หายนะนิวเคลียร์! ยกระดับสงครามยูเครน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“กองทัพรัสเซียจัดอยู่ในลีกคนละระดับกับกองทัพยูเครน และแน่นอนว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ แต่ยูเครนไม่ใช่ จนถึงวันนี้ กองทัพยูเครนต่อสู้ด้วยความชำนาญและด้วยจิตใจมุ่งมั่นอย่างน่าชื่นชม แต่อุปสรรคของการรุกทางทหารของกองทัพรัสเซียก็คือ ธรรมชาติของตัวสงครามเอง… [ดังนั้น] รัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กเพื่อให้ตนเป็นผู้ที่ดำรงความเหนือกว่าในพื้นที่การรบ”

Liana Fix and Michael Kimmage (3/4/2022)

โลกของยุคสงครามเย็นจบลงด้วยความรู้สึกโล่งใจประการหนึ่งว่า ปัญหาการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นคู่ขัดแย้งในเวทีการเมืองโลกได้สิ้นสุดลง และส่งผลให้ปัญหาความกลัวในเรื่องของ “สงครามนิวเคลียร์” ได้สิ้นสุดลงตามไปด้วย

โลกของยุคหลังสงครามเย็นจึงไม่ใช่โลกของอาวุธนิวเคลียร์ หากแต่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (non-traditional security)

ในอีกด้าน โลกในยุคหลังสงครามเย็นเป็นเรื่องของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย อันเป็นผลพวงจากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 จนกล่าวกันว่า “โลกหลัง 11 กันยาฯ” ในมิติด้านความมั่นคงเป็น “ยุคของการก่อการร้าย”

ถ้าจะมีความกังวลกับเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะเป็นเรื่องของ “การก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์” (nuclear terrorism) หรือเป็นเรื่องของการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง (WMD)

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในแบบยุคสงครามเย็น

แม้ในอีกมุมหนึ่งของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในช่วงระยะใกล้ที่ผ่านมา ความกังวลเช่นนี้เกิดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ในทำนองเดียวกัน ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาสงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่เช่นในสมัยสงครามเย็น

เมื่อเกิดการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการที่ประธานาธิบดีปูตินประกาศเตรียมพร้อมกองกำลังรบทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย แน่นอนว่าการประกาศเช่นนี้ได้สร้างความตระหนกตกใจให้แก่ประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก

สภาวะเช่นนี้นำไปสู่คำถามสำคัญว่าผู้นำรัสเซียจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือในการ “ปิดเกมสงคราม” ในยูเครนหรือไม่… ประธานาธิบดีปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีด้วยเหตุผลทางทหารหรือไม่ คือเพื่อให้กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายที่ดำรงความเหนือกว่ากองทัพยูเครนในสนามรบ

ปัญหาทางทหาร

ประเด็นของสงครามนิวเคลียร์ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากปฏิบัติการทางทหาร อันเนื่องมาจากการที่กองทัพรัสเซียซึ่งตัดสินใจเปิดการรุกทางทหารตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์นั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และยังไม่สามารถเข้าควบคุมยูเครนได้ตามที่ประธานาธิบดีปูตินคาดหวังไว้ แม้ทางฝ่ายรัสเซียจะทุ่มกำลังรบเต็มที่ในการเข้าตีที่หมายทางทหาร ตลอดรวมถึงเมืองหลักและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ท่าเรือ เป็นต้น แม้จะล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง ไม่เพียงแต่การยึดเคียฟ (Kyiv) ที่เป็นเมืองหลวงไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น หากยังไม่สามารถยึดคาร์คิฟ (Kharkiv) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครนได้ด้วย กองทัพรัสเซียสามารถยึดได้เพียงเคอร์ซอน (Kherson) ซึ่งเป็นเมืองท่าหลักของยูเครนในทะเลดำ ทั้งที่การรบเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหลายเมือง

การรบเป็นไปอย่างหนักในหลายพื้นที่ และสร้างปัญหาให้เกิดผู้อพยพขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการอพยพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกด้วย จนวันนี้ยุโรปกำลังเผชิญกับ “วิกฤตผู้อพยพ” ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนับจากการอพยพของชาวมุสลิมที่เคลื่อนตัวเข้ายุโรปในปี 2015 หากครั้งนี้กลับเป็นการอพยพของคนในภูมิภาค อันเป็นผลโดยตรงจากการสงคราม

ผลจากการเปิดสงครามเช่นนี้ทำให้รัสเซียถูกต่อต้านและ/หรือถูกประท้วงอย่างมากจากเวทีโลก โดยเฉพาะการถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ และการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าการแซงก์ชั่นด้วยการตัดออกจากระบบการเงินโลกหรือ “สวิฟต์” (SWIFT) นั้น จึงเป็นเสมือนกับการทิ้ง “ระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของรัสเซีย ตลอดรวมถึงการงดการให้บริการบัตรเครดิตที่ล้วนเป็นสัญญาณของการ “โดดเดี่ยว” ทางเศรษฐกิจที่กระทำต่อรัฐบาลรัสเซียโดยตรง และส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลง

แต่จะไปถึงจุดที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของนโยบายสงครามของรัสเซียหรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นของการถกเถียง

ดังนั้น ผลกระทบอย่างสำคัญทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดกับรัสเซียเช่นนี้ ในด้านหนึ่งจึงเป็นเสมือนกับความพยายามที่จะกดดันให้ผู้นำรัสเซียเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อยุติสงครามในยูเครน แต่ในอีกด้านหนึ่งการกดดันดังกล่าวจะเป็นดังการผลักประธานาธิบดีปูตินให้ “เข้ามุมอับ” หรือไม่ และอาจทำให้รัสเซียจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยการยกระดับสงครามให้สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้นำรัสเซียออกมาสั่งให้ “กองกำลังนิวเคลียร์” ของรัสเซียเตรียมพร้อม ด้วยคำกล่าวว่าระบบอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียจะ “เข้าสู่โหมดพิเศษของหน้าที่การรบ” (special mode of combat duty)

แม้ในทางภาษายุทธศาสตร์ คำสั่งของประธานาธิบดีปูตินจะไม่มีความชัดเจน แต่ก็ส่งผลอย่างมากกับการเตรียมรับมือกับปัญหาสงครามนิวเคลียร์ของฝ่ายตะวันตก อีกทั้งยังมีคำเตือนสำทับอีกว่า หากตะวันตกตัดสินใจแทรกแซงสงครามในยูเครนแล้ว ตะวันตก “จะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น” ซึ่งยิ่งทำให้สังคมโลกทวีความกังวลกับปัญหาสงครามนิวเคลียร์มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การยกระดับสงครามเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลคล้ายคลึงกันว่า ผู้นำรัสเซียอาจตัดสินใจเอาชนะสงครามยูเครนด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือ ท่าทีเช่นนี้ย่อมทำให้ปัญหาสงครามนิวเคลียร์หวนคืนสู่เวทีการเมืองโลกอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

อาวุธนิวเคลียร์

สงครามนิวเคลียร์!

หากพิจารณาถึงการยกระดับของสงครามแล้ว อาจทำให้เกิดการคาดคะเนว่าในท้ายที่สุดแล้ว รัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้สามารถเอาชนะการต้านทานได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจเพื่อดำรงความเหนือกว่าในทางทหารไว้ได้ ซึ่งเราอาจสร้างสถานการณ์จำลองในกรณีนี้ได้ใน 3 รูปแบบหลัก คือ

1) รัสเซียอาจโจมตีด้วยการกระทำต่อเป้าหมายที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครน เพราะส่วนหนึ่งยูเครนเป็นดัง “แหล่งพลังงาน” ที่สำคัญของยุโรป เนื่องจากยูเครนมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากถึง 15 โรง

หากรัสเซียใช้อาวุธของสงครามตามแบบโจมตีโดยตรงต่อเป้าหมายดังกล่าว ย่อมจะทำให้เกิดการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือโดยนัยคือเกิด “การระเบิดนิวเคลียร์” ขึ้นในยูเครน

ฉะนั้น การโจมตีเช่นนี้อาจมีนัยถึงการโจมตีด้วยความตั้งใจ หรือเกิดจากสถานการณ์การรบติดพันดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ซึ่งหากเกิดขึ้นในตัวแบบเช่นนี้ ก็อาจเทียบเคียงได้กับกรณีของปัญหา “วิกฤตโรงไฟฟ้าที่เชอร์โนบิล” ที่เกิดขึ้นในยูเครนในยุคของสหภาพโซเวียตมาแล้ว แต่การโจมตีอาจมีขอบเขตใหญ่ของการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีมากกว่า หากมีการระเบิดเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ ชาติตะวันตกจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ แต่สหประชาชาติเองก็พยายามอย่างมากที่จะทำให้พื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดจากการรบของทั้งสองฝ่าย

ปัญหาความกังวลในอีกด้านอาจเป็นเสมือนเรื่องของอุบัติเหตุในยามสงคราม เช่น กระสุนปืนใหญ่หรือจรวดที่เกิดจากการสู้รบตกใส่วัสดุที่เป็นสารกัมมันตรังสี และผลของการระเบิดย่อมก่อให้เกิดการแพร่กระจายของรังสี

แต่ข่าวล่าสุดที่ปรากฏนั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลักของยูเครนน่าจะถูกควบคุมด้วยกองทหารของรัสเซียแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้องเผชิญกับการโจมตีทางทหารนั้น อาจไม่เป็นประเด็นในปัจจุบัน

2) รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี เพื่อยุติปัญหาการต่อสู้ของกำลังรบยูเครน เนื่องจากสงครามไม่เป็นไปดังเป้าหมายที่รัสเซียต้องการ ที่จะสามารถเผด็จศึกด้วยการยึดยูเครนให้ได้อย่างรวดเร็ว หัวรบนิวเคลียร์ที่ติดตั้งกับขีปนาวุธระยะใกล้ “อาจจะ” เป็นทางเลือกโดยตรง และรัสเซียมั่นใจได้ว่า ยูเครนไม่มีขีดความสามารถทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่มีความกังวลที่จะต้องระวังการ “ตอบโต้กลับ” ด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงข้าม

แต่ในทางการเมืองและการทหารก็คือ ฝ่ายตะวันตกจะยอมรับกับให้รัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในการโจมตียูเครนเพียงใด

และความคาดหวังของรัสเซียว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีอย่างจำกัดจะสามารถทำให้เกิด “สงครามจำกัด” ได้จริงหรือไม่ (ปัญหาในข้อนี้เป็นเรื่องของ “สงครามนิวเคลียร์จำกัด” ในทางทฤษฎี)

3) หากความตึงเครียดทวีถึงจุดสูงสุด อันเป็นผลจากการที่ตะวันตกตัดสินใจใช้กำลังรบเข้าแทรกแซงการรุกทางทหารของกองทัพรัสเซีย และผู้นำรัสเซียตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะ “กดปุ่ม” ยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ โดยมุ่งทำลายเป้าหมายทั้งในส่วนของยูเครน และของฝ่ายตะวันตก

สถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่สภาวะของ “สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่” ระหว่างรัสเซียกับรัฐมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง และย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงในเวทีโลก อีกทั้งอาจจะต้องยอมรับว่า ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ดังจะเห็นได้จากผลที่เกิดกับฮิโรชิมาและนางาซากิจากการทำลายด้วยระเบิดปรมาณูในปี 1945 มาแล้ว แต่อำนาจการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันสูงกว่ามาก

ดังนั้น หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง สิ่งที่จะเกิดตามมาย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดคะเนได้เลย และจะเป็นโลกในอนาคตอีกชุดที่คาดเดาไม่ได้ด้วย (ปัญหาในข้อสามเป็นเรื่องของ “สงครามนิวเคลียร์ทั่วไป” ในทางทฤษฎี)

อนาคต

สถานการณ์สงครามยูเครนในปัจจุบัน จึงไม่เพียงแต่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตในด้านต่างๆ เท่านั้น หากกำลังสร้างความกังวลต่อ “ปัญหาสงครามนิวเคลียร์” ให้กลับมาสู่เวทีระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง จนบางที เราอาจต้องหวนคืนกลับไปเรียนรู้ประสบการณ์ของยุคสงครามเย็นใน “การควบคุมอาวุธและจำกัดอาวุธนิวเคลียร์” อีกครั้งในโลกศตวรรษที่ 21… โลกกำลังถูกท้าทายอย่างมากอีกครั้งจากยุคโควิดจนถึงยุคสงครามยูเครน และเราคงได้แต่ภาวนาให้การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นเพียงคำขู่

สุดท้ายนี้ เราคงได้แต่หวังว่าประเด็นที่กล่าวในข้างต้นจะไม่เป็นจริง หากเป็นเพียงข้อถกเถียงในทางทฤษฎีของยุทธศาสตร์นิวเคลียร์

และหวังเป็นที่สุดว่าสงครามยูเครนจะไม่พาโลกก้าวผ่าน “ธรณีประตู” ของสงครามนิวเคลียร์ (nuclear threshold) ในศตวรรษที่ 21!