สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เวียดนามศึกษา คารวะลุงโฮ (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ณ ที่ประชุมเยียน ห่ง ได้สาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ประชาชนได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะสละแม้ชีวิต
หากผู้ใดต้องการที่จะแย่งชิงแผ่นดินเวียดนาม
จงประหัตประหารชีวิตผู้คนให้หมดสิ้น
หากเหลือชีวิตชาวเวียดนามแม้นเพียงผู้เดียว
แผ่นดินเวียดนามก็จะยังเป็นของเรา”

ผมปิดหน้าสมุดบันทึกเมื่ออ่านมาถึงบทเพลง เจิ่น ฮึง ด่าว เขียนโดย เหงียน อ๋าย กว๊วก นามเดิมของประธานาธิบดีโฮจิมินห์เพื่อยกย่องวีรชนผู้รักชาติ ขณะรถกำลังหยุดที่บริเวณหน้าจัตุรัสบาดิ่งห์ ใจกลางกรุงฮานอย

มองไปด้านหน้าเห็นผู้คนยืนต่อแถวยาวเหยียดตั้งแต่ริมถนนไปจนถึงหน้าอาคารหินอ่อน ภาพประธานาธิบดีโฮจิมินห์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่

พี่น้องประชาชน เด็ก ผู้ใหญ่ คนหนุ่ม คนสาว ชาวเวียด พากันมา ณ ที่แห่งนี้ อนุสรณ์สถานโฮจิมินห์ นักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกที่มีโอกาสมาเยือนจะหาโอกาสมาเพื่อคารวะ ย้อนรำลึกถึงวีรกรรมของนักต่อสู้ผู้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองที่ยิ่งใหญ่

ร่างของเขายังถูกเก็บรักษาไว้ นอนสงบนิ่งบนแท่นให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้ ศึกษา เรียนรู้ เอาแบบอย่าง สืบทอดเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันปกปักรักษาประเทศและประชาชนเวียดนามให้ก้าวรุดหน้าต่อไป

สภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีเป็นหนึ่งในคณะผู้มาเยือน ในฐานะแขกจากมิตรประเทศอาเซียนได้รับเกียรติวางพวงมาลาและเดินแถวเข้าไปคารวะลุงโฮเช้าวันนั้น

เหตุเพราะนอกจากบทบาทความร่วมมือด้านการศึกษาแล้ว บทบาททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ดำเนินคู่ขนานกันมายาวนาน มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญสนับสนุนการก่อตั้งและดำเนินงาน แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โฮจิมินห์ บ้านหนองฮาง (หนองโอน) ตำบลเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานี สถานที่ที่โฮจิมินห์เคยเดินทางมาพำนักและเคลื่อนไหวจัดตั้งพี่น้องชาวเวียดนามเพื่อต่อสู้กู้เอกราช ขับไล่การรุกรานของฝรั่งเศสจนถึงสหรัฐอเมริกา

ส่งอาจารย์ระดับผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.โสรัจ พิศชวนชม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เวียดนามศึกษาระดับแถวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่ง เป็นที่ปรึกษาโครงการตั้งแต่ต้น จนกระทั่งต่อมาได้เป็นประธานคณะกรรมการโครงการ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำ เป็นผู้จุดประกายความคิดให้จัดตั้ง ผลักดันระดมความร่วมมือทั้งไทย เวียดนามตั้งแต่แรกเริ่ม คือ ดร.ชัยพร เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี อุปนายกสภามหาวิทยาลัย

หัวหน้าคณะในการเดินทางเยือนเวียดนามเที่ยวนี้นั่นเอง

ก่อนเดินต่อไปที่ทำเนียบประธาธิบดี อาคารเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสรุกรานและยึดครองเวียดนาม ผ่านมรสุมสงครามไม่ถูกทิ้งระเบิดทำลาย เคยเป็นสถานที่ทำงานของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ จนมาถึงคนปัจจุบัน เป็นที่รับแขกเมืองคณะสำคัญๆ

ผนังอาคารทุกหลังทาสีเหลือง คนนำมาเล่าว่ามีความเป็นมาจากท่านประธานหรือลุงโฮ นิยมแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีกากี

ด้านข้างทำเนียบเดินต่อถึงกันเป็นบ้านพัก เป็นพิพิธภัณฑ์ มีทั้งห้องนอน ห้องทำงาน ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ของเดิมเมื่อครั้งลุงโฮยังมีชีวิตอยู่ ของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้ไว้ เช่น ประธานาธิบดีเลนิน แห่งโซเวียตรัสเซียมอบแจกัน ประธานเหมา เจ๋อ ตง ประเทศจีนมอบนาฬิกา นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย มอบวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อธานินทร์

จากตัวบ้านเชื่อมต่อไปถึงอุโมงค์ใต้ดินข้างบนปลกคลุมด้วยหญ้าและต้นไม้ครึ้ม ทางเดินทอดยาวออกไปโผล่ตามจุดต่างๆ ในกรุงฮานอย ถึง 5 ทาง เป็นยุทธภูมิสำหรับต่อสู้กับกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม พศ.2512

“กลางวันเป็นของเขา กลางคืนเป็นของเรา” คุณนิล คนนำทาง หรือ สหายนิล พันโทหญิงแห่งกองทัพปลดปล่อย เล่าถึงบรรยากาศเมื่อครั้งอดีต

ขณะรถวิ่งผ่านบึงน้ำใหญ่ รายรอบด้วยสวนสาธารณะแบ่งพื้นที่ไว้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับคนหนุ่มคนสาวใช้เป็นที่นัดพบ เปิดเผยความในใจต่อกัน ทางการจัดไว้ให้เป็นที่เป็นทางไป เพื่อจะได้ไม่ไปทำอะไรประเจิดประเจ้อ กระจัดกระจาย จนเสียภาพลักษณ์ของเมือง

แต่ก็ไม่วายถูกพูดยั่วล้อจากผู้คนที่ผ่านไปมาให้ชวนกันไปดูนกสองหัว ที่สวนสาธารณะยามค่ำคืนเพราะมองแต่ไกลไปที่หนุ่มสาวสองคนจับคู่คุยกัน หลายต่อหลายคู่ เห็นเป็นภาพคล้ายนกสองหัว

สวนอีกส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับคนสูงวัย โดยเฉพาะพ่อหม้าย แม่หม้าย ที่คู่ครองเสียชีวิตในสงครามจำนวนมาก มาพูดคุยรื้อฟื้นความหลังกัน หลังสงครามสิ้นสุด ประเทศกลับสู่ความสงบอีกครั้ง หลายคู่พบรักใหม่ที่สวนพ่อหม้าย แม่หม้าย ตกลงใช้ชีวิตร่วมกันต่อมาถึงวันนี้

วันที่คณะเราลัดเลาะสัมผัสบรรยากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เวียดนามเปลี่ยนแปลงมาไกล สานสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ ดำเนินเรื่อยมา ปี 2559 โครงการเวียดนามศึกษาร่วมกับสมาคมชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม มหาวิทยาลัยกวางบิงห์ และธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนา BIDV ของเวียดนาม ผู้ให้ทุนสนับสนุนการจัดตั้งแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ โฮจิมินห์ ที่บ้านหนองฮาง จะจัดงานครบรอบ 40 ปี ไทย เวียดนาม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2559

มีทั้งการบรรยายทางวิชาการ เหลียวหลังแลหน้าความสัมพันธ์ไทย เวียดนาม โดยอุปทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ เศรษฐกิจเวียดนามหลังการเปิดประชาคมอาเซียน การค้าการลงทุน โดยวิทยากรจากธนาคาร BIDV

ที่น่าสนใจ ด้านวัฒนธรรมมีการแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากประเทศเวียดนาม ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจากจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และจังหวัดนครพนม นักธุรกิจเวียดนาม นักธุรกิจไทยเชื้อสายเวียดนาม นักศึกษาไทย นักศึกษาเวียดนาม จะมาร่วมตั้งแต่เช้าถึงค่ำ

เฉพาะความสัมพันธ์ด้านการศึกษาระหว่างกันมีอย่างไร บทบาทของทั้งสองฝ่ายจะเรียกว่า รุกคืบกันไปมา หรือเรียกว่า การแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานความเป็นมิตรที่ทัดเทียมกัน ก็ตาม

เป็นไปตามพื้นฐาน “หลักการความคิดโฮจิมินห์ 7 ประการ” ข้อแรก คือ ตั้งผลประโยชน์ของประชาชนไว้สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน ที่ทั้ง 10 ประเทศรวมทั้งไทย เวียดนามให้พันธสัญญาร่วมกันไว้ว่า

“เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน”

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติของโครงการความร่วมมือต่างๆ เนื้อหา สาระ บรรยากาศและผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร นักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยผู้ผ่านประสบการณ์ตรง สะท้อนเรื่องราวและความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างทางชีวิตของแต่ละคน

น่าฟังทีเดียว