ร่างร้าย / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพปะกอบ : พรานจิตรบุตรกำลังเลี้ยงอาหารชูชก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี)

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ร่างร้าย

 

คําว่า ‘ร้าย’ มีความหมายทางลบ เป็นได้ตั้งแต่ขี้ริ้ว ดุ ไม่ดี ไปจนถึงเป็นอันตราย ความหมายแรกดูจะเลือนหายไปจากสังคมปัจจุบัน แต่ยังมีร่องรอยอยู่ในวรรณคดี

วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงสภาพเปลือยน่าทุเรศของเปรตที่ไม่มีแม้แต่ ‘ผ้าร้าย’ คลุมกาย

“เปรตลางจำพวกผอมนักหนาเพื่อหาอาหารจะกินบ่มิได้ แม้นว่าจะขอดเอาเนื้อน้อยหนึ่งก็ดี เลือดหยาดหนึ่งก็ดี บ่มิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง แลตานั้นลึกแลกลวงดั่งแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นหยุ้งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดีแลจะมีปกกายเขานั้นก็หาบ่มิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ชั่วตน ตัวเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ความหมายของ ‘ร้าย’ ในที่นี้คือ ‘ขี้ริ้ว’ เมื่อรวมกับคำว่า ‘ผ้า’ เป็นผ้าร้าย หมายถึง ผ้าขี้ริ้ว เป็นผ้าเก่า บ้างก็มีสภาพขาดวิ่น ใช้เช็ดถูทำความสะอาด

“อักขราภิธานศรับท์” อธิบายความหมายว่า

“ขี้ริ้ว, อาการที่คนรูปไม่งาม, ใจไม่ดี, หฤๅสิ่งของทั้งปวงที่ไม่ดี, ไม่งาม”

 

ในวรรณคดีมีทั้งคำว่า ‘ผ้าร้าย’ (หรือ ‘ผ้าขี้ริ้ว’) และ ‘ร่างร้าย’ ซึ่งหมายถึงคนที่มีรูปร่างหน้าตาเลวทรามต่างจากคนทั้งหลาย

‘ร่างร้าย’ คือ ลักษณะของชูชกพราหมณ์ขอทานเฒ่าที่วรรณคดีเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” เล่าถึงความเป็นมาว่า

“มีสันนิวาสเคหฐานอยู่ในคามเขตละแวกบ้านทุนนวิฐติดเนื่องกับเมืองกลิงคราษฎร์บุรี ธชีตะแกเป็นคนจนอัปรีย์ไร้ญาติยิ่งสถุล ทุคตะแค้นเคืองขุ่นข้องเข็ญใจ ภิกฺขาจริยาย ตะแกก็เที่ยวภิกขาจารไปปานด้วยเพศสกปรกเปรียบด้วยวณิพกยาจกจนจัณฑาล”

กวีใช้คำว่า ‘ร่างร้าย’ บรรยายถึงชูชก ตอนที่พราหมณ์สองผัวเมียกระหยิ่มยิ้มย่องพูดถึงทรัพย์สินเงินทองที่ชูชกฝากไว้

“จึ่งยกเอาทองของออเฒ่าออกมาแล้วก็ยิ้มหัวพูดแก่กันอยู่ซู้ซี้ว่า ออเฒ่ามันไปนี่ก็หลายปี ปานฉะนี้ยังไม่กลับมา ส่วนตัวอ้ายเฒ่าก็แก่ชราลงร่างร้าย นี่มันจะมิไปซุกซมล้มตายเสียแล้วหรือหานะออเจ้า ของนี้ก็ตกอยู่กับมือเราทั้งสองคน”

นอกจากนี้ตอนที่พรานเจตบุตรเจอชูชกก็เงื้อหน้าไม้ขึ้นกะจะยิงเสียให้ตาย เพราะเกรงว่าชูชกจะไปก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยการขอสองกุมารหรือพระนางมัทรี แต่กลับเสียรู้ถูกชูชกหลอกว่า

“กูนี่มิใช่พราหมณ์ไพร่พลัดแพลงมาขอทาน กูเป็นพราหมณ์มหาศาลปุโรหิต ทั้งเป็นเสวกทูตสำเร็จกิจการทั้งพระนคร … ถ้าใครฆ่ากูให้สิ้นชีวิตวายชีวาตม์ เจ็ดชั่วโคตรญาติยับทั้งนั้น…ท่านจงบอกมรรคาให้เราไป เราจึ่งจะทูลความชอบให้แก่ท่าน”

คนซื่อเป็นเหยื่อคนคดฉันใด เจตบุตรก็ไม่ต่างกันฉันนั้น

“โส ตสฺส ตํ มุสาวาทํ สุตฺวา ส่วนนายเจตบุตรพราหมณ์ป่าเมื่อได้ฟังเฒ่าชราร่างร้าย ทุกสิ่งสรรพ์บรรยายเท็จทั้งนั้นก็หายประทุษโทษทัณฑ์ที่โทโส”

 

ผู้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับ ‘ร่างร้าย’ ของชูชกพราหมณ์ชรา คือ สองกุมาร ชาลีและกัณหานั่นเอง ตอนที่พระเวสสันดรให้พระโอรสพระธิดาไปต้อนรับชูชก ทั้งสองก็ตรัสถามอย่างสุภาพว่า “ลุงชีเจ้าคุณตาเจ้ามาแต่ทางไกล ถุงไถ้ไม้เท้าสิ่งใดหนัก ส่งมาเถิดหลานรักจะช่วยรับไป” ความสุภาพกลับได้รับความหยาบช้าทั้งกิริยาวาจาเป็นสิ่งตอบแทน

“เฒ่าก็ดีดนิ้วมือดังทะถับทะถับร้องสำทับด้วยวาจาว่า อเปหิ ฮ้าเฮ้ยเด็กน้อยถอยขยายเสือร้ายจะเดินทาง อย่าเข้ามาขวางจังหวะทำโอ้เอ้ เหม่! ออนี่หนักหนา ชี้ตาไม่กะพริบเลย ว่าแล้วสิยังเฉยดื้อถือบุญเหวี่ยงเข้าด้วยไม้เท้าเจ้าประคุณให้วิ่งวุ่นไปเถิดกระมัง”

ความกักขฬะต่ำทรามของชูชกทำให้สองกุมารเพ่งพินิจพิจารณาพราหมณ์เฒ่า

“ส่วนพระทองร้อยชั่งทั้งคู่ พิศดูเห็นบุรุษโทษสิบแปดประการ เกิดในสันดานเฒ่าบัดสี พ่อชาลีก็นิ่งไว้ในพระทัย”

คำว่า ‘ร่างร้าย’ อธิบายด้วยคำว่า ‘บุรุษโทษสิบแปดประการ’ หมายถึง ผู้ประกอบด้วยลักษณะของคนชั่ว 18 อย่าง ดังปรากฏในคาถาของกัณฑ์กุมารว่า

พลฺงกปาโท อทฺธนโข อโถ โอพทฺธปิณฺฑิโก

ทีโฆตฺตโรฏฺโฐ จปโล กฬาโร ภคฺคนาสโก

กุมฺโภทโร ภคฺคปิฏฺฐิ อโถ วิสมจกฺขุโก

โลหมสฺสุ หริตเกโส วลีนํ ติลกาหโต

ปิงฺคโล จ วินโต จ วิกโฏ จ พฺรหาขโร

ซึ่งหนังสือ “มหาเวสสันดรชาดก” องค์การค้าของคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2517 อธิบายไว้ท้ายเล่มว่า

1. พลังกบาท เท้าทั้งสองข้างใหญ่และคด

2. อันธนขะ เล็บทั้งหมดกุด

3. โอพัทธปิณฑิกะ ปลีน่องทู่ยานลงภายใต้

4. ทีโฆตตโรฏฐะ ริมฝีปากบนยาวปิดริมฝีปากล่าง

5. จปละ น้ำลายไหลออกเป็นยางยืดทั้งสองแก้ม

6. กฬาระ เขี้ยวงอกออกมาพ้นปากเหมือนเขี้ยวหมู

7. ภัคคนาสิกะ จมูกหักฟุบดูน่าชัง

8. กุมโภทร ท้องป่องเป็นกระเปาะดั่งหม้อใหญ่

9. ภัคคปิฏฐิ สันหลังไหล่หักค่อมคดโกง

10. วิสมจักขุ ตาถล่มลึกทรลักษณ์ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ไม่เสมอกัน

11. โลหมัสสุ หนวดเครามีพรรณดั่งลวดทองแดง

12. หริตเกส ผมโหรงเหลืองดั่งสีลาน (= สีนวลเหลืองอย่างใบลานตากแห้ง)

13. วลีนะ ตามตัวสะครานคล่ำด้วยแถวเอ็นนูนเกะกะ

14. ติลกาหตะ มีต่อมแมลงวันและตกกระดั่งโรยงา

15. ปิงคละ ลูกตาเหลือกเหล่เหลืองดั่งตาแมว

16. วินตะ ร่างกายคดค้อมในที่ทั้งสาม คือ คอ หลัง สะเอว

17. วิกฏะ เท้าทั้งสองเหหันห่างเกะกะ

18. พรหาขระ ขนตามตัวยาวหยาบดั่งแปรงหมู

ลักษณะบุรุษโทษ 18 ประการ ทำให้ชูชกเป็นชายชราร่างร้ายที่อัปลักษณ์ทั่วถึงตั้งแต่หัวจรดเท้า อย่างไรก็ดี ถ้า ‘ร่างร้าย’ แต่ไม่ทำร้ายผู้ใดย่อมเหนือชั้นกว่า ‘ร่างงาม’ แต่ทำลายชีวิตผู้อื่นเพื่อต่อชีวิตตนเอง ดังที่ “โคลงโลกนิติ” เปรียบเทียบการกระทำของ ‘แร้ง-ร่างร้าย’ กับ ‘นกยางขาว-ร่างงาม’ ไว้ว่า

“รูปแร้งดูร่างร้าย รุงรัง

ภายนอกเพียงพึงชัง ชั่วช้า

เสพสัตว์ที่มรณัง นฤโทษ

ดังจิตสาธุชนกล้า กลั่นสร้างทางผลฯ

ยางขาวขนเรียบร้อย ดูดี

ภายนอกหมดใสสี เปรียบฝ้าย

กินสัตว์เสพปลามี ชีวิต

เฉกเช่นชนชาติร้าย นอกนั้นนวลงามฯ”

แม้รูปกายภายนอกมีลักษณะ ‘ร่างร้าย’ ทั้งดุร้ายน่าเกลียดน่ากลัว แร้งกลับกินแต่ซากสัตว์ไร้ชีวิต ตรงกันข้ามกับนกยางขาวงามสง่ากินปลาเป็นๆ เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น แร้งเปรียบได้กับคนดีที่รูปทรามแต่ใจงาม ส่วนนกยางขาวเปรียบได้กับคนชั่วที่รูปงามแต่ใจทราม

คนเราก็เช่นกัน จะ ‘ร่างร้าย’ – ‘ร่างงาม’ เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะ ‘ทำดี’ หรือ ‘ทำชั่ว’ •