หลวงพ่อโสธร : ระหว่างศรัทธากับการอนุรักษ์

ชาตรี ประกิตนนทการ
ภาพเปรียบเทียบพุทธลักษณะหลวงพ่อโสธร : ภาพซ้ายคือองค์จริงก่อนบูรณะ ภาพกลางคือองค์จริงหลังบูรณะและนำทองคำเปลวออก ส่วนภาพขวาคือองค์จำลองที่มีพุทธลักษณะเหมือนองค์จริง (ก่อนที่จะทำการบูรณะ)

หากใครมีโอกาสเดินทางไปนมัสการ “พระพุทธโสธร” (หลวงพ่อโสธร) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ฉะเชิงเทรา และของประเทศไทย สิ่งที่ทุกคนจะพบเห็นเมื่อเดินทางไปถึงก็คือการแบ่งพื้นที่การกราบไหว้ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ (ในปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างซึ่งจะทำให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งประเด็นนี้จะกล่าวถึงในสัปดาห์หน้า)

ส่วนแรก คือ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ (ในตำแหน่งที่เคยเป็นพระอุโบสถหลังเดิม) ในช่วง พ.ศ.2530 ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ.2549 โดยอาคารหลังนี้คือที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร “องค์จริง”

ความพิเศษของการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนั้น คือ ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ต้องการย้ายหลวงพ่อโสธรองค์จริงออกจากที่ตั้งเดิม ทำให้ต้องมีการสร้างโครงสร้างปิดคลุมองค์พระเอาไว้ในขณะก่อสร้าง ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาในหลวงพ่อโสธรไม่สามารถเข้ามาสักการะองค์พระได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดเตรียมอาคารในพื้นที่ส่วนที่สองขึ้น โดยเป็นวิหารชั่วคราวเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อโสธร “องค์จำลอง” สำหรับให้ผู้คนได้มากราบไหว้ ในช่วงระหว่างรอการก่อสร้าง ที่กินเวลายาวนานร่วม 20 ปี

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อพระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ ผู้คนเป็นจำนวนมากกลับยังคงเดินทางมาสักการะหลวงพ่อโสธรองค์จำลองในวิหารชั่วคราวที่มิได้ถูกการออกแบบอย่างหรูหราอลังการแต่อย่างใดเลย (หากเทียบกับพระอุโบสถหลังใหม่) มากเสียยิ่งกว่าองค์จริงในพระอุโบสถ อย่างมีนัยยะสำคัญ

ผมเองสังเกตปรากฏการณ์นี้ด้วยความสนใจ และเกิดคำถามทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมว่า ทำไมหลวงพ่อโสธรองค์จริง หลังจากเปิดให้คนมากราบไหว้อีกครั้งหลังปิดตายไปเกือบสองทศวรรษ ซึ่งควรจะได้รับความศรัทธาล้นหลาม กลับดูเสมือนว่าความนิยมจะสู้องค์จำลองไม่ได้เสียแล้ว

หลังจากตามสังเกตอยู่พอสมควร ผมพบว่า สาเหตุสำคัญประการแรกคือ การออกระเบียบปฏิบัติในการสักการะองค์จริงภายในพระอุโบสถหลังใหม่ ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของผู้คนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นห้ามการจุดธูปเทียนบูชา ห้ามปิดทอง ห้ามถวายไข่ต้ม และห้ามการรำแก้บนในพระอุโบสถ เป็นต้น โดยพิธีกรรมทั้งหมดนี้อนุญาตให้ทำได้กับองค์จำลองเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนส่วนมากที่เกือบทั้งหมดคือคนที่เดินทางมาเพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเลือกมากราบไหว้กับองค์จำลองเป็นหลัก

ภาพที่ปรากฏจึงทำให้เรามองเห็นผู้คนมากราบไหว้องค์จำลองอย่างแน่นขนัด จนคนทั่วไปที่มิได้ทราบประวัติความเป็นมาอาจเข้าใจผิดได้ว่าองค์จำลองคือองค์จริง

 

เหตุผลประการที่สองคือ หลังจากที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะหลวงพ่อโสธรองค์จริงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2549 โดยมีการนำทองคำเปลวที่ปิดทับอยู่บนพระพักตร์ของหลวงพ่อโสธร ซึ่งมีการปิดทับต่อเนื่องกันมายาวนานหลายสิบปี (หรืออาจเป็นร้อยปี จนพุทธลักษณะเปลี่ยนไปมากจากเมื่อแรกสร้าง) ออกทั้งหมด

การลอกทองคำเปลวออกในครั้งนั้น ทำไปบนฐานคิดว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์ที่ต้องการย้อนกลับไปหาสภาพเดิมแท้ของหลวงพ่อโสธรที่ถูกต้อง (และนี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญอีกอย่างของการห้ามปิดทองลงบนองค์จริงอีกต่อไป)

แต่ภายใต้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งน่าสนใจมากคือ พุทธลักษณะเดิมแท้ที่ถูกต้องดังกล่าว กลับกลายเป็นพุทธลักษณะที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไป เพราะมิได้มีผู้คนเห็นหน้าตาเดิมแท้ดังกล่าวมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของคนเป็นจำนวนไม่น้อย ณ ขณะนั้น ที่โจมตีกรมศิลปากรว่าทำการบูรณะผิดพลาดจนหน้าตาหลวงพ่อโสธรเปลี่ยนไป

แม้ต่อมาทุกคนจะยอมรับว่าการบูรณะไม่มีอะไรผิดพลาด แต่การบูรณะดังกล่าวได้เข้ามากระทบกับภาพจำของหลวงพ่อโสธรที่สืบทอดต่อมาหลายชั่วอายุคน (รวมถึงภาพถ่าย เหรียญที่ระลึก พระพิมพ์ ฯลฯ เป็นจำนวนมหาศาลที่กระจายไปอยู่กับประชาชนทั่วไปมาหลายสิบปีที่ล้วนแต่เป็นพุทธลักษณะแบบที่ถูกพอกทับด้วยทองคำเปลวจำนวนมากทั้งสิ้น) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลที่ตามมาได้ก่อให้เกิดการกลับหัวกลับหางกันทางความหมายระหว่างองค์จริงกับองค์จำลองที่น่าประหลาด กล่าวคือ หลวงพ่อโสธรองค์จริง แม้ว่าจะเป็นของแท้ แต่กลับมีหน้าตาที่ไม่คุ้นเคย ในขณะที่องค์จำลอง ซึ่งไม่ใช่ของแท้กลับกลายมาเป็นองค์ที่มีหน้าตาคุ้นเคยตามความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนมากกว่า (ดูภาพประกอบ)

จนทำให้หลวงพ่อโสธรองค์จำลองก้าวขึ้นมารับบทบาทหน้าที่และความหมายของ “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานเก่าแก่ของผู้คน แทนที่หลวงพ่อโสธรองค์จริงอย่างช้าๆ และมากขึ้นๆ โดยลำดับ

ไม่ปฏิเสธนะครับว่า องค์จริงยังคงได้รับการกราบไหว้อยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ในเชิงปริมาณแล้ว ผู้คนให้ความสำคัญกับองค์จำลองมากกว่าองค์จริง

ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่าง (การห้ามทำพิธีกรรมกับองค์จริง และการลอกทองคำเปลวออกจากองค์จริง) บอกอะไรแก่เรา

 

ผมอยากเสนอว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนโลกทัศน์ 2 ชุดในการให้ความหมายแก่ “หลวงพ่อโสธร” ที่แตกต่างกัน ระหว่างความหมายของการเป็น “วัตถุแห่งศรัทธา” อันศักดิ์สิทธิ์แบบจารีตดั้งเดิมในสังคมไทย กับความหมายของการเป็น “วัตถุแห่งการอนุรักษ์” ซึ่งเน้นคุณค่าทางศิลปะอันสูงส่ง และให้ความสำคัญกับการคงสภาพเดิมแท้เอาไว้ไปตลอดการ

แม้ความหมายทั้ง 2 แบบมิได้ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงจนไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายแต่ละแบบเรียกร้อง “การมอง” และ “การปฏิบัติ” ที่มีต่อวัตถุในแบบที่แตกต่างกันอย่างมาก

แบบแรก เรียกร้องการมองที่ไม่จำเป็นต้องสนใจในรายละเอียดของวัตถุมากนัก ความชัดเจนของการมองไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความมืดสลัวตลอดจนมุมมองที่ไม่เอื้อให้เรามองเห็นพระพุทธรูปที่ชัดเจนนัก บางครั้งคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาบังเกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ การสัมผัสจับต้องและการปฏิบัติบูชาผ่านการปิดทอง จุดธูป ห่มผ้า รำแก้บน ฯลฯ คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ความหมายชุดแรกดำรงอยู่ได้ เพราะเป็นเสมือนการส่งผ่านอำนาจเหนือธรรมชาติมาสู่ผู้คนที่ทำการสักการบูชา

 

ในขณะที่ความหมายแบบที่สอง พระพุทธรูปคือศิลปวัตถุที่แสดงออกถึงความงามหรือคุณค่าทางศิลปะที่สำคัญของชาติ ดังนั้น การปกป้องรักษาเพื่อให้คงคุณค่าทางรูปแบบศิลปะดั้งเดิมเอาไว้มากที่สุดจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ การสัมผัสหรือปิดทองจึงเสี่ยงต่อการทำลายความหมายชุดนี้

สิ่งที่ตามมาคือ ความต้องการที่จะเพ่งมองอย่างชัดเจนในทุกอณูองค์ประกอบของพระพุทธรูปเพื่อที่ผู้มองจะสามารถรับรู้ เข้าใจ รวมไปถึงซึมซาบคุณค่าทางศิลปะได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การมองเห็นว่ารัฐและชาติของตนเองนั้นยิ่งใหญ่ หรือมีความเจริญมากเพียงใด จนสามารถที่จะสร้างศิลปวัตถุที่ทั้งงดงามและยิ่งใหญ่ได้เช่นนี้

ดังนั้น ทองคำเปลวแห่งศรัทธาที่พอกทับทับกันมาร่วมศตวรรษจึงไม่อาจดำรงอยู่ได้ เพราะมันได้เข้ามาบดบังรูปแบบศิลปะที่สวยงามและสูงส่งของชาติจนหมดสิ้น

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดี การมองและการปฏิบัติต่อวัตถุในแบบที่สองนี้ ก็คือการมองและปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ในวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง และจึงไม่แปลกที่หากเราเดินเข้าไปสักการะหลวงพ่อโสธรองค์จริงภายในอุโบสถหลังใหม่ เราจะพบการออกแบบพื้นที่ภายในที่แทบไม่ต่างเลยจากพิพิธภัณฑ์

การจัดวางกลุ่มพระพุทธรูปทั้งหมดที่โล่งโปร่งปราศจากองค์ประกอบในการประกอบพิธีกรรมที่อาจจะขัดขวางการมองเห็น พื้นที่กว้างขวางโดยรอบจนเราสามารถเดินดูองค์พระพุทธรูปทุกองค์ได้โดยแทบไม่มีอะไรบังสายตา ตลอดจนความสว่างที่ทำให้เราเห็นรายละเอียดพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจนเหมือนของที่ตั้งในพิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงการทำรั้วกั้นเพื่อมิให้คนเดินเข้าไปสัมผัสองค์พระพุทธรูปได้โดยตรง

ทั้งหมดนี้คือภาษาในการออกแบบจัดแสดง “วัตถุแห่งการอนุรักษ์” ภายในพิพิธภัณฑ์มากกว่าการเป็น “วัตถุแห่งศรัทธา” ภายในศาสนสถานตามโลกทัศน์แบบดั้งเดิมของสังคมไทย

ตอนจบ