ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุกดิบ

ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาล “สงกรานต์”

บรรยากาศเป็นไปอย่างที่ทราบกัน

ปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ด

ทำให้เทศกาลซึ่งควรจะชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื่น สนุกสนาน มีความสุข

กลับเกิดภาวะ “หนาวในร้อน” “ท่วมในแล้ง”

กลายเป็นเทศกาล “วิปริต”

 

แม้ไม่ได้สนุกสนาน รื่นเริงกับเทศกาลสงกรานต์

แต่โหยหาอยากสัมผัสบรรยากาศงานเฉลิมฉลองบ้าง

โปรดพลิกไปที่หน้า 30

ณัฐพล ใจจริง แห่งคอลัมน์ My Country Thailand ยังคงพาเราย้อนอดีตไปเที่ยวงาน “วันรัฐธรรมนูญ” อย่างต่อเนื่อง

อาจมีคนตั้งคำถามว่า ทำไม “ณัฐพล ใจจริง” ถึงให้ความสำคัญกับงานเฉิมฉลองนี้นัก

คงต้องย้อนกลับไปอ่านคอลัมน์นี้ ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ณัฐพล ใจจริง เท้าความถึงคำว่าจุลประวัติศาสตร์ (Microhistory) ผ่านคำอธิบายของชาติชาย มุกสง (2553-2554)

ว่าเป็นการศึกษาที่เน้นหนักในประเด็นหรือพื้นที่ขนาดเล็กที่ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์

เพื่อให้เข้าใจในประเด็นนั้น เพื่อเข้าใจหรือสะท้อนถึงสิ่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ถือเป็นความพยายามเข้าใจจิตสำนึกแห่งยุคสมัยของผู้คนในอดีต เพื่อที่จะเข้าใจคนอื่นและตัวเราในปัจจุบัน

อันเห็นตัวอย่างได้จาก Mona Ozouf (1988) นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่บุกเบิกศึกษางานเฉลิมฉลองการปฏิวัติที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789

ด้วยแลเห็นว่า เป็นงานฉลองแห่งชาติที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของพลเมืองฝรั่งเศสแบบ “ใหม่” ขึ้น

ซึ่งหากนำแนวทางข้างต้นมาเป็นกรอบในการศึกษา “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ของไทยที่เกิดขึ้นทันทีภายหลังการปฏิวัติ 2475 จวบจนถึง 2484 ที่สงครามโลกระเบิดขึ้น

เราย่อมสามารถแสวงหาความหมาย และตีความบทบาทของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่มีต่อชีวิตของผู้คนภายหลังการปฏิวัติในช่วงราว 1 ทศวรรษ ที่ก่อให้เกิดกระแสความเชื่อ สำนึกและวัฒนธรรมของพลเมืองไทยแบบใหม่ได้

ถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ กิจกรรมใหม่ กำเนิดสัญลักษณ์ใหม่ คุณค่าใหม่ การมีชีวิตสาธารณะ การเกิดตัวตนแบบใหม่

รวมถึงความสุข ความรื่นเริง ความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยด้วยเช่นกัน

ณัฐพล ใจจริง จึงสรุปว่า การศึกษางานฉลองรัฐธรรมนูญของไทย เป็นความพยายามคืนเสียง คืนพื้นที่ คืนความหมายของสิ่ง ประเด็น หรือสำนึกของผู้คนในอดีตที่ถูกมองข้ามหรือเคยถูกประเมินว่าไม่มีความสำคัญ ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ณัฐพล ใจจริง พาร่วมคณะไปกับ “พลนิกรกิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2482 ในภาคกลางคืน

ท่ามกลางความครึกครื้นของดนตรีแจ๊ซ

ดนตรีแจ๊ซที่ถือเป็นตัวแทนความเป็นสมัยใหม่ในยุคนั้น

โดยกระแสแจ๊ซและลีลาศแพร่หลายจากอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 2450

จากนั้น แพร่หลายผ่านแผ่นเสียงและเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงทศวรรษ 2460 ซึ่งน่าสังเกตว่า แม้นราชสำนักในระบอบเก่าจะรับอิทธิพลดนตรีตะวันตกเข้ามา

แต่มุ่งเน้นไปในทางคลาสสิคที่มีแบบแผน

ดังนั้น ช่วงปลายระบอบเก่า ถึงดนตรีแจ๊ซจะเริ่มเข้ามา

ก็ไม่ได้รับความนิยมจากชนชั้นสูงแต่อย่างใด

 

ณัฐพล ใจจริง ยกข้อมูลจากนริส จรัสจรรยาวงศ์ (2563) ว่า อาจด้วยภูมิหลังของดนตรีแจ๊ซที่มาจากคนผิวสีผู้ต่ำต้อยในอเมริกาและละตินอเมริกา

อีกทั้งเกี่ยวข้องการเรียกร้องเสรีภาพและบ่นเล่าถึงความไม่พอใจในความอยุติธรรมเป็นดนตรีที่ไม่มีแบบแผนการเล่น แต่เป็นการด้นสด (improvisation) ด้วยไหวพริบปฏิภาณ

จึงอาจมีผลทำให้ชนชั้นสูงในระบอบเก่าสยามไม่นิยมดนตรีประเภทนี้นัก

จนต่อมา ในช่วงปลายระบอบเก่า (2471) มีการตั้งวงดนตรีแจ๊ซชาย และภายหลังการปฏิวัติ 2475 ตั้งวงแจ๊ซหญิงขึ้น (2478) และแจ๊ซเริ่มปรากฏในโลกของงานสังคม งานเต้นรำ เบียร์ฮอลล์ที่ให้อารมณ์ดนตรีครึกครื้น พลิ้วไหวเป็นอิสระในช่วงปลายทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา

พ.ศ.2482 กรมโฆษณาการก่อตั้งวงดนตรีแจ๊ซขึ้น มีหน้าที่บรรเลงเพลงผ่านสถานีวิทยุ เล่นตามงานรื่นเริง ต่อมาพัฒนาเป็นวงสุนทราภรณ์

และดนตรีแจ๊ซที่ว่านี้ ก็ได้บรรเลงอย่างครึกครื้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 ด้วย

ถือเป็น “จุลประวัติศาสตร์” อันน่าเรียนรู้ ในภาวะของ “สงกรานต์” ที่ไร้การเฉลิมฉลองในปีนี้ •