แผนผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แสดงความศักดิ์สิทธิ์ จำลองเมืองของพระกฤษณะ/On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

แผนผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

แสดงความศักดิ์สิทธิ์

จำลองเมืองของพระกฤษณะ

 

คําว่า “ทวารวดี” เป็นชื่อที่ปรากฏในจารึกหลายหลัก ที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย และถูกนับว่าเป็นวัฒนธรรม หรือรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยนั้น ตามปรัมปราคติในอินเดียเป็นชื่อเมืองของ “พระกฤษณะ” ซึ่งนับถือกันว่า เป็นอวตารที่สำคัญที่สุดปางหนึ่งของพระนารายณ์ เคียงคู่กับพระราม

โดยปกติตำราของพวกพราหมณ์มักจะเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “ทวารกา” ส่วนคำว่า “ทวารวดี” นั้น มักจะปรากฏในเอกสารของศาสนาพุทธ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงเมืองเดียวกันนี้เอง

ข้อความในสภาบรรพ ของมหาภารตะ ระบุว่า พระเจ้าชราสันธะ กษัตริย์ผู้ชั่วร้ายแห่งแคว้นมคธ ตั้งตนเป็นศัตรูกับวงศ์ยาทพ (คือวงศ์ที่สืบสายมาจากพระนารายณ์วงศ์หนึ่ง) พวกยาทพจึงต้องหนีมาอยู่ภายใต้การปกครองของพระกฤษณะ จากนั้นจึงสร้างเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นบนเกาะทางทิศตะวันตก

แน่นอนนะครับว่า เมืองนั้นก็คือเมืองทวารวดี ซึ่งหลายหนที่เอกสารในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเหล่านี้จะอ้างด้วยว่า เมืองแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ แต่เป็นฝีมือของเทพเจ้าแห่งการก่อสร้างต่างๆ อย่างพระวิศวกรรม เลยทีเดียว

 

เมืองทวารวดี ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กุษสฏลิ” มีภูเขาชื่อ “ไรวตกะ” ที่กว้าง 3 โยชน์ เป็นปราการล้อมรอบเมือง แต่ละโยชน์จะมีประตูอยู่นับร้อยประตู ทุกประตูมีกองทหารที่เข้มแข็งคุ้มกันอยู่ด้วย และในแต่ละโยชน์ก็จะมีกองทหารเป็นของตนเอง จนทำให้แม้แต่เทพเจ้าก็ยากที่จะผ่านเข้าไปได้

ประตูเมืองหลักของทวารวดีมีอยู่ทั้งหมด 50 ประตู ที่ประตูมีอาวุธป้องกันเมืองทั้งเครื่องยิงระเบิด และกงล้อเหล็ก (ตรงนี้ก็ไม่ตรงกับที่พูดไว้ในบทอื่นๆ ของสภาบรรพ ที่บอกแต่ละโยชน์มีประตูนับร้อย)

เมาสละบรรพ ของมหาภารตะ อ้างว่า ภายหลังการตายของพระกฤษณะ เมืองทวารวดีก็ถูกทะเลกลืนลงไป ซึ่งงานวิจัยในปัจจุบันเชื่อว่า เมืองทวารวดีเคยตั้งอยู่ในทะเลทางทิศตะวันตกของแคว้นคุชราต ยังมีชุมชนเล็กๆ ริมฝั่งทะเลแห่งนี้ ที่ชื่อว่า “ทวารกา” อยู่ ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ทำการปศุสัตว์ ค้าขายนม และอ้างตนว่าสืบสายมาจากวงศ์ของพระกฤษณะ

ฆตบัณฑิตชาดก ในพุทธศาสนา พูดถึงเมืองทวารวดีว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในชมพูทวีป ด้านหนึ่งของเมืองติดกับทะเล อีกด้านล้อมรอบไปด้วยภูเขา โอรสทั้งสิบของพระเจ้าอันธกะเวณหุทาส พยายามที่จะตีเมืองนี้แต่ไม่สำเร็จ เพราะพวกยักษ์ที่เฝ้าเมืองได้เสกให้เมืองลอยขึ้นไปบนฟ้า และตั้งอยู่ในทะเลจนกระทั่งพระองค์ต้องยอมถอยกลับไป ต่อมา กัณหทีปายนดาบส ได้แนะนำให้ตอกโซ่เหล็กไม่ให้เมืองลอยได้ พวกพระกุมารจึงตีเมืองได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า ตำราในศาสนาเหล่านี้ล้วนกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เมืองทวารวดี หรือทวารกา นั้น มีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่ “ประตู” และ “กำแพงเมือง” ที่แข็งแกร่งทนทายาด สมกับที่มีชื่อเมืองว่าทวารวดี

 

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ข้อความจากคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “หริวงศ์” ที่ได้บรรยายถึงลักษณะของเมือง “ทวารวดี” เอาไว้ว่า มีสัณฐานเหมือน “กระดานหมากรุก”

ผมไม่รู้ว่า ในอินเดียโบราณเขาจะมีหมากรุกเล่นกันหรือเปล่า เพราะที่อ้างจากคัมภีร์ข้างบนนี่ผมก็อ่านเอาจากภาษาอังกฤษที่แปลมาอีกทอด ในคัมภีร์หริวงศ์จริงๆ จะเขียนว่ากระดานอะไรไม่รู้ แต่เมื่อปราชญ์ทางภาษาเขาแปลมานี้ ก็คงต้องการจะบอกว่าผังเมืองทวารวดี ซึ่งเป็นเมืองในเทพปกรณ์นั้นมันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแค่นั้นแหละ

คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรารู้จักคัมภีร์หริวงศ์ ที่แต่งขึ้นในอินเดียจนเสร็จและเป็นรูปเป็นร่างคล้ายๆ ปัจจุบันเมื่อหลัง พ.ศ.500 กว่าๆ ลงมาแน่ อย่างน้อยพวกเขมรโบราณก็ทำรูปพระหริหระ (คือร่างรวมของพระอิศวรกับพระนารายณ์) ซึ่งมีตำนานสำคัญเล่าเอาไว้ในคัมภีร์เล่มที่ว่านี้เอง อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 เล็กน้อยแล้ว แถมในจารึกของพวกขอมก็มีการอ้างคัมภีร์เล่มนี้อยู่ด้วย

อันที่จริงแล้ว หริวงศ์ถูกประพันธ์ขึ้นตั้งแต่เมื่อราวๆ พ.ศ.350-450 แต่ที่มาเป็นหน้าตาอย่างนี้เพราะถูกนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์อย่างมหาภารตะ ในช่วงหลัง พ.ศ.500 และเมื่อมหาภารตะเข้าไปที่ดินแดนไหน ที่นั่นก็มักจะรู้จักหริวงศ์ด้วย

และอุษาคเนย์ก็รู้จักมหาภารตะแน่

ที่น่าสนใจก็คือเมืองในวัฒนธรรมเขมรโบราณหลัง พ.ศ.1400 หย่อนๆ ลงมา ก็มักจะสร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือตารางหมากรุก เหมือนกับเมืองทวารวดีในปรัมปราคติของพวกพราหมณ์

ในขณะที่ช่วงก่อน พ.ศ.1400 ผังเมืองเขมรจะมีรูปร่างไม่แน่นอน ปรับแต่งไปตามภูมิศาสตร์เฉพาะในแต่ละที่ ซึ่งก็เป็นลักษณะของผังเมืองที่พบเหมือนๆ กันไปหมดทั้งอุษาคเนย์ รวมไปถึงผังเมืองของวัฒนธรรมแบบที่เราเรียกว่า ทวารวดี ในภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยด้วย

แปลกดีนะครับ เราคิดว่าบรรดาเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยนั้น มีชื่อเรียกว่า “ทวารวดี” (ไม่ว่าจะเรียกโดยตนเอง หรือถูกคนอื่นเรียก) แต่ผังเมืองกลับไม่ได้อยู่ในสัณฐานรูปตารางหมากรุก ตามอย่างปรัมปราคติที่พยายามจะจำลองเอาความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นทวารวดี อย่างที่พวกพราหมณ์เขาระบุเอาไว้กันเลยสักเมือง ในขณะที่พวกขอม ที่ไม่ค่อยมีใครคิดว่าจะเกี่ยวอะไรกับคำว่าทวารวดีสักเท่าไหร่ กลับนิยมสร้างเมืองอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมันเสียอย่างนั้น?

 

อันที่จริงแล้วจะบอกว่า พวกขอมไม่เกี่ยวอะไรกับกับคำว่าทวารวดีเลยเสียทีเดียว ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก อย่างน้อยก็มีศิลาจารึกของพวกขอมอยู่ 2 หลักที่ระบุถึงคำว่าทวารวดีเอาไว้

ศิลาจารึกหลักหนึ่ง ที่พบในเขตจังหวัดสตึง ประเทศกัมพูชา ระบุปีศักราชที่สร้างตรงกับปี พ.ศ.1496 พูดถึงชื่อเมืองทวารวดี แต่น่าจะเป็นเมืองแถวๆ ที่พบจารึกนั่นเอง เพราะบริเวณที่พบจารึกหลักนี้ก็เรียกว่า ทวารกเด็ย ซึ่งเจ้าพ่อจารึกเขมรอย่างยอร์ช เซเดส์ เคยหล่นความเห็นเอาไว้ว่าก็คือ ชื่อที่เพี้ยนมาจากทวารวดีนั่นแหละ

ส่วนศิลาจารึกอีกหลักหนึ่งก็คือ จารึกพระนน (จารึกหลัก K.89 ของกัมพูชา) ระบุศักราชตรงกับปี พ.ศ.1545 ก็มีการระบุถึง “เตง ตวน ทวารวดี (หมายถึงเจ้าเมืองทวารวดี) ทรงนามว่า ธรรมะ” อยู่ด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้น พวกขอมโบราณก็ย่อมรู้จักเมืองทวารวดีในปรัมปราคติของพราหมณ์ เช่นเดียวกับความเชื่อและปกรณัมเรื่องอื่นๆ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแน่

และถ้าจะว่ากันตามหลักของความเป็นจริงแล้ว ถ้าพวกขอมซึ่งสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อของพ่อพราหมณ์จะไม่รู้จักชื่อ และคุณลักษณะของเมือง ของเทพเจ้าองค์สำคัญอย่างพระกฤษณะต่างหากเล่าครับ จึงจะเป็นเรื่องแปลกพิกล

ขอให้สังเกตด้วยว่า “ทวารวดี” แปลว่า “เมืองที่ประกอบไปด้วยประตู” และอุษาคเนย์นี่ก็มีคติการสร้างเมืองที่ใช้ประตูแสดงความยิ่งใหญ่ เช่น เมืองหงสาวดี ที่พระจักรพรรดิราชระดับผู้ชนะสิบทิศอย่างบุเรงนอง สร้างประตูเมืองขนาดบิ๊กเบิ้มเสียให้เพียบ แล้วตั้งชื่อประตูตามเมืองใหญ่ๆ ที่ถือว่าอยู่ในอาณัติของตัวเอง หรือเมืองร้อยเอ็ด ที่ตำนานว่า มาจากจำนวน 101 ประตู แถมในตำนานอุรังคธาตุยังบอกว่า ชื่อเดิมของร้อยเอ็ดคือ ทวารวดี เป็นต้น

การที่แผนผังรูปกระดานหมากรุก คือสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้น จะกลายมาเป็นแผนผังของเมืองในกัมพูชา ในไทย หรือที่อื่นๆ ในอุษาคเนย์ที่รับเอาคติความเชื่อ และปกรณัมในศาสนา (ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงระบบสัญลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) เรื่องเมืองทวารวดีจากอินเดียมานั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คงจะเป็นด้วยเรื่องของการสร้างเมืองให้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมืองของพระกฤษณะนั่นเอง