สาวน้อยร้อยชั่ง “ร้อยชั่ง” คือ กี่บาท ใช้เรียกแทนอะไรได้บ้าง?

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ.2548

‘ชั่ง’ เป็นมาตราเงินสมัยโบราณ 1 ชั่งเท่ากับ 80 บาท 100 ชั่งเท่ากับ 8,000 บาท ความหมายของคำว่า ‘ร้อยชั่ง’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีทั้งความหมายตรงไปตรงมา และความหมายเปรียบเทียบ ดังนี้

“จำนวนเงิน 8,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากในสมัยหนึ่ง, โดยปริยายหมายถึง ลูกสาวที่พ่อแม่สงวนอย่างมีค่าเท่ากับเงิน 100 ชั่ง”

วรรณคดีใช้คำว่า ‘ร้อยชั่ง’ แทนผู้หญิงหลายคน อาทิ นางพิมพิลาไลย นางลาวทอง นางแก้วกิริยา นางศรีมาลา เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนส่งตัวนางพิมพิลาไลย แม่ศรีประจัน พูดกับลูกสาวว่า

“โอ้เจ้าพิมนิ่มนวลของแม่เอ๋ย เจ้าไม่เคยให้ชายเสนหา

ร้อยชั่งจงฟังคำมารดา นี่คู่เคยของเจ้ามาแต่ก่อนแล้ว

ร้อยคนพันคนไม่ดลใจ จำเพาะเจาะได้เจ้าพลายแก้ว”

หลังจากแม่สอนลูกเสร็จ ออกจากห้องหอไปแล้ว ฝ่ายลูกเขยที่คุณสมบัติไม่เข้าตาแม่ยายก็รีบ ‘เข้านั่งแนบแอบใกล้แล้วกล่าววอน’ นางพิมว่า

“ร้อยชั่งนั่งนิ่งเสียไยเล่า ขอเชิญเจ้าร่วมมุ้งเสมอหมอน

ร้อนฤๅจะกระพือให้พิมนอน พี่อยู่ก่อนคอยเจ้าถึงสามวัน”

 

จะสาวไทยหรือสาวลาว พลายแก้วก็เรียกขานว่า ‘ร้อยชั่ง’ ทั้งสิ้น ดังตอนที่ได้นางลาวทอง

“มือคลำขยำถูกเจ้าลาวทอง นางนิ่งอยู่มิได้ร้องประการใด

หยุดยั้งนั่งใกล้ใครนี่หือ หาอออือออกปากกระไรไม่

ต่อปัดมือจากอกจึงตกใจ คิดว่าใครนี่เล่าเจ้าลาวทอง”

เมื่อสาวเอาแต่นั่งนิ่งไม่พูดไม่จา หนุ่มหรือจะยอมเสียเวลา

“ร้อยชั่งนั่งไยไม่บังควร เวลาจวนรุ่งสางสว่างห้อง

เลียมลูบจูบโฉมประโลมลอง ประคองกอดอุ้มแก้วขึ้นเตียงพลัน”

 

ก่อนที่พระยาสุโขทัยจะขายฝากนางแก้วกิริยากับขุนช้าง ก็ขอร้องลูกสาวว่าพ่อเก็บรักษาเงินพินัยไว้ เป็นหนี้หลวงอยู่ 50 ชั่ง ยังขาดเงินอีก 15 ชั่ง จึงคิดจะกู้เงินขุนช้างโดยเอาลูกขัดดอก ขอให้ลูก ‘ช่วยหลัง’ คือ ช่วยพ่อให้พ้นจากการถูกโบยหลัง

“จึงปรึกษาลูกน้อยเจ้าร้อยชั่ง ช่วยหลังพ่อเถิดเจ้าแก้วกิริยา

ลูกสาวก็ยอมพร้อมใจ จะขายไว้กับใครคุณพ่อขา

เจ้าขรัวบอกไปมิได้ช้า ลูกเกลอของข้าอยู่สุพรรณ”

 

จากรุ่นพ่อแม่มารุ่นลูก พลายงามหรือพระไวย (ลูกชายพลายแก้วหรือขุนแผน กับนางพิมพิลาไลยหรือวันทอง) ก็ใช้คำว่า ‘เจ้าร้อยชั่ง’ เรียกนางศรีมาลาเช่นกัน เมื่อถูกนางประชดว่ามาเข้าหอช้าเพราะนางสร้อยฟ้า เมียพระราชทานนี่เอง

“หม่อมขามาไยจนค่อนคืน หลับได้ตื่นแล้วฤๅจึงมานี่

เมื่อจะมาลาหล่อนแต่โดยดี ฤๅหล่อนหลับลอบหนีมากระมัง”

พระไวยจึงปลอบศรีมาลาว่า

“อนิจจาแก้วตาของพี่เอ๋ย อย่างอนว่าไปเลยเจ้าร้อยชั่ง

 

นอกจากใช้คำว่า ‘ร้อยชั่ง’ หรือ ‘เจ้าร้อยชั่ง’ กับสาวๆ ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขหรือเป็นคู่ครองแล้ว ยังใช้กับหญิงเลยวัยสาวได้อีกด้วย ดังตอนที่นางวันทองจะไปช่วยงานแต่งงานพระไวยลูกชาย ขุนช้างไม่ไว้ใจขุนแผนผัวเก่าของนาง จึงกำชับว่า

“ร้อยชั่งผัวจะสั่งไปหน่อยนะ ถ้าพบปะอ้ายขุนแผนมันไต่ถาม

อย่าพูดจาปราศรัยอ้ายบ้ากาม ถ้าลวนลามแล้วจงด่าให้สาใจ”

ในที่นี้ คำว่า ‘ร้อยชั่ง’ มิได้เป็นแค่คำเรียกขานเท่านั้น ยังเป็นราคาหรือค่าตัวที่ระบุถึงคุณค่าของหญิงผู้นั้นโดยตรงว่าไม่ใช่หญิงทั่วไป แต่เป็นหญิงที่ดีงาม คือทั้งงามทั้งดี ถ้าใครจะแต่งงานด้วย ต้องเสียสินสอดแพงมากถึง 100 ชั่ง หรือแปดพันบาท เป็นจำนวนที่สูงลิ่วในสมัยก่อน

 

น่าสังเกตว่าคำนี้มิได้ใช้กับคนเท่านั้น ใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ คนก็มีทั้งหญิงและชาย ดังจะเห็นได้จากคำว่า ‘พ่อร้อยชั่ง’ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เมื่อแม่ลูกที่พลัดพรากได้พบกัน นางสุวรรณอำภากอดพระลักษณวงศ์ไว้แนบอก ต่างคนต่างทักทาย นางเรียกลูกชายว่า ‘พ่อร้อยชั่ง’

“พ่อเนื้ออุ่นบุญช่วยพ่อร้อยชั่ง ชีวิตยังคงคืนมาเห็นหน้า

พระลูกเอ๋ยน่าสงสารพระมารดา มาอยู่ในหัตถาพญายักษ์”

ทันทีที่พระลักษณวงศ์เอ่ยว่าจะคิดบัญชีกับท้าววิรุญมาศ พญายักษ์ที่ลักพาพระมารดาให้สาสม

“ลูกเรียนรู้ครูสอนการสงคราม ไม่ครั่นคร้ามยักษาอย่าอาวรณ์

ถึงมันมีฤทธิรงค์ทำองอาจ เศียรจะขาดลงด้วยพระแสงศร

แต่ตัวข้ากับพญาอัสดร ขอราญรอนรบรับกับกุมภัณฑ์”

นางสุวรรณอำภารีบท้วงด้วยความเป็นห่วง

“พ่อร้อยชั่งฟังแม่เถิดลูกแก้ว แม่คิดแล้วยังไม่ควรจะหุนหัน”

นอกจากนี้ กวียังใช้คำว่า ‘ร้อยชั่ง’ กับนกด้วย ดังตอนที่พระโคบุตรช่วยเหลือลูกนกที่ ‘ขนระบัดพึ่งขึ้นพอบินได้’ ให้พ้นกรงเล็บของ ‘เหยี่ยวตะไกรโฉบฉาบจะคาบกิน’ นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” บรรยายถึงพระโคบุตรปลอบลูกนกที่ตื่นตระหนกไม่ผิดอะไรกับพ่อปลอบลูกน้อยให้หายกลัว

“พระหัตถ์ลูบลูกนกอย่าตกใจ เหยี่ยวมันไปลับแล้วนะแก้วตา

นี่ร้อยชั่งรวงรังเจ้าอยู่ไหน เหยี่ยวจึงไล่ลูกรักเป็นหนักหนา”

คำว่า ‘พ่อร้อยชั่ง’ ที่นางสุวรรณอำภาเรียกลูกชายและ ‘ร้อยชั่ง’ ที่พระโคบุตรเรียก ‘ลูกนกขุนทอง’ หาได้เกี่ยวกับจำนวเงินสินสอดที่เล่ามาข้างต้นแต่อย่างใดไม่ หากเป็นคำเรียกที่แทนความรักความห่วงใยอย่างยิ่งของแม่และพ่อที่มีต่อลูก ไม่ว่าลูกแท้ๆ หรือรักเสมือนลูกก็ตาม

‘ร้อยชั่ง’ จึงบอกถึง ‘คุณค่า’ และ ‘อารมณ์’ ไปพร้อมกัน •