ดูละคร ‘ปริศนา 2530’ ในอีก 35 ปีต่อมา / คนมองหนัง

คนมองหนัง
ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก "บันเทิงไทย ในวัยเยาว์"

คนมองหนัง

 

ดูละคร ‘ปริศนา 2530’ ในอีก 35 ปีต่อมา

 

ละครโทรทัศน์เรื่อง “ปริศนา” ฉบับ พ.ศ.2530 ผลงานการกำกับฯ ของ “อดุลย์ ดุลยรัตน์” ถือเป็นการดัดแปลงนวนิยายชิ้นเอกของ “ว.ณ ประมวญมารค” หรือ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” มาเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวระดับ “คลาสสิค”

ไม่ว่าจะประเมินจากภาพลักษณ์ของคู่พระ-นาง ที่ถูกจดจำเล่าขานมาถึงปัจจุบัน ตลอดจนเพลงนำละครอันไพเราะติดหู (ฝีมือ “วิรัช อยู่ถาวร” ศิลปินแห่งชาติ)

สิ่งที่พิสูจน์ถึงสถานภาพ “คลาสสิค” ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ก็คือเมื่อ “ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล” นำ “ปริศนา” มาผลิตเป็นซีรีส์ป้อนช่องพีพีทีวีใน พ.ศ.2558

ละครปริศนาเวอร์ชั่นล่าสุดก็ยังนำเพลง “ความในใจ” จากเมื่อปี 2530 มาเรียบเรียง-ขับร้องใหม่ เพื่อใช้เป็นเพลงนำละครเช่นเดิม

รวมทั้งยังนำนักแสดงที่เคยรับบทบาทเป็นตัวละครรุ่นหนุ่มสาวหลายรายในละครฉบับ “อดุลย์” กลับมาสวมบทเป็นตัวละครรุ่นพ่อแม่ ณ ปลายทศวรรษ 2550

ล่าสุด ผมเพิ่งมีโอกาสย้อนกลับไปดู “ปริศนา 2530” แบบเต็มๆ ละเอียดๆ ผ่านเว็บไซต์ทรูไอดี จึงอยากตั้งข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

 

ในแง่งานสร้าง “ปริศนา” ฉบับนี้น่าจะเป็นละครทีวีไทยยุคท้ายๆ ที่ถ่ายทำกันในสตูดิโอเป็นหลัก (มีฉากเอาต์ดอร์แค่ตอนตัวละครไปเที่ยวหัวหินและตีเทนนิส รวมถึงฉากหน้าอาคารหรือขับรถนิดๆ หน่อยๆ)

สถานที่ต่างๆ ในละครจึงเป็น “ฉาก” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ถ่ายทำโดยเฉพาะ

สำหรับคอหนัง-ซีรีส์ในทศวรรษ 2560 วิธีการถ่ายทำแบบนี้อาจแลดู “ไม่สมจริง” แต่สำหรับบริบทความบันเทิงของปี 2530 ฉากที่ถูกเซ็ตขึ้นเหล่านั้นคงมี “ความสมจริง” ในสายตาคนดูโทรทัศน์อยู่มากพอสมควร

หรือหากจะให้ประเมินอย่างเป็นธรรม “ความจริงที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น” ผ่านฉากต่างๆ ในสตูดิโอ ซึ่งปรากฏใน “ปริศนา 2530” ก็มิได้มีคุณภาพที่ขี้เหร่และดูหยาบกระด้างแต่อย่างใด (เช่น เราจะพบเห็นฉากสวนหน้าบ้าน/หลังวังที่มีต้นไม้ใหญ่และพุ่มไม้ต่างๆ ปรากฏอยู่มากมาย เพียงแต่แสงที่ส่องมาถึงสวนกลับมืดทึบอยู่ตลอดแม้ในเวลากลางวัน)

เมื่อเหตุการณ์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวทั้งหมดต้องถ่ายทำกันในสตูดิโอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทีมงานด้านศิลปกรรมจะถือเป็นบุคลากรสำคัญลำดับต้นๆ ในการถ่ายทำละครเรื่องนี้ กระทั่งมีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏขึ้นเป็นรายแรกๆ ตรงเอ็นด์เครดิต

 

ในส่วนของนักแสดง “หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส” ซึ่งรับบทเป็น “ปริศนา” ขณะมีอายุเพียง 16 ปีนั้นเปล่งประกายความสดใสน่ารักออกมาอย่างเต็มเปี่ยม

โดยส่วนตัว (ซึ่งเพิ่งมาดูการแสดงของลลิตาอย่างจริงจังเอาในช่วงปลายทศวรรษ 2530) ต้องยอมรับว่าไม่เคยเห็นเธอในภาพลักษณ์ “สดใหม่ทรงพลัง” เช่นนี้มาก่อน

ขณะที่ “ฉัตรชัย เปล่งพานิช” ในบท “หม่อมเจ้าพจน์ปรีชา” อาจไม่ได้มีภาพลักษณ์แตกต่างจากที่เราคุ้นเคยกันในละครยุคหลังๆ สักเท่าไหร่

แต่ถ้าพิจารณาว่านี่คือการ “รีแบรนด์” ตัวเองจากภาพ “ตี๋ใหญ่” เมื่อปี 2528 ก็ต้องนับว่าฉัตรชัยประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย

นอกจากนั้น สำหรับนักแสดงบางราย บทบาทที่เขาได้รับใน “ปริศนา 2530” ก็แทบจะกลายเป็นภาพจำ/อัตลักษณ์ประจำตัวในวงการบันเทิงไปเลย เช่น “เฉลิมพร พุ่มพันธ์วงศ์” ซึ่งฝากฝีมือไว้อย่างน่าประทับใจกับบท “ประวิช” จนต้องรับแสดงเป็นผู้ชายบุคลิก “ง้องแง้ง” อยู่เรื่อยๆ แม้ในวัยใกล้ 60 ปี (อาทิ ในละคร “ฟ้ามีตา” ตอน “กฎข้อที่ 6” เมื่อปี 2564)

นักแสดงหญิงอีกคนที่น่าสนใจมากๆ คือ “รัชนี ศิระเลิศ” นางแบบดังยุค 80-90 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมารับงานแสดงเป็นเรื่องแรกๆ กับบทนางร้ายอย่าง “รตี”

นอกจากบุคลิก รูปร่าง หน้าตา อันโดดเด่น สิ่งที่ผมรู้สึกสะดุดใจเป็นพิเศษ ก็ได้แก่ น้ำเสียงหรือวิธีการพูดของรัชนี ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้หญิงเสียงแหลมเล็กขึ้นจมูก

นี่เป็นวิธีการใช้เสียงที่แตกต่างชัดเจนจากนักแสดงหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันในละคร เช่น ลลิตา, ปาหนัน ณ พัทลุง, ธิติมา สังขพิทักษ์ และปรารถนา-ปาริฉัตร สัชฌุกร แต่กลับไปคล้ายคลึงกับน้ำเสียงการพูดจาของนักแสดงหญิงรุ่นอาวุโสภายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อมรา อัศวนนท์ และบุศรา นฤมิตร

การมีรูปลักษณ์สูงโปร่งเป็นสตรียุคใหม่แต่มีน้ำเสียงแบบสตรีรุ่นเก่าของรัชนี จึงดูสอดคล้องกับตัวตนอันลักลั่นกำกวมของ “รตี” ซึ่งเป็นสาวไฮโซนักเรียนนอก ที่ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมทำงานทำการดังเช่นผู้หญิงรุ่นใหม่ทั่วไป

 

อันที่จริงแล้ว เนื้อหาของ “ปริศนา” นั้นมีรายละเอียดชวนขบคิดอยู่หลายประเด็น แต่บทความชิ้นนี้จะเลือกนำมาเล่าสู่กันฟังเพียงหัวข้อเดียว นั่นคือประเด็น “การทำงาน” ที่ผิดแผกกันระหว่างตัวละคร “หญิง-ชาย”

เนื่องจากผมไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับมาก่อน จึงขออนุญาตตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ และตีความ ผ่านสิ่งที่ได้พบเห็นในละครเวอร์ชั่น พ.ศ.2530 เท่านั้น

จุดเด่นของละคร “ปริศนา 2530” คือการฉายภาพ “ผู้หญิงไทยสมัยใหม่” ที่ต้อง “ทำงานทำการ” (สวนทางกับภาพ “ผู้หญิงชนชั้นสูงยุคก่อน” ที่หวังกินสมบัติเก่าของเจ้าคุณพ่อ เช่น “รตี”)

“คุณนายสมร” แม่ของปริศนา เคยทำงานเป็น “ครู” ก่อนที่เธอจะมาเป็นแม่บ้านของคุณพระ ผู้ถูกตัดขาดจากครอบครัว เพราะไม่ยอมสมรสแบบคลุมถุงชน

สาวนักเรียนนอกเช่น “ปริศนา” นั้นพยายามหางานทำทันทีเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองไทย และสุดท้ายเธอก็ได้ประกอบอาชีพ “ครู” เหมือนแม่

(น่าสังเกตว่าวิธีการได้งานของ “ปริศนา” ยังต้องพึ่งพาเส้นสายแบบไทยๆ คือ เข้าไปขอความอนุเคราะห์จากเพื่อนแม่ที่เป็นครูใหญ่ มากกว่าจะได้งานจากความรู้ความสามารถเพียงองค์ประกอบเดียว)

ส่วนพี่สาวคนรองของปริศนาชื่อ “สิรี” นั้นทำงานเป็น “ช่างตัดเสื้อ” และแม้ “อนงค์” พี่สาวคนที่สามจะอยู่บ้าน แต่เธอก็ต้องรับผิดชอบ “งานบ้าน” ต่างๆ (เย็บนู่น ทำนี่) อยู่ตลอดเวลา

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ไม่เพียงแต่จะบอกว่าตัวละครหญิงเหล่านี้ “มีงานทำ” ทว่า ละครยังพยายามฉายภาพ “กระบวนการทำงาน” ของพวกเธอให้คนดูได้รับรู้อยู่เสมอ

 

ที่น่าประหลาดใจคือ แม้บรรดา “ตัวละครชาย” จะมีงานทำกันทุกคน แต่ละครกลับแทบไม่เคยฉายภาพ “การทำงาน” ของพวกเขาให้เราเห็น (นี่อาจเป็นเรื่องที่แฟนซีรีส์/หนัง/นิยายยุคใหม่ ที่มักให้ความสำคัญแก่ “ชีวิตการทำงาน” ของตัวละครนำ ยอมรับไม่ค่อยได้)

ตัวละครบางรายบอกเล่าว่า “ท่านชายพจน์” เป็น “หมอผ่าตัดฝีมือดี” แต่ฉากเดียวในละครที่เกือบจะพาคนดูไปเป็นประจักษ์พยานของสถานภาพดังกล่าว ก็ได้แก่เหตุการณ์ตอนที่ท่านชายต้องรีบอำลาวงเทนนิสที่สปอร์ตคลับ เพราะได้รับโทรศัพท์แจ้งเคสด่วนจากโรงพยาบาล

เราจะได้เห็น “ปริศนา” ขับรถไปส่ง “ท่านชายพจน์” ถึงโรงพยาบาล เห็น “ปริศนา” นั่งหลับรอท่านชายในรถ แต่กลับไม่เห็นกระบวนการช่วยชีวิตคนไข้ของ “หมอผ่าตัดฝีมือดี” แต่อย่างใด

มีครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ตัวละครหลักไปเที่ยวหัวหินกัน “ท่านชายพจน์” ต้องเดินทางไป “ทำธุระ” ที่เชียงใหม่ แต่คนดูกลับไม่ได้รู้แน่ชัดว่าท่านชายไปทำอะไรบ้าง? และทำมันอย่างไร?

เช่นเดียวกับคราวที่ “ท่านชายพจน์” เดินทางลงใต้ เนื่องจากตรอมใจเมื่อเห็น “ปริศนา” แสร้งคบหาชายอื่น ซึ่งผู้ชมละครมิอาจล่วงรู้ได้ว่าท่านชายไปไหน? และทำอะไร? จึงป่วยเป็นไข้มาลาเรียกลับมา

(ในตอนท้ายเรื่องนั้น “ท่านชายพจน์” กับ “ปริศนา” เล่นเกมกันอยู่นาน เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมสารภาพรัก ต่างคนต่างแข็งขืนไม่ยอมอ่อนข้อให้อีกฝ่าย กระทั่งท่านชายต้องพาตัวเองไปติดไข้ป่าจน “อ่อนแอ” กลับกรุงเทพฯ “ปริศนา” จึงยอมเผยความในใจออกมา นี่อาจถือเป็นชัยชนะแบบ “พระเอกในวรรณคดีไทย” ไม่ใช่ชายไทยยุค 2480 ที่ต้องทำงาน เข้มแข็ง และเป็นผู้นำ)

ขณะเดียวกัน ก็มีรายละเอียดบางประการที่บ่งชี้ว่าท่านชายชอบทำอะไรลับๆ เงียบๆ เช่น ตอนที่ “นพ” ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะท่านชายช่วยเจรจาต่อรองกับทางราชการไม่สำเร็จ จนถูก “ปริศนา” โวยวายหงุดหงิดใส่ สิ่งที่หม่อมเจ้าผู้นี้เลือกทำ ก็คือการใช้เงินส่วนตัวส่ง “นพ” ไปเรียนต่อโดยไม่ประกาศให้คนอื่นๆ ทราบ

จึงน่าตั้งคำถามว่า ท่ามกลาง “การทำงาน” แบบที่ไม่ยอมเปิดเผยว่าตนเอง “ลงมือทำอะไร” ไปบ้างในบริบทของต้นทศวรรษ 2480 (ตามท้องเรื่องของละคร) แท้จริงแล้ว “หม่อมเจ้าพจน์ปรีชา” ยังสามารถ “ทำอะไรลับหูลับตา” คนดูได้อีก?

พูดอีกอย่างคือ “การทำงานแบบไม่ทำ” ของ “ท่านชายพจน์” นั้นสัมพันธ์กันอย่างไรกับการล่องหนหายไปของ “การเมืองยุคคณะราษฎร-คณะเจ้า” ใน “ปริศนา”?

 

ตัวละครชายอีกหลายรายก็มีลักษณะสอดคล้องกับ “ท่านชายพจน์” ไม่ว่าจะเป็น “ประวิช” ซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของท่านชาย แต่ถูกบังคับให้ต้องออกไป “ทำงาน” ด้วย ทว่า ผู้ชมกลับไม่อาจล่วงรู้เลยว่าตัวละครคนนี้ทำงานอะไร? เพราะเราได้เห็นเพียงการใช้ชีวิตใน “เวลาว่าง” (ตามสปอร์ตคลับ, โรงหนัง และร้านอาหาร) ของเขา

ส่วน “อานนท์” เคยแนะนำตัวเองว่าเขาทำงานเป็น “วิศวกร” แต่ละครไม่เคยฉายภาพในระหว่างที่เขาประกอบวิชาชีพดังกล่าว “อานนท์” จึงกลายเป็นเพียงหนุ่มนักเรียนนอก ที่คบหาหญิงสาวมากหน้าหลายตาไปเรื่อยๆ

เรารู้ว่า “สมศักดิ์” พี่เขยของปริศนา นั้นเป็นข้าราชการที่ต้องถูกย้ายไปประจำที่ประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับไม่รู้ว่าเขาทำงานในสังกัดอะไร? (มหาดไทย?) รับผิดชอบงานด้านใดบ้าง?

ไม่ต้องพูดถึงขุนนางเก่า/ชายชราอย่าง “เจ้าคุณราชพัลลภ” ที่ดูจะเป็น “คนว่างงาน” แน่นอนแล้ว

จริงๆ มีตัวละครชายรายหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ “หลวงวิรัชราชกิจ” หรือ “คุณอาวิรัช” ข้าราชการสถานทูตไทยประจำสหรัฐ ซึ่งรับ “ปริศนา” ไปเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กๆ

นี่เป็นตัวละครสมทบที่ปรากฏกายขึ้นแค่สองฉาก (รับบทโดยผู้กำกับฯ เอง) แต่ถูกกล่าวพาดพิงถึงบ่อยครั้ง และลงมือทำสิ่งต่างๆ (ในการช่วยเหลือหลานสาวและครอบครัวพี่ชาย) เต็มไปหมด

นอกจากนั้น ในฉากแรกที่ “คุณอาวิรัช” ปรากฏตัวขึ้น เขายังนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศเพื่อเตรียมพร้อมเข้าประชุม

“คุณอาวิรัช” จึงเป็นตัวละครชายเพียงรายเดียวใน “ปริศนา 2530” ที่ “ทำงาน” ให้คนดูเห็น อย่างไรก็ตาม ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศผู้นี้อาจมิใช่ “สุภาพบุรุษสมบูรณ์แบบ” ตามมาตรฐานชายไทย ณ ปี 2481 เพราะเขายังเลือกครองตัวเป็นชายโสดวัยกลางคน และไม่ยอมก่อร่างสร้างครอบครัวของตนเอง

เหล่านี้คือข้อสังเกตบางประการต่อ “ละครฮิต” เรื่องหนึ่งเมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน