ก้าวไกล รอดยุบพรรค กกต.สั่งยุติคำร้อง 10 ปม ‘ประกันตัวราษฎร-หนุนร่างแก้รธน.ไอลอว์’

ก้าวไกลเฮ รอดยุบพรรค กกต.สั่งยุติเรื่อง หลังโดนร้อง 10 ปม ทั้งประกันตัวแกนนำคณะราษฎร -ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน หนุนร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ เสนอแก้ม.112 แสดงความเห็น-ร่วมชุมนุมการเมือง ชี้ ไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์การปกครอง

 

วันที่ 20 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่อง กรณีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เนื่องจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคกระทำการใน 10 ประเด็น ภายหลังคณะกรรมการไต่สวนของสำนักงานฯดำเนินการตรวจสอบแล้วเห็นว่าการกระทำยังไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

โดยทั้ง 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1.เดือนสิงหาคม 2563 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคและนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ประกันตัวนายภานุพงศ์ จาดนอก และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ ผู้ต้องหาในคดีอาญาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ฝ.972/2563 และคดีหมายเลขดำที่ ฝ.1031/2563

2.เดือนสิงหาคม 2563 นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกันตัวนายภาณุมาศ สิงห์พรม แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.1078/2563

3.เดือนตุลาคม 2563 น.ส.เบญจา แสงจันทร์ การบริหารพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งส.ส. บัญชีรายชื่อ ประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน แกนนำเยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยผู้ต้องหาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ฝ. 1302/2563 ซึ่งเห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหา เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของบุคคลซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

4.เดือนกันยายน 2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายรังสิมันต์ โรม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรครวม 17 คนที่เข้าร่วมชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และท้องสนามหลวง เป็นการใช้สิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง2560

5.กรณีกล่าวหาว่าพรรคก.ก. กระทำการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเหตุวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนของพรรค เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และเสนอให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือฉบับไอลอว์ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 255 และ 256 อย่างชัดเจนให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ โดยกำหนดให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของส.ส. กรณีดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายที่กำหนดจึงยังฟังไม่ได้ว่านายพิธา กระทำการเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

6.กรณีกล่าวหา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อขณะนั้น แถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ถ้อยคำมีลักษณะสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่บริเวณรัฐสภา ให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นว่าการแถลงการณ์ของนายวิโรจน์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นต่อการชุมนุมระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลเท่านั้นไม่ปรากฏถ้อยคำใดที่มีลักษณะสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยศีลทำอันดีของประชาชน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา34 จึงยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของนายวิโรจน์ ฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3)

7.เดือนมกราคม 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์ว่าพรรคก.ก. มีมติให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 และ 8.กรณีกล่าวหาว่านายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค กล่าวถึงการที่ตำรวจเข้าจับกุมนายศิริชัย นาถึง หรือนิว นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลากลางคืนว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม และเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีที่จะใช้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงมาตรา 112 จัดการกับนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม

โดยเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงความเห็นในการทำหน้าที่ของส.ส.ที่เห็นว่ากฎหมายใดเป็นอุปสรรคหรือไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพรรคใช้กลไกระบบรัฐสภาเพื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาจึงยังฟังไม่ได้ว่านายพิธา กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเข้าข่ายผิดมาตรา 92(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

9.เดือนมกราคม 2564 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค ใช้ตำแหน่งหน้าที่ส.ส. ประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ที่ศาลตลิ่งชันในคดีแอดมินเฟซบุ๊ก คณะราษฎร จำหน่ายปฏิทินเป็ดสีเหลืองซึ่งมีข้อความว่า “ปฎิทินพระราชทาน” เห็นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหาถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคลซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ไม่ได้เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีผลผูกพันพรรคก้าวไกล จึงยังฟังไม่ได้ว่านางอมรัตน์ จะทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ

10.เดือนพฤศจิกายน 2563 นายรังสิมันต์ โรม และส.ส.ของพรรครวม 4 คน ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณด้านหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ในลักษณะสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎรให้ก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้ง 4 ได้เข้าพื้นที่ชุมนุมดังกล่าวจริงแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าบุคคลทั้ง 4 ให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมไม่ว่าทางการเงิน การเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนอื่นใดให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าการเข้าพื้นที่ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 (3)พ.ร ป.พรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกกต. ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปยังนายณฐพร เรียบร้อยแล้ว