คำ ผกา | ระบบวรรณะ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

คำ ผกา

เป็นข่าวที่อ่านแล้วต้องเลิ่กลั่กเป็นที่สุด นั่นคือข่าวที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ดำริให้มีการจับตาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในขณะที่คนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังคร่ำครวญว่า ทำอย่างไรโรงเรียนทั้งประเทศไทยจะสามารถจัดการเรียนการสอนให้ได้เหมือนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และประเทศไทยนี้ก็เหมือนต้องคำสาป คือช่างเป็นประเทศที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้จริงๆ โรงเรียนสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนที่คณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย ในความเข้าใจของฉันโรงเรียนสาธิตเหมือนห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติงานจริงของนักศึกษาที่เรียนมาทางศึกษาศาสตร์ และเพื่อจะได้ทดลองทฤษฎีการศึกษาใหม่ๆ

เหมือนเป็นกึ่งโรงเรียนจริงกึ่งสนามการเรียนรู้ของคนที่เรียนด้านการศึกษา อะไรที่ทำแล้วดี ตกผลึกเป็นแบบแผน จะได้ส่งต่อองค์ความรู้นี้ไปยังโรงเรียนอื่นๆ หรือเป็นการสะสมต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ย่อมได้

แต่สาธิตต่างๆ ในประเทศไทยเท่าที่เรารู้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือมีส่วนที่เป็นเช่นนั้นไม่มาก

เพราะกลายเป็นว่า โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ กลายเป็นอีกหนึ่งของระบบโรงเรียน “อีลิต” ของสังคมไทย คนที่จะเอาลูกเข้าโรงเรียนสาธิตได้ก็คือ หนึ่ง ต้องเรียนเก่งมากๆๆๆๆๆๆๆ จนสอบเข้าได้เอง

เป็นลูกของอาจารย์หรือบุคลากรในมหาวิทยาลัยนั้นๆ

หรือสาม เขาว่ากันว่าแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียนสาธิตบางแห่งนั้นสูงลิ่ว

และคงไม่เกินความจริงไปนักที่จะบอกว่า ด้วยเหตุที่การเข้าโรงเรียนสาธิตเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย จึงเกิดทั้งธุรกิจโรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนประถม เพื่อติวหรือปั้นเด็กเข้าโรงเรียนสาธิตโดยเฉพาะ หรือธุรกิจโรงเรียน “ติวเด็กอนุบาล” เพื่อสอบเข้าโรงเรียนสาธิต

และเร็วๆ นี้ไม่ใช่หรือที่เราเพิ่งได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการสอบเข้าอนุบาลของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งที่หากเด็กร้องไห้จะถูกตัดคะแนน และแม้กระนั้นก็ยังมีพ่อแม่แย่งกันจะเอาลูกไปเข้าโรงเรียนนี้ (เพราะถ้าโรงเรียนต้องง้อลูกค้า คงไม่มีเกณฑ์บ้าๆ บอๆ แบบนี้ออกมา แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันที่จะได้เจ้าอนุบาลที่นี่มันสูงมาก)

ประเทศไทยจึงน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบโรงเรียนอันหลากหลายวาไรตี้สำหรับคนหลากหลายชนชั้นในประเทศนี้ในท่ามกลางความไม่หลากหลายของอะไรเลยในประเทศของเรา

ลองคิดดูว่าเปิดมือถือขึ้นมาอ่านข่าว เราเจอทั้งข่าวครูใส่ชุดข้าราชการสีกากี กำลังจับเด็กใส่ชุดนักเรียนคอซองกล้อนผมประจานต่อหน้าเพื่อนเพราะตัดผมผิดระเบียบ

ขณะเดียวกัน เราก็ได้อ่านข่าวว่ามีโรงเรียนหนึ่งผู้บริหารเก่ง มีวิสัยทัศน์ นักเรียนไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน แถมยังมีวิชาเก๋ๆ ให้เรียน เช่น วัยรุ่นศาสตร์ วิชาการเงิน วิชาการว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด เรียนวิชาประวัติศาสตร์แบบ “ล้ำ” ไม่ใช่วิชาประวัติศาสตร์ “ล้างสมอง” อย่างที่เด็กไทยส่วนใหญ่เจอ

สำหรับฉันเมื่ออ่านข่าวนี้ ไม่ได้มีความห่วงกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนสาธิต มธ. ไม่คิดว่าจะถูกสั่งปิด ไม่ได้คิดว่าประยุทธ์จะกล้าทำอะไรกับโรงเรียนนี้ เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียน ไม่ใช่อี่แก้ว อี่คำ ที่อำนาจรัฐจะมาย่ำยีกลั่นแกล้งได้โดยง่าย และถึงกล้าทำก็ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากสังคมอย่างหนักแน่นอน

แต่สิ่งที่ฉันสะเทือนใจและสะเทือนใจมาโดยตลอดคือ ถ้าเราคิดว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการ empower ประชาชน empower ในที่นี้คือ เป็นการศึกษาที่ทำคนให้เป็นคนที่ศักดิ์ศรี เป็นคนที่ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศ หรือแม้กระทั่งการเป็นพลเมืองโลก เป็นการศึกษาที่ทำให้คนมี self esteem ไม่ใช่การศึกษาที่กดคนให้เป็นทาส

แต่ระบบโรงเรียนไทยกลับถูกออกแบบให้มีฟังก์ชั่นผลิตคนออกมาหล่อเลี้ยงระบบชนชั้นวรรณะแบบดั้งเดิม ไม่ให้สั่นคลอนอย่างน่าสลดใจ

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ฉันคิดว่าเราสามารถแบ่งโรงเรียนทั้งหมดในเมืองไทยได้ดังนี้

หนึ่ง โรงเรียนรัฐบาล/เทศบาล ทั่วไป

สอง โรงเรียนรัฐบาลหัวกะทิ

สาม โรงเรียนเอกชนของมิชชันนารี

สี่ โรงเรียนเอกชนทั่วไป

ห้า โรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียนทางเลือก

หก โรงเรียนอินเตอร์

เจ็ด โรงเรียนสาธิต

จาก 7 ประเภทนี้ จำแนกตาม “อุดมการณ์” อย่างหยาบๆ (ขออภัยที่เหมารวม) ได้แบบนี้

 

หนึ่ง โรงเรียนรัฐบาล/โรงเรียนรัฐบาลหัวกะทิ/โรงเรียนเอกชนมิชชันนารี/โรงเรียนเอกชนทั่วไป ยังคงเคร่งครัดต่ออุดมการณ์อนุรักษนิยม อำนาจนิยม ระเบียบ ทรงผม ค่อนข้างเป็นเผด็จการ แตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลหัวกะทิ นักเรียนก็อาจจะได้คุณภาพการศึกษาที่ดีหน่อย

แต่ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลไร้ชื่อไร้เสียง โรงเรียนของอี่แก้ว อี่คำ ก็เสี่ยงเอาว่าจะได้คุณภาพการศึกษาแบบไหน

บางโรงเรียนก็ดีมาก บางโรงเรียนก็ห่วยมาก

ส่วนโรงเรียนเอกชนทั้งเก่าใหม่ก็ต้องพยายามทำตลาดแข่งกับโรงเรียนอินเตอร์ ด้วยการเพิ่มตัวเลือกการเรียนภาษาต่างประเทศ หลักสูตรสองภาษาต่างๆ

แต่ทั้งหมดนี้คือ ถูกหล่อหลอมมาในระบบอำนาจนิยม อนุรักษนิยมแบบไทยๆ เข้าแถว คลานเข่า เน้นการเชื่อฟังมากกว่าการตั้งคำถาม เน้นระเบียบ วินัย ทรงผม เสื้อผ้า เครื่องแบบ

สอง โรงเรียนทางเลือก เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันงงงวยตลอดมา

เพราะว่ากันโรงเรียนทางเลือกต่างจากโรงเรียนทั่วไปตรงที่จะเน้นการเล่นมากกว่าการเรียน

ฝึกเด็กให้อยู่กับธรรมชาติ ดนตรี สายลม แสงแดด

เอาเป็นว่า สำหรับฉัน โรงเรียนทางเลือกมีกลิ่นอายของความฮิปปี้ และนิวเอจหน่อยๆ ผสานธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการเติบโตภายใน จิตวิญญาณ มากกว่าวัตถุ ทรัพย์สิน การแข่งขัน ให้คุณค่ากับอิสรภาพของเด็ก

แต่ความย้อนแย้งของสังคมไทยคือ กลุ่มคนที่สามารถเอาลูกไปเข้าโรงเรียนทางเลือกได้ คือกลุ่มคนที่ “มั่งคั่ง มั่งมี” คือผู้ชนะในระบบทุนนิยมทั้งสิ้น

แล้วดูเหมือนว่า สำหรับเมืองไทยแล้ว การเข้าโรงเรียนทางเลือก กลายเป็นสถานะทางสังคม และชนชั้นอีกแบบหนึ่งไปโดยปริยาย

คือ เป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับคนรวยที่ไม่ต้องการให้ลูก suffer จากการศึกษาแบบไทยๆ และไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปเรียนวิชาชีพที่หางานทำได้ชัวร์ๆ

(ลูกคนชั้นกลางที่เอาลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาลหัวกะทิ ก็เพราะอยากให้ลูกเรียนจบแล้วทำงานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ เพราะไม่ได้มีเงินรองรังมากจนเย็นใจให้ลูกเรียนไปปลูกต้นฝ้าย เก็บดอกบัว รอจิตวิญญาณเติบโตได้)

 

สาม โรงเรียนอินเตอร์ ที่ตอนนี้เปิดกันมาจนล้นตลาด ไม่ต้องบรรยายมาก คนที่ส่งลูกเรียนอินเตอร์ก็เพราะรู้ว่าโรงเรียนระบบไทย การศึกษาแบบไทยๆ คือระบบอำนาจนิยม โลกทัศน์คับแคบ ห่วยแตก กดดัน suppress ลดทอนความเป็นมนุษย์ มีเงินก็ส่งลูกเรียนอินเตอร์ เสร็จก็ไปเรียนเมืองนอกต่อ

ชัดเจนว่าเป็นอีลิต อภิสิทธิ์ชน หรือถ้าต้องการลงทุนเพื่อให้ลูกกลายเป็น “อีลิต” ของสังคมในวันข้างหน้า ก็ยอมจ่ายแพงหน่อย เอาลูกเข้าเรียนอินเตอร์ เผื่อจะหลุดจากการเป็นชนชั้นกลางไปเป็นพลเมืองโลก

เป็นคนเต็มคนในแผ่นดินอื่น ประเทศอื่น

หรือถ้าอยู่เมืองนี้ประเทศนี้จะได้กลายเป้น “ชนชั้นนำ”

สี่โรงเรียนสาธิต ซึ่งก็ไม่ต้องบรรยายมาก เพราะโรงเรียนสาธิตในเมืองไทยนั้น จะเอ่ยชื่อมากี่สาธิตก็ขึ้นชือว่าเป็นโรงเรียน “อีลิต”

เพียงแต่สาธิต มธ.นั้นต่างจากสาธิตอื่นตรงที่ ถ้าเป็นไวน์ ก็เป็นไวน์ที่มีจุดขายเป็นแฟร์เทรด ออร์แกนิกส์คุณภาพสูง ราคาไม่แพง

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงมันได้

ทั้งหมดนี้ลูกอี่แก้วอี่คำอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คือคนที่เข้าโรงเรียน “ไทย” ถูกหล่อหลอมมาให้เป็นผู้น้อยคอยก้มประณมกร รู้จักที่ต่ำที่สูง เกิดมาเพื่อทดแทนบุญคุณบ้านเมือง เชื่อฟัง อดทน และเรียนประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นที่ประยุทธ์บอกว่า “ถูกต้อง” เกิดเป็นคนไทยต้องรู้รักสามัคคี เสียสละ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน อะไรไป

ลูกคนชั้นกลาง/ข้าราชการระดับกลางๆ ก็ต้องเอาตัวเองไปเรียนในโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนรัฐบาลระดับหัวกะทิหน่อย เพื่อรับประกันความสำเร็จในอนาคต เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีมรดกอะไรให้ลูกนอกจากการศึกษา

เด็กกลุ่มนี้ก็จะเติบโตมาเป็นข้าราชการ เทคโนแครต ผู้บริหารได้ ลองจินตนาการถึงคนแบบหมอทวีศิลป์ – ที่เมื่อได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้วก็จะพกเอาความรู้คู่คุณธรรมไปสั่งสอน ยกตัวเองเป็นตัวอย่างแห่งความมานะ พากเพียร การธำรงตนเองไว้ในความดีตามที่ผู้ใหญ่สั่งสอน และกิริยามารยาทอันนอบน้อม รู้จักที่ต่ำที่สูง รู้ว่าทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่เอ็นดู ชีวิตก็ยอมประสบความสำเร็จ

ลูกอีลิตและกลุ่มที่เป็น affluent หรือพวกที่มั่งคั่งมั่งมี ก็จะไปเรียนอินเตอร์ เรียนทางเลือก

ส่วนโรงเรียนสาธิต และโรงเรียนเฉพาะทาง โรงเรียนสำหรับเด็กความสามารถพิเศษ ก็เป็นพื้นที่ของอีลิตอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ลิตสายปัญญาชน ซึ่งราคาของการศึกษาแบบนี้ไม่แพง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ก็เข้าถึง

เป็นการศึกษาแบบพรีเมียม มีคนจำนวนน้อยที่เข้าถึงได้

ถามว่า สาม-สี่ประเภทโรงเรียน/รสนิยม เหล่านี้สะท้อนอะไร

มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำและเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันจบสิ้น

ระบบโรงเรียนเช่นนี้จองจำคนไทยไว้ในระบบวรรณะที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ไม่มีใครคิดจะทำอะไร

ลูกอีลิตเรียนโรงเรียนอีลิตก็ย่อมโตขึ้นไปเป็นอีลิต

ลูกอี่แก้วอี่คำ เรียนมาระบบถูกกดให้เป็นทาสกับการศึกษาล้างสมอง เราหวังจะให้เขากลายเป็นอะไรนักหนาในอนาคต

ในขณะที่เด็กในโรงเรียนอีลิตบางคนอาจจะเทรดคริปโตเคอร์เรนซีตั้งแต่สิบขวบ หรือได้รับการจรรโลงรังสรรค์รสนิยมทางศิลปะ ดนตรีอย่างดีมาแต่อ้อนแต่ออก

เป็นความผิดของผู้ปกครอง เด็ก หรือโรงเรียนไหม?

จะเป็นได้อย่างไร เพราะทุกคนย่อมต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองอยู่แล้ว

แต่น่าสะเทือนใจที่แรงปรารถนาที่จะให้เพื่อนร่วมสังคมมีโอกาสเท่ากับที่เรามีนั้นมันไม่มากพอ

มากกว่าการตระหนกว่า ประยุทธ์สั่งการให้ทำอะไรกับหลักสูตรประวัติศาสตร์ สาธิต มธ. ฉันอยากให้เราช่วยกันพูดว่า ทุกโรงเรียนควรได้จัดการเรียนการสอนเหมือนสาธิต มธ. หรือมีอิสระที่จะจัดการเรียนการสนอได้เหมือนที่สาธิต มธ.มี

และอยากให้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้บริหารสาธิต มธ.จะบอกสังคมไทย และบอก รมว.ศึกษาฯ ว่า ให้เปลี่ยนโรงเรียนทั้งประเทศไทย โดยมีสาธิต มธ.เป็นต้นแบบได้แล้ว

สิ่งที่สาธิต มธ.เป็นต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราต้องร้องว้าว แต่มันเป็นสิ่งสามัญธรรมดาที่โรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศไทยพึงมีเป็นขั้นต่ำด้วยซ้ำไป