูเสพเสียง

แต่ในบางครั้ง ภาพกับเสียงก็เดินทางมาพบปะสังสรรค์กันในสื่อหลากแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อทางศิลปะ ดังเช่นที่ปรากฏในนิทรรศการหนึ่งที่มีชื่อว่า DiaLogic

นิทรรศการที่เป็นเสมือนหนึ่งการสังสรรค์สนทนาเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ระหว่างนักสร้างสรรค์ต่างสาขาอย่าง สันติ ลอรัชวี กราฟิกดีไซเนอร์ผู้ทำงานคาบเกี่ยวระหว่างโลกศิลปะและดีไซน์ กับ อโณทัย นิติพน นักประพันธ์เพลง/นักดนตรี/ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ปี 2564 ผู้มีความสนใจในการทดลองทางเสียงและดนตรี

นิทรรศการครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากความคิดไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ความรู้สึกจุกจิก และแบบร่างกระจัดกระจาย ที่ถูกนำมาแบ่งปัน ต่อยอด สะท้อนกลับ สร้างเสียงรบกวน ในรูปของการสนทนาระหว่างมิตรสหายผู้ซึ่งมีที่มาและสังกัดอันหลากหลาย จากการสังสรรค์หลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้ได้รับแรงสั่นสะเทือน ถูกตั้งคำถาม ถูกจุดประกาย ได้รับการปลอบประโลม และยินยอมปล่อยให้บางอย่างที่เบลอดำเนินต่อไปบ้าง โดยพยายามสร้างร่องรอยระหว่างทางเรื่อยมา

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้สะท้อนมาเป็นผลงานศิลปะที่เป็นการสังสรรค์กันระหว่างงานกราฟิกดีไซน์ อันเป็นการประกอบกันของข้อความ ลายเส้น ตัวอักษร จากกระบวนการทดลองทางการพิมพ์อันซับซ้อนละเอียดอ่อน

และการทดลองทางดนตรีที่สร้างเสียงจากสิ่งของรอบตัวทั่วไปอย่างโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงเครื่องสร้างเสียงอย่างเปียโน และเครื่องบันทึกเสียง

รวมถึงผลงานที่ประกอบขึ้นจากหนังสือ ภาพถ่าย และวิดีโอทดลอง ร่องรอยเหล่านี้จะถูกนำมาจัดวางในพื้นที่นิทรรศการเพื่อสังสรรค์กับมิตรที่ร่วมงานอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงผู้ชมนิทรรศการด้วยเช่นกัน

“ความจริงงานดนตรีกับงานกราฟิกดีไซน์นั้นอยู่ด้วยกันมานานมาก เพราะนักดนตรีก็เล่นดนตรีจากโน้ตเพลง โน้ตคือระบบภาษาอย่างหนึ่งที่แปลมาจากเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงในหัวนักแต่งเพลง หรือเสียงดนตรีที่เล่นก็ตาม นักดนตรีบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่าโน้ตคือบันทึก เพราะฉะนั้น พอมนุษย์เริ่มพยายามจะบันทึกเสียง ก็มีความพยายามในการสร้างรหัส (Code) ขึ้นมา รหัสที่ว่านี้เป็นรหัสทางสายตา (Visual Code) เพราะฉะนั้น ดนตรีกับกราฟิกดีไซน์นั้นไม่เคยห่างกันเลย”

สันติกล่าวถึงเหตุผลของการร่วมงานกันระหว่างคนทำงานในสองสื่อที่แตกต่างกันอย่างงานดนตรีกับงานกราฟิกดีไซน์

ส่วนอโณทัยกล่าวเสริมถึงความเชื่อมโยงระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์ต่างสาขาว่า

“ในมุมของเรา งานดนตรีกับงานกราฟิกดีไซน์นั้นเชื่อมกันที่คนนี่แหละ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ในการเรียนหรือทำดนตรี เราใช้ชีวิต เราลืมตามากับโน้ต เราอ่านโน้ตทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีคลาสสิค เราดูโน้ตเป็นหลักเลย สื่อแรกก่อนที่จะฟังเสียง เราเห็นโน้ตก่อน แล้วถึงจะสร้างเป็นเสียง เพราะฉะนั้น เราฝึกฝนมาด้วยการเป็นคนที่ใช้ตามาก่อน”

“พอมาทำงานแต่งเพลง ช่วงหลังๆ เราพบว่าเราต้องสเกตช์ก่อนแต่งเพลงด้วยเกรยองโดยที่ไม่ได้มีทักษะทางศิลปะใดๆ ทั้งสิ้น คือเราทำงานกับความอ่อน ความเข้ม พื้นผิวของกระดาษ พวกนี้เป็นโจทย์ก่อนที่จะเขียนเพลงเสมอ”

“อาจจะด้วยการฝึกฝนที่เราดูโน้ตมาตั้งแต่ 3-4 ขวบ ถึงจะแปลงมาเป็นเสียง สำหรับเราคือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ปลายทางมันอาจจะไม่เหมือนกัน พอเริ่มเรียนแต่งเพลง เราต้องจับเสียงที่อยู่ในหัวลงมาเป็นตัวโน้ตในกระดาษ เพื่อให้คนอื่นเล่น เราก็กลายเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไปในตัว”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักประพันธ์ดนตรียุคโมเดิร์นนิสม์ จะเห็นเลยว่าเขาพยายามค้นคว้าเรื่องพวกนี้กันมาก อย่างนักประพันธ์จากอิตาลี ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พอศึกษางานพวกนี้ ก็พบว่าเขาใช้วิช่วลเยอะมาก มีกราฟิกหน้าตาแปลกๆ ไปนั่งอธิบายให้นักดนตรีฟัง จังหวะที่อธิบายให้นักดนตรีฟังนี่แหละ บทสนทนาจะเกิด ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เราสนใจ เราไม่ได้สนใจแค่การวางโน้ตลงไปให้คนอื่นเล่นตาม แต่เราสนใจว่าเราคุยกันอย่างไร”

“งานครั้งนี้มันไม่ได้เป็นการเปิดแค่ตากับหู แต่เป็นการเปิดกิริยาหรือกรรมต่างๆ ของเรา ทั้งงานของอาจารย์สันติและงานของเรา ว่าทำอย่างไรให้เราใช้ร่างกายของเราสัมพันธ์กับโลกให้ได้เต็มที่ที่สุด”

สันติยังเฉลยให้ฟังถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ก่อนหน้านี้ ชื่อ ‘DiaLogic’ เคยถูกใช้มาก่อน โดยเคยเป็นชื่อของนิทรรศการที่เคยจัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในชื่อภาษาไทยว่า ‘ตรรกะสังสรรค์’ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ผมชอบชื่อนี้มาก เป็นนิทรรศการที่คิวเรตโดย กิตติพล สรัคคานนท์ พอนึกถึงชื่อนี้แล้วผมรู้สึกแวบขึ้นมาว่ามันเหมือนสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพราะกระบวนการหนึ่งของงานชุดนี้คือการพูดคุย เรามีการพูดคุยนอกรอบ กับน้องๆ เพื่อนๆ หลายคน รวมถึงกิตติพลด้วย แล้วก็ทำการบันทึกเป็นวิดีโอเอาไว้ ทำให้ผมได้แนวคิดมาใช้ในนิทรรศการนี้เยอะมาก หลังจากนั้นผมส่งข้อความไปขออนุญาตใช้ชื่อนี้จากกิตติพล ซึ่งเขาก็กรุณาอนุญาตให้ใช้ ที่เลือกใช้ชื่อนี้เพราะคิดว่าเราหาชื่อดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

ผลงานในนิทรรศการเริ่มต้นจากโปสเตอร์ของนิทรรศการ ที่สันติเลือกประโยคคีย์เวิร์ดที่เขาสะดุดใจระหว่างการสังสรรค์สนทนากับมิตรสหายแห่งวงการวรรณกรรม กิตติพล สรัคคานนท์ อย่าง “Nothing to be done” อันมีที่มาจากบทละคร Waiting for Godot ของซามูเอล เบ็คเค็ทท์ ซึ่งเป็นประโยคประมวลความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นกับเขาในช่วงเวลาปัจจุบัน ทั้งสิ่งที่เขาเคยทำที่ผ่านมา สิ่งที่จะทำต่อไป สิ่งที่คิดหวัง

สันติยังวานให้นักฟิสิกส์ ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ หาคำอธิบายการทำงานระหว่างเขากับอโณทัย ด้วยปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เปรียบได้กับการปะทะของสองสิ่ง โดยของแต่ละสิ่งที่วิ่งเข้าหากันจะมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองคือพลังงานจล เมื่อการปะทะเกิดขึ้น การถ่ายเทหรือการเปลี่ยนพลังงานเกิดขึ้น แต่พลังงานรวมยังคงเดิม (Law of conservation of energy) แต่จะเกิดเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานแสง หรือพลังงานเสียง ดังเช่นนักสร้างสรรค์ต่างสาขาอย่างสันติและอโณทัย ที่ต่างคนต่างมาคนละสาย

แต่เมื่อมาปะทะสังสรรค์กัน ก็จะเกิดการถ่ายเทพลังงานและเกิดพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา

หลักฐานของการสังสรรค์สนทนาเหล่านี้ถูกจัดแสดงในห้องแสดงงานเล็กด้านหน้าของหอศิลป์ เหมือนเป็นอารัมภบทของนิทรรศการ ในรูปของห้องแสดงวัตถุดิบทางความคิด ราวกับจะให้ผู้ชมได้เข้าไปนั่งฟังบทสนทนาอันตลบอบอวลในหัวของศิลปินทั้งคู่ ผ่านสารคดีที่ถ่ายทำและสร้างสรรค์โดยวินัย สัตตะรุจาวงษ์ และพรนภา อนะหันลิไพบูลย์ ที่นำฟุตเตจจากการสนทนาระหว่างศิลปินและมิตรสหายในหลายวาระ มาร้อยเรียงและแพร่ภาพเป็นผลงานวิดีโอจัดวางบนจอโทรทัศน์สองจอ แขวนเผชิญหน้าบนผนังฝั่งซ้ายขวาตรงข้ามกัน ผนังกลางห้องถ่ายทอดข้อความที่สันติถอดความจากบทสนทนาเหล่านั้นเป็นตัวหนังสือสามแถวจากการพูดคุยในต่างกรรมต่างวาระ แต่บางครั้งบทสนทนาเหล่านั้นก็เชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ

ในห้องยังมีผลงานภาพพิมพ์ดิจิตอลที่เป็นเหมือนการทดลองกระบวนการทำงานของสันติ จัดแสดงควบคู่ไปกับงานทดลองทางเสียงของอโณทัย ราวกับจะสร้างความโกลาหลให้กับพื้นที่ส่วนนี้ ท่ามกลางเสียงอันอึกทึกคึกโครมของวิดีโอจัดวางและเสียงเชิงทดลอง ในด้านตรงข้ามกลับมีเก้าอี้และหูฟังให้เข้าไปนั่งฟังเสียงของเก้าอี้ที่ถูกบันทึกจากสภาพแวดล้อมภายนอกราวกับจะสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้ผู้ชมปลีกตัวและสังเกตการณ์ความโกลาหลที่อยู่ในห้องก็ไม่ปาน

DiaLogic นิทรรศการดูโอโดยสันติ ลอรัชวี และอโณทัย นิติพน จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม-30 กันยายน 2022 นี้ งานเปิดนิทรรศการ วันที่ 27 สิงหาคม 2022 (14:00-17:00 น.) ณ Xspace Gallery (Main Hall)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Xspace Gallery