“ไอติม” ชู 3 แนวทางมุ่ง #เรียนฟรีจริง เพื่อทุกคน ป้องกันเด็กหลุดจากระบบศึกษา

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นท่ามกลางบรรยากาศการเปิดเทอมภาคเรียนวันแรกที่นักเรียนต่างกลับเข้าสู่โรงเรียนหลังห่างหายจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด ไม่ใช่นักเรียนทุกคนได้กลับเข้าสู่ชั้นเรียน โดยพริษฐ์กล่าวว่า

วันเปิดเทอม ที่ยังมาไม่ถึงสำหรับเด็กบางคน : 3 แนวทางในการทำให้ทุกคนได้ #เรียนฟรีจริง เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

สำหรับเด็กหลายคนทั่วประเทศ วันนี้นับเป็นวันแรกของปีการศึกษา 2565 โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นการกลับไปเรียนที่โรงเรียนแบบ on-site อีกครั้ง หลังจากต้องเรียนออนไลน์ต่อเนื่อง 2 ปีการศึกษา (2563-2564) เพราะการระบาดของโควิด-19
.
แต่สำหรับเด็กบางคน วันนี้อาจไม่ได้เป็นวันเปิดเรียนสำหรับพวกเขา เนื่องจากพิษของโควิด ที่คาดว่าทำให้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปกว่า 200,000 คน (https://www.thaich8.com/news_detail/104371)
.
นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องการเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ อีกปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ “ค่าใช้จ่ายแอบแฝง” ด้านการศึกษา ที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถ “เรียนฟรี” ได้จริงตามที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง หรือ ค่าธรรมเนียมทางการศึกษา ซึ่ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้คำนวณไว้ที่ประมาณ 2,000-6,000 บาท/คน/ปี (https://www.eef.or.th/infographic-09-06-21/)
.
เมื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิดทำให้รายได้ของหลายครอบครัวลดลง “ค่าใช้จ่ายแอบแฝง” จึงกลายเป็นกำแพงราคาที่สูงเกินกว่าครอบครัวจะแบกรับไหว จนทำให้ไม่มีทางเลือกนอกจากจะนำเด็กออกจากระบบการศึกษา
.
แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ชี้แจงว่าสามารถนำนักเรียนหลายคนที่หลุดออกไปกลับเข้าสู่ระบบแล้ว แต่ปัญหาของ “ค่าใช้จ่ายแอบแฝง” เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกำจัดให้ได้ เพื่อไม่ให้เด็กคนไหนต้องหลุดออกจากระบบอีกเพียงเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้การศึกษาเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
.
หากวิเคราะห์จากต้นเหตุ ผมมองว่ามีอย่างน้อย 3 แนวทาง ที่จำเป็นต่อการทำให้ทุกคนได้ #เรียนฟรีจริง
.
1. #ปฏิรูปงบอุดหนุน – เพิ่มระดับ ปรับสูตรจัดสรร และให้อิสรภาพในการใช้
.
สาเหตุหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมโดยบางโรงเรียน คืองบประมาณที่ถูกจัดสรรให้โรงเรียน ไม่เพียงพอต่อค่าดำเนินการ การแก้ไขปัญหาอาจต้องผสมผสานด้วยการ:
.
1.1. เพิ่มระดับเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในปัจจุบัน
1.2. ปรับสูตรจัดสรรงบประมาณรายหัวให้เป็นอัตราที่ก้าวหน้าขึ้น (โรงเรียนขนาดเล็กได้งบต่อหัว ที่สูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่) เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจมีต้นทุนคงที่ (fixed cost) ต่อหัว ที่สูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่
1.3. ให้อิสรภาพและอำนาจกับโรงเรียนในการเลือกใช้งบประมาณตามที่เหมาะสมต่อบริบทของแต่ละโรงเรียน แทนที่จะล็อกงบประมาณไว้ตามประเภทค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโรงเรียนในการบริหารจัดการ
.
2. #เปิดข้อมูลรายรับรายจ่ายโรงเรียน เพิ่มความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต
.
เมื่อจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการป้องกันการทุจริตโดยบางโรงเรียน ที่อาจนำไปสู่การรั่วไหลของงบประมาณหรือการคิดค่าใช้จ่ายกับผู้เรียนที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ)
.
วิธีการหนึ่ง คือการให้โรงเรียนเปิดเผยต่อสาธารณะถึงข้อมูลรายรับรายจ่าย รวมถึงประเภทและปริมาณของรายรับทั้งหมดที่ได้จากผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงเรียนคิดค่าใช้จ่ายแอบแฝงและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการตรวจสอบ
.
3. #เติมสวัสดิการเด็กโตถ้วนหน้า ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอื่นๆ
.
สำหรับการกำจัดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาด้านอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่และอาจเป็นที่ถกเถียงว่าควรเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของโรงเรียนหรือไม่ในเชิงการบริหารจัดการ (เช่น ค่าเดินทาง) ทางออกที่อาจเรียบง่ายกว่าในเชิงปฏิบัติ คือการจัดสรรสวัสดิการสำหรับ “เด็กโต” (7-22 ปี) แบบถ้วนหน้า ซึ่งทาง Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต เคยคำนวณไว้ว่าระดับที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และเป็นไปได้ในเชิงงบประมาณ อยู่ที่ประมาณ 800 บาท/เดือน
.
แต่นอกจากการทำให้ทุกคนได้ “เรียนฟรีจริง” แล้ว ในระยะสั้น การนำเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้าสู่ระบบ ต้องทำควบคู่กับการสนับสนุนโรงเรียนในการฟื้นฟูนักเรียนที่กลับมาเรียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของ (i) การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยไป (learning loss) ผ่านการออกแบบเครื่องมือเพื่อให้คุณครูใช้วัดระดับการเรียนรู้ถดถอยรายบุคคลหรือการจ้างครูผู้ช่วยเพิ่ม และ (ii) การฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าเดิม ผ่านการออกแบบเครื่องมือให้ครูเท่าทันอาการทางสุขภาพจิตของนักเรียน และมีเครือข่ายนักจิตวิทยาที่ปรึกษาได้
.
การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่อาจใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ เราจึงไม่ควรชะล่าใจปล่อยเวลาให้ผ่านไป แต่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคตประเทศ