หลวงพ่อโสธร : ระหว่างศรัทธากับการอนุรักษ์ (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ
ภาพเปรียบเทียบพุทธลักษณะหลวงพ่อโสธร : ภาพซ้ายคือองค์จริงก่อนบูรณะ ภาพกลางคือองค์จริงหลังบูรณะและนำทองคำเปลวออก ส่วนภาพขวาคือองค์จำลองที่มีพุทธลักษณะเหมือนองค์จริง (ก่อนที่จะทำการบูรณะ)

ตอนที่ 1

การอนุรักษ์หลวงพ่อโสธรครั้งใหญ่โดยการลอกทองคำเปลวที่พอกทับมายาวนานร่วมร้อยปีออก โดยกรมศิลปากร เมื่อราว พ.ศ.2552 ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แห่งศรัทธาที่โต้กลับการอนุรักษ์ในครั้งนั้น (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ

การเกิดขึ้นของการสร้าง “หลวงพ่อโสธรหน้าโบราณ” เป็นหนึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวที่น่าสนใจ

โครงการนี้ริเริ่มขึ้นราว พ.ศ.2556 โดย คุณวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความประสงค์จะจัดสร้างหลวงพ่อพุทธโสธรจำลองโดยให้มีใบหน้าเหมือนกับหลวงพ่อโสธรองค์เดิมในพระอุโบสถก่อนถูกบูรณะใน พ.ศ.2540

คุณวุฒิพงศ์ให้เหตุผลที่สำคัญข้อหนึ่ง (ในหลายๆ เหตุผลของการจัดสร้างครั้งนี้) ว่าเป็นเพราะ “ใบหน้าหลวงพ่อโสธรปัจจุบันไม่เหมือนเดิม” และได้อธิบายต่อมาว่า

“…ผมจ้างช่างปั้นหน้าหลวงพ่อโสธรจากภาพโบราณมาสามปีแล้ว หน้าก็ยังไม่เหมือน ผมติมาจนกระทั่งหมดความรู้ที่จะติแล้ว จึงไปกราบหลวงพ่อโสธรขอให้เทวดาที่รู้เรื่องนี้ช่วย หลังจากนั้นกลายเป็นว่าผมต้องมานั่งปั้นหน้าหลวงพ่อเอง ซึ่งก็ไม่เคยปั้นมาก่อน…เวลาคิดไม่ได้ก็จะมีเสียงบอกว่า…ทำอย่างไรขึ้นมาในหัว…” (ดูบทสัมภาษณ์ใน https://www.thairath.co.th/horoscope/interesting/1085570)

สุดท้ายก็ปั้นหน้าหลวงพ่อโสธรสำเร็จในปลาย พ.ศ.2559 โดยปัจจุบันหลวงพ่อโสธรหน้าโบราณประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงพ่อโสธรจำลอง วัดเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยผู้สร้างเน้นย้ำว่า หลวงพ่อโสธรองค์นี้มีใบหน้าที่เหมือนภาพเก่าโบราณที่ประชาชนกราบไหว้กันมากว่า 200 ปี

นอกจากสร้างหลวงพ่อโสธรหน้าโบราณแล้ว ยังได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล หลวงพ่อโสธรหน้าโบราณ รุ่นอรหันต์ลานโพธิ์ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2560 โดยมีการอธิบายว่า “…เน้นสัดส่วนและหน้าจริง ย่อเป็นพระบูชา พระกริ่งลอยองค์ และเหรียญ ทุกท่านที่มีไว้ครอบครองภูมิใจเถอะครับ ถือว่าเป็นรุ่นแรกที่เสมือนจริงที่สุด…”

(ดูใน https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_859187)

ไม่เพียงแค่คุณวุฒิพงศ์ การให้ความสำคัญต่อใบหน้าโบราณของหลวงพ่อโสธรยังปรากฏให้เห็นจากพิธีกรรมในชีวิตประจำวันของผู้มีจิตศรัทธามากมายในหลากหลายพื้นที่ เช่น งานนมัสการพระพุทธโสธรประจำปีของจังหวัดฉะเชิงเทรา และงานพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพุทธโสธรขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงหน้าวัดโสธรฯ ซึ่งองค์หลวงพ่อโสธรจำลองที่นำมาร่วมในพิธีกรรมดังกล่าวต่างเป็นหลวงพ่อโสธรแบบใบหน้าโบราณทั้งสิ้น

ผมเข้าใจดีว่า พิธีกรรมเหล่านี้อาจจะมิได้มีการคิดถึงเรื่องใบหน้าขององค์พระอย่างจริงจังแต่อย่างใด โดยอาจเป็นเพียงการอัญเชิญองค์ที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมมายาวนานหลายปี (ซึ่งใบหน้ายังเป็นแบบเดิม) เพียงเท่านั้น

แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ หากหลวงพ่อโสธรองค์จริงที่มีใบหน้าใหม่หลังการลอกทองออกจนหมดแล้ว ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมหาศาล ผมเชื่อว่าจะต้องมีการเรียกร้องให้สร้างหลวงพ่อโสธรองค์จำลองที่มีใบหน้าใหม่ เพื่อมาใช้ประกอบพิธีกรรมประจำปีแทนไปนานแล้วอย่างแน่นอน

แต่ที่ใบหน้าเดิมยังคงถูกใช้ประกอบพิธีโดยมิได้มีใครสนใจอะไร ย่อมสะท้อนความนิยมในใบหน้าเดิมได้เป็นอย่างดี

หากยังติดใจว่า การเลือกหลวงพ่อโสธรจำลองหน้าโบราณเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ผมก็อยากชวนลองพิจารณากิจกรรมร่วมสมัยในหลายๆ แห่งที่เลือกนำหลวงพ่อโสธรมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมดูว่าเจ้าของงานนิยมเลือกใบหน้าแบบไหน

 

ขอยกตัวอย่างเดียวคืองาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนไทยให้เรืองรอง” เมื่อ พ.ศ.2563 ที่มีการจัดกราบไหว้ขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 4 องค์จาก 4 ภาคของไทย โดยหลวงพ่อโสธรถูกเลือกมาเป็นหนึ่งในสี่ของพระพุทธรูปในงาน ซึ่งหลวงพ่อโสธรจำลองที่นำมาตั้งในงานก็คือแบบใบหน้าโบราณเช่นเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น หากเราลองสำรวจการสร้างวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อโสธรในปัจจุบัน จะพบว่ารูปแบบที่มีใบหน้าโบราณจะได้รับความนิยมในการนำมาทำวัตถุมงคลมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่นับรวมภาพถ่ายเก่าของหลวงพ่อโสธรใบหน้าแบบโบราณก่อนการอนุรักษ์ก็ดูจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาด มากกว่าใบหน้าใหม่อย่างเทียบกันไม่ได้

ความนิยมใบหน้าโบราณก่อนการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างมา กำลังบอกอะไรแก่เรา?

 

ผมอยากเสนอว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนช่องว่างระหว่างโลกทัศน์ของสิ่งที่เรียกว่า “การอนุรักษ์” กับ “ความศรัทธา” ในสังคมไทย

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า หลวงพ่อโสธรใบหน้าใหม่ หรือที่ถูกคือ ใบหน้าจริงแท้ดั้งเดิมเมื่อแรกสร้าง ได้กลายเป็นของที่แปลกปลอมทางความทรงจำสำหรับผู้คนโดยส่วนใหญ่ที่ศรัทธาในหลวงพ่อโสธร มีเพียงนักอนุรักษ์และนักวิชาการทางศิลปะเท่านั้นที่ดูจะมีความพอใจที่ได้เห็นใบหน้าเดิมแท้เมื่อแรกสร้างของหลวงพ่อโสธร

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วปรากฏการณ์เดินสวนทางกันระหว่างการอนุรักษ์กับความศรัทธาที่ผมอธิบายมานั้น มันเสียหายอย่างไร จนถึงขนาดที่ผมจะต้องมาเขียนถึง

แน่นอน ในหลายกรณีปรากฏการณ์นี้ก็มิได้สร้างความเสียหายอะไร แต่ในบางกรณี เช่นกรณีหลวงพ่อโสธร ผมคิดว่ามันได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นบางอย่าง

หากใครได้มีโอกาสเดินทางไปวัดโสธรฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2561 เป็นต้นมา คงจะพบว่าได้มีการสร้างวิหารขนาดใหญ่หลังใหม่ขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ (ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง) เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ที่มีใบหน้าแบบโบราณก่อนการอนุรักษ์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามากราบไหว้และประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ (ที่เคยทำได้กับองค์จริงมาก่อน) ไม่ว่าจะเป็นการรำแก้บน ปิดทอง ห่มผ้า จุดธูปเทียน ถวายไข่ต้ม ฯลฯ

ผมอยากลองให้คิดอย่างจริงจังดูว่า วิหารหลังใหม่ที่ใช้งบประมาณมากถึง 125 ล้านบาท อาจไม่มีความจำเป็นเลยในการก่อสร้าง เพียงแค่กรมศิลปากรและผู้มีอำนาจตระหนักว่าแนวทางการอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูปที่ยังเต็มไปด้วยพิธีกรรมและความศรัทธาของผู้คนมหาศาล เช่น หลวงพ่อโสธร นั้นจำเป็นจะต้องมีรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างออกไปจากการเก็บรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยข้อห้ามนานัปการ

อย่างไรก็ตาม ผมเองยังเห็นด้วยว่า เราจำเป็นต้องดูแลรักษาหลวงพ่อโสธรองค์จริงเป็นอย่างดี เพราะนี่คือโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

เพียงแต่แนวทางที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ภายใต้โลกทัศน์ว่าด้วยการอนุรักษ์ที่ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและปฏิบัติการทางความเชื่อของผู้คนในสังคม ได้เข้ามาผลักไสและทำลาย (โดยไม่ตั้งใจ) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับหลวงพ่อโสธรองค์จริงลง

จนส่งผลให้วัดและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาต้องลงขันกันด้วยงบประมาณมหาศาลเพื่อสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้น

ทั้งๆ ที่พระอุโบสถหลังใหม่ (ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างเกือบ 2,000 ล้านบาท) ก็มีพื้นที่ใช้สอยมากมายจนสามารถรองรับกิจกรรมทั้งหมดได้ภายในอาคารหลังเดียวอย่างสบาย

 

ควรกล่าวไว้ก่อน แนวทางที่ต้องการจะผสานการอนุรักษ์ตามหลักสากลโดยยังคำนึงถึงความศรัทธาในบริบททางวัฒนธรรมของสังคมไทยนั้น มิได้เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดแต่อย่างใด

เมื่อหลายปีก่อน (เกือบ 20 ปีแล้วถ้าผมจำไม่ผิด) สมาคมอิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand Association) มีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “กฎบัตรประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรม” (Thailand Charter on Cultural Heritage Management) เพื่อเป็นการสร้างกติกาและแนวทางในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานสากล และในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย ซึ่งได้มีการร่างกฎบัตรฯ ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเสมือนว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย

ในทัศนะผม กรณีหลวงพ่อโสธรเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของความขัดแย้งในเชิงโลกทัศน์ดังกล่าว ยังมีกรณีแบบนี้อีกมากมายกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ

หากเราไม่หันมาพิจารณาประเด็นนี้อย่างจริงจัง ก็จะทำให้ช่องหว่างระหว่าง “การอนุรักษ์” กับ “ความศรัทธา” ถ่างออกจากกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เราสูญเสียมหาศาล

ไม่เพียงแต่มิติทางเศรษฐกิจ

แต่ยังสูญเสียคุณค่าทางวัฒนธรรมบางอย่างที่เคยห่อหุ้มโบราณวัตถุเอาไว้ให้กลายเป็นเพียงอิฐหินปูนทรายที่มีค่าเพียงแค่ความสวยงามและเก่าแก่เท่านั้น