สุจิตต์ วงษ์เทศ/มรดกจากความตาย ยุคแรกๆ สืบถึงปัจจุบัน

สุจิตต์ วงษ์เทศ/www.sujitwongthes.com

งานศพ (21)

มรดกจากความตาย

ยุคแรกๆ สืบถึงปัจจุบัน

งานศพในไทยเป็นมรดกตกทอดยาวนานหลายพันปีมาแล้ว ประเพณีพิธีกรรมหลายอย่าง ปรับเปลี่ยนไปก็มี สืบทอดไม่ขาดสายก็มี เลิกร้างไปก็มี

ความหมายของประเพณีพิธีกรรมเหล่านั้นไม่คงที่ ถึงทุกวันนี้รู้บ้างไม่รู้บ้าง บางทีคิดว่ารู้ แต่รู้คลาดเคลื่อนก็ไม่น้อย

สมัยอยุธยา มีเผาศพตามประเพณีรับจากอินเดีย แต่ยังสืบเนื่องเก็บกระดูกตามคติดั้งเดิม พระบรมอัฐพระเจ้าแผ่นดินเชิญโดยเรือนาคไปทางแม่น้ำ เพื่อบรรจุในพระสถูปที่กําหนด หลังมีพระเมรุมาศ พระบรมศพถูกเชิญโดยราชรถ แต่หัวท้ายราชรถเป็นรูปนาค สัญลักษณ์ตกค้างจากเรือนาค เวชยันตราชรถ ทํากระหนกคล้ายเศียรนาคสัญลักษณ์โขนเรือนาค ในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากหนังสือ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก 2539)

เชิญอัฐิไปทางน้ำ

โลกหลังความตาย ได้แก่ เมืองฟ้าไปทางน้ำ เป็นความเชื่อดั้งเดิมดึกดําบรรพ์ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ครั้นหลังรับพุทธกับพราหมณ์ ยังสืบเนื่องในงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินไปทางน้ำโดยเรือนาค ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 กระทั่งยุคต้นอยุธยา หลัง พ.ศ.2000 (ก่อนมีพระเมรุมาศ)

สมัยอยุธยา มีเผาศพตามประเพณีรับจากอินเดีย แต่ยังสืบเนื่องเก็บกระดูกตามคติดั้งเดิม พระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินเชิญโดยเรือนาคไปทางแม่น้ำ เพื่อบรรจุในพระสถูปที่กําหนด หลังมีพระเมรุมาศ พระบรมศพถูกเชิญโดยราชรถ แต่หัวท้ายราชรถเป็นรูปนาค สัญลักษณ์ตกค้างจากเรือนาค

เวชยันตราชรถ ทํากระหนกคล้ายเศียรนาคสัญลักษณ์โขนเรือนาค ในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากหนังสือ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก 2539)

เมรุปูนวัดสระเกศ (ถ่ายบนภูเขาทอง ราว ร.5 จากหนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีตของ เทพชู ทับทอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2518)

เมรุเผาศพในวัด

ร.5 โปรดให้สร้างเมรุเผาศพอย่างถาวรด้วยปูนไว้ในวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

เมรุปูนวัดสระเกศ (ถ่ายบนภูเขาทอง ราว ร.5 จากหนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีตของ เทพชู ทับทอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2518)

เมรุถาวรแห่งแรกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ราวเกือบ 100 ปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องใช้สืบจนทุกวันนี้ แต่เอกสารบางเล่มระบุว่ามี “เมรุปูน” วัดสระเกศใช้เผาศพแล้วตั้งแต่สมัย ร.3

กว่าเมรุเผาศพจะเริ่มมีในวัดอื่นๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาอีกนานมากเกือบ 100 ปี

จากนั้นค่อยๆ แพร่เข้าไปอยู่ในวัดสําคัญๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเรือน พ.ศ.2500 หรือก่อนนั้นไม่นานนัก

เมรุลอย แยกส่วนทำด้วยไม้เป็นชิ้นๆ แล้วประกอบใช้งาน เสร็จงานถอดเก็บไว้ใช้ต่อไป (ภาพจากมติชน)

เมรุลอย แยกส่วนทำด้วยไม้เป็นชิ้นๆ แล้วประกอบใช้งาน เสร็จงานถอดเก็บไว้ใช้ต่อไป (ภาพจากมติชน)

ต่อมาบรรดาชนชั้นนําและชนชั้นกลาง “กระฎุมพี” มีบทบาทสูงขึ้น จึงต้องการเผาศพบรรพชนบนเมรุแบบเจ้านายและคนชั้นสูง เลยยกเอาเมรุเจ้านายเป็นแบบสร้างเลียนแบบไว้ตามวัดสําคัญๆ

นานเข้าก็กระจายไปวัดราษฎรเล็กๆ ตามชานเมืองจนถึงวัดสําคัญของจังหวัด แล้วมีไปทั่วประเทศ

“เมรุลอย” ถอดได้ (แบบ knock-down) ทําด้วยไม้ชิ้นเล็กๆ ย่อส่วน เลียนแบบเมรุหลวงของเจ้านายเพื่องานศพขุนนางและคนมีฐานะมั่งคั่งเลียนแบบพิธีหลวง ต่อมามีผู้ทําขึ้นเพื่อให้คนมีฐานะเช่าไปทํางานศพสามัญชนคนทั่วไป

แต่คนฐานะด้อยกว่าก็ทําเชิงตะกอนประดับประดาด้วยเครื่องแกะสลักเป็นลวดลาย เช่น จักหยวก-แทงหยวก เป็นต้น