ASF เขย่าอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ หวั่นรายย่อยสูญพันธุ์ ภาวะหมูแพงลากยาวอีกนาน/บทความพิเศษ / ศัลยาประชาชาติ

บทความพิเศษ / ศัลยาประชาชาติ

 

ASF เขย่าอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ

หวั่นรายย่อยสูญพันธุ์

ภาวะหมูแพงลากยาวอีกนาน

 

การอุบัติขึ้นของโรค “อหิวาต์แอฟริกันในหมู-ASF” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่โรงเชือดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม หลังการแถลงข่าวของ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้กลายเป็นการเปิดเผยสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ฟาร์มหมู

หลังจากเกิดปรากฏการณ์หมูในประเทศได้ล้มตายไปเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยกรมปศุสัตว์ยืนยันมาโดยตลอดว่า หมูที่ตายไปนั้นไม่ได้ตายจากโรค ASF แต่เป็นการตายจากโรค PRRS ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรค ASF

โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างโรค ASF กับโรค PRRS ก็คือ โรค PRRS มีวัคซีนป้องกัน แต่โรค ASF ไม่มีทั้งยาและวัคซีน นั่นหมายความว่า หมูในฟาร์มที่ติดโรค ASF จะตาย 100% เป็นที่หวาดกลัวของประเทศผู้เลี้ยงหมู พยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค ASF ขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากเชื้อทำลายยากและปนเปื้อนอยู่ในดินและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้

จนเป็นที่มาว่า เมื่อประเทศใดประกาศ “ยอมรับ” ว่า เกิดการระบาดของโรค ASF ขึ้นในประเทศ การส่งออกหมูเป็น-หมูชำแหละ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู มักจะถูกประเทศผู้นำเข้าสั่งห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการระบาดไปยังฟาร์มหมูภายในประเทศนั่นเอง

 

ย้อนกลับมายังสถานการณ์ในประเทศไทย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรากฏ “ร่องรอย” ของโรค ASF ขึ้นในประเทศ ไล่มาตั้งแต่ปลายปี 2563 ปรากฏบันทึกเรื่องการยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมูเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า จากรายงานหมูป่วยตายผิดปกติและรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาภายใน 72 ชั่วโมง

“ฟาร์มที่พบความเสี่ยงสูงมากโดยพบการป่วยตายตามนิยามของโรค ASF พร้อมกับหมูที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สัตวแพทย์ประเมินแล้วมีโอกาสติดเชื้อและเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของโรค ASF”

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2564 จากรายงานการประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ครั้งที่ 7 ซึ่งมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานในที่ประชุม ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “พบจริงอยู่ 1 กรณีที่จังหวัดตาก ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หมู (ที่พบ) มาจากพื้นที่เขต 5 ตรวจยืนยันว่าเป็น ASF” โดยมีข้อสังเกตว่า หมูมาจากเขต 5 เป็นไปได้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วมีการระบาดของโรค ASF มาก่อนหน้านี้เสียอีก แต่ไม่มีการประกาศ “ยอมรับ” การเกิดโรค ASF อย่างเป็นทางการออกมา

จนเรื่องมาแดงออกมาจากการเปิดเผยเอกสารผลการชันสูตรซากหมูของฟาร์มแห่งหนึ่งของคณะสัตวแพทย์ กำแพงแสน ระบุหมูตายด้วยโรค ASF แน่นอน

สอดคล้องกับจดหมายของภาคีคณบดีสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ส่งไปยังอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุพบเชื้อไวรัส ASF ในซากหมูที่ส่งชันสูตรโรคและได้รายงานการตรวจพบโรคไปยังกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 แล้ว

ทว่า กรมปศุสัตว์ออกมา “ปฏิเสธ” ว่า ไม่เคยเห็นจดหมายของภาคีคณบดีสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าว ก่อนที่จะออกมายอมรับในอีกไม่กี่วันต่อมาว่า ตรวจพบเชื้อโรค ASF ในโรงเชือดที่นครปฐมเพียง 1 ตัวอย่าง และได้แจ้งไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีอยู่ใน list ประเทศที่มีการระบาดของโรค ASF ทันที

 

หลังจากนั้นก็เหมือนกับเหตุการณ์เขื่อนแตก ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในฟาร์มหมูทั่วประเทศได้หลั่งไหลออกมาผ่านทางสื่อมวลชนถึงการตายเป็นจำนวนมากของหมูในแหล่งเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่ราชบุรี สิงห์บุรี นครปฐม นครราชสีมา และหลายจังหวัดในภาคเหนือ

พร้อมกับการตั้งข้อสังเกตการขอ “งบกลาง” ของกรมปศุสัตว์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท ด้วยนิยามการใช้งบฯ ตามแผน “ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูและโรคระบาดร้ายแรงในหมู” จากการสั่งทำลายหมูว่า แท้ที่จริงแล้วหมูเหล่านั้นล้วนตายด้วยโรค ASF ใช่หรือไม่ ท่ามกลางราคาหมูเนื้อแดงที่ถีบตัวสูงขึ้นจนปัจจุบันมีราคาขายในตลาดมากกว่ากิโลกรัมละ 240 บาท เนื่องจากปริมาณหมูในประเทศลดลงจากการเกิดโรคระบาด

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำเรื่องขออนุมัติงบกลางประจำปี 2565 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินอีก 574,111,263 บาท ภายใต้แผน “ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู” เป็นค่าชดใช้หมูที่ถูกสั่งทำลายระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2564 ถึง 15 ตุลาคม 2564 ตามมาตรา 13 (4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 คิดเป็นจำนวนหมูที่ถูกฆ่า 142,079 ตัว ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 4,394 รายทั่วประเทศ

สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่ากรมปศุสัต์จะยอมรับหรือไม่ ว่าหมูจำนวน 142,079 ตัวนั้นตายด้วยโรค ASF

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากรมปศุสัตว์พยายามที่จะ “จำกัด” เขตการระบาดของโรค ASF ไว้เพียง 5 กิโลเมตรนับจากโรงเชือดที่ตรวจพบเชื้อโรค ASF ในจังหวัดนครปฐม เพราะจนกระทั่งถึงขณะนี้ กรมปศุสัตว์ยังไม่มีรายงานการพบหมูตายจากโรค ASF เพิ่มเติมเข้ามาอีก

ในขณะที่วงการเลี้ยงหมูได้ประเมินกันว่า ปัจจุบันมี “แม่หมู” เหลืออยู่ในประเทศประมาณ 550,000 ตัว หมูขุนอีกประมาณ 12-13 ล้านตัว จากภาวะปกติที่จะมีการเลี้ยงหมูอยู่ประมาณ 22 ล้านตัว และยังไม่มีการลงเลี้ยงหมูรอบใหม่ เนื่องจาก “เสี่ยง” ที่หมูจะตายจากโรค ASF พร้อมกับสงสัยว่า หากหมูที่ยังเหลือรอดจากโรคระบาดเกิดตายขึ้นมาอีก รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายชดเชยในวงเงินสูงถึง 30,000 ล้านบาท (จ่าย 3 ใน 4 ของราคาหมูในพื้นที่)

และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หมูภายในประเทศขาดแคลนและราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้นจนมีความเป็นไปได้ว่าจะถึง 300 บาท/ก.ก.ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้

 

สําหรับทางออกในเรื่องหมูที่ไม่หมูนี้ ลำดับแรก กรมปศุสัตว์จะต้องยอมรับก่อนว่ามีการระบาดของโรค ASF เกิดขึ้นในประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่ 5 กิโลเมตรจากโรงเชือดในจังหวัดนครปฐม เนื่องจากยังมีหมูป่วยและตายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาทำไมไม่มีการแจ้งต่อสัตวแพทย์ในท้องที่ นั่นเป็นเพราะเกษตรกร-เจ้าของฟาร์มไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชย 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75 ของราคาหมูจากรัฐบาลเมื่อไหร่

ประกอบกับราคาหมูหน้าฟาร์มสูงมากกว่ากิโลกรัมละ 110 บาท ส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจขายหมูที่เป็นโรค “ดีกว่า” ที่จะมาแจ้งสัตวแพทย์ เพื่อชันสูตรขอรับเงินชดเชย

เพราะความพยายามที่จะ “จำกัด” เขตการระบาดของโรค ASF ไว้แค่จังหวัดนครปฐม โดยไม่พูดถึงพื้นที่อื่นๆ เพียงเพราะหวังจะที่จะขอคืนสถานะแบบควบคุมโรค ASF ได้เป็นบางพื้นที่/เฉพาะจุดหรือที่เรียกว่า Compartment Free/Regionalization free zone ตั้งเป้าใน 1 ปีข้างหน้านั้น จะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์โรคระบาด ASF หายไปจากประเทศไทย ประกอบกับการทำ Compartment/Regionalization free zone นั้น จะมีเฉพาะฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้นที่มี “เงินลงทุน” เพียงพอที่จะลงเลี้ยงหมูเพื่อปลอดโรค ASF ได้

สุดท้ายแล้วการเลี้ยงหมูก็จะถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกร “รายย่อย” จำนวน 184,091 รายก่อนการระบาด ไปอยู่ในมือของ “รายใหญ่” จำนวน 3,181 ราย กลายเป็นการล้างบางโดยอาศัยสถานการณ์ของโรคระบาดที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหมูภายในประเทศไปอย่างสิ้นเชิง

และที่สำคัญ คนไทยจะต้องอยู่กับภาวะหมูแพง ต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลานาน