ระบอบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำ (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ระบอบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำ (จบ)

 

ในสภาพที่มิอาจหลีกเลี่ยงระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งได้ ความที่มันเป็นที่เรียกร้องต้องการของประชาชนและนานาชาติในแง่ความชอบธรรม ชนชั้นนำไทยได้สรุปบทเรียนจากประสบการณ์เชิงปฏิบัติ ในการเลือกตั้งโดยเฉพาะปี พ.ศ.2500, 2518, 2519 ว่าเพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยปลอดภัยสำหรับอำนาจและผลประโยชน์มูลฐานของตน มีเงื่อนไขจำเป็นดังนี้คือ :

1) ให้ประชาธิปไตยออกจากท้องถนน แล้วเข้าไปอยู่ในกรอบของสถาบันรัฐสภาทางการมากที่สุด

2) ให้การเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรปลอดจากพรรคการเมืองที่คุกคามความมั่นคงแห่งระเบียบอำนาจและผลประโยชน์ขั้นมูลฐานของชนชั้นนำ

3) แยกขาดพรรคการเมืองและ ส.ส.ออกจากขบวนการจัดตั้งของมวลชนในสังคมโดยไม่เลือกอุดมการณ์

ส่วนข้อที่ 4 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษจากรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. พ.ศ.2550 เป็นต้นมาก็คือการสร้างเสริมอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายเพื่อค้ำประกันระเบียบอำนาจนำของชนชั้นนำ และกำกับควบคุมคาดโทษรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและการเคลื่อนไหวของมวลชน ไม่ให้ล่วงล้ำทำลายระเบียบดังกล่าว

(Eug?nie M?rieau, “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997-2015)”, 2016; & Prajak Kongkirati and Veerayooth Kanchoochat, “The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand”, 2018)

แน่นอนว่ากล่าวในเชิงอุดมคติ สถานการณ์ดีที่สุดสำหรับชนชั้นนำไทยที่จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งอย่างมั่นคงปลอดภัยคือ ธำรงคงไว้ซึ่งอำนาจนำ (ในความหมายการนำโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม & การตามโดยไม่ต้องบังคับ) อันทรงประสิทธิผลสูงสุดและออกฤทธิ์แผ่ซ่านซึมลึกในการป้องกันไม่ให้เกิดมีความขัดแย้งกับระเบียบของชนชั้นนำตั้งแต่ต้น

นั่นหมายความว่ามีอำนาจนำที่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้คนเกิดข้อร้องทุกข์ไม่ว่าในระดับใดๆ โดยเข้าไปสะกดการสังเกต การรับรู้และความนิยมชมชอบของพวกเขาไว้ในลักษณาการที่พวกเขายอมรับฐานะบทบาทของตนในระเบียบสังคมและการเมืองดังที่เป็นอยู่โดยดุษณี อาจเพราะพวกเขามองไม่เห็นหรือจินตนาการไม่ออกถึงทางเลือกอื่น หรือเพราะพวกเขาเห็นว่าระเบียบดังที่เป็นอยู่นั้นเป็นธรรมชาติธรรมดาและมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ หรือเพราะพวกเขาให้ค่ามันว่าเป็นสิ่งดีงามและก่อประโยชน์โพดผลที่ฟ้าประทานมา

ทว่าปัญหาก็คือการใช้อำนาจรัฐนานัปการภายใต้รัฐบาล คสช. และองคาพยพตั้งแต่รัฐประหาร 2557 สืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในลักษณะของการลากเส้นแบ่งเขตอำนาจกันใหม่และการหวนหาอดีตทางการเมืองวัฒนธรรม (Re-demarcation of Power Boundaries & the Cultural Poltics of Nostalgia ดู เกษียร เตชะพีระ, “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง”, www.matichonweekly.com/column/article_42308 & Prajak and Veerayooth อ้างแล้ว)

ได้เข้าไปสั่นคลอนขยับย้ายเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เส้นแบ่งสำคัญระหว่างรัฐกับสังคม, รัฐกับธุรกิจ และภาคเอกชนกับภาคสาธารณะ (state/society, state/business, private/public) จนฟั่นเฝือวิปริตผิดเพี้ยนไปทั้งในด้านทรัพย์สินและงบประมาณแผ่นดิน, สาธารณสถานและโบราณวัตถุ, กิจการทหาร, กิจการตำรวจ, กระบวนการยุติธรรม, กิจการศาสนา, กิจการสาธารณสุข และฐานะความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหารกับฝ่ายอื่นตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

จนอาจกล่าวได้ว่ามันก่อเกิดเป็นภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองการปกครองที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย และกลุ่มฝ่ายต่างๆ ได้หยิบยกมาตั้งเป็นประเด็นคำถามและญัตติสาธารณะโต้แย้งถกเถียงกันดกดื่นและดังลั่นขึ้นทุกทีจนเหลือวิสัยจะสะกดมหาชนให้นิ่งเงียบต่อไปได้

(https://progressivemovement.in.th/article/5922/, https://mgronline.com/politics/detail/9640000111282 & https://www.thairath.co.th/news/politic/2241348)

 

ในสภาพที่มิอาจคุมคำ-คุมความหมาย-คุมความคิดฝัน-คุมคนไว้ด้วยอำนาจนำดังเดิม การทำให้ระบอบประชาธิปไตยปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำจึงต้องอาศัยอำนาจในมิติรองลงมาที่ทื่อดิบกว่า นั่นคือ หันมาคุมระเบียบวาระทางการเมืองและกีดกันสิ่งที่อาจกลายเป็นประเด็นปัญหาได้ให้พ้นออกไปจากกระบวนการทางการเมืองเสีย

ในงานคลาสสิคเรื่อง Power : A Radical View (1974) ของ Steven Lukes นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ เขาจัดประเภทให้อำนาจคุมระเบียบวาระและปิดกั้นประเด็นปัญหาออกไปนอกการเมืองนี้อยู่ในขอบข่ายทรรศนะที่มองเห็นอำนาจแบบสองมิติ (The Two-Dimensional View of Power; ขณะที่อำนาจนำจัดอยู่ในขอบข่ายทรรศนะที่มองเห็นอำนาจแบบสามมิติหรือ The Three-Dimensional View of Power) ลุคส์อธิบายอำนาจในมิติที่สองนี้ว่า :

“มีการใช้อำนาจเช่นกันเมื่อ ก.ทุ่มกำลังสร้างหรือเสริมคุณค่าทางสังคมและการเมืองรวมทั้งแบบแผนการปฏิบัติเชิงสถาบันที่ไปจำกัดขอบข่ายกระบวนการทางการเมืองเอาไว้ให้สาธารณชนได้พิจารณาแต่เฉพาะเหล่าประเด็นปัญหาซึ่งค่อนข้างปลอดภัยสำหรับ ก. เท่าที่ ก.ทำสิ่งที่ว่ามานี้ได้สำเร็จ ข.ย่อมถูกกีดขวางในทางปฏิบัติมิให้ยื่นเสนอประเด็นปัญหาใดๆ ขึ้นมาอันอาจเป็นภยันตรายต่อชุดความนิยมชมชอบของ ก.ได้ หากมันถูกนำไปแก้ไข”

“เท่าที่บุคคลหรือกลุ่มชนใด ไม่ว่าจะโดยสำนึกหรือไม่ ได้สร้างหรือเสริมอุปสรรคขัดขวางการหยิบยกข้อขัดแย้งเชิงนโยบายขึ้นมาเสนอต่อสาธารณะได้ บุคคลหรือกลุ่มชนนั้นย่อมมีอำนาจ”

“(ทรรศนะในการมองอำนาจพึง) คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าอำนาจอาจถูกใช้และบ่อยครั้งมักถูกใช้ด้วยการจำกัดขอบเขตการตัดสินใจไว้ให้อยู่แต่ในประเด็นปัญหาที่ค่อนข้าง ‘ปลอดภัย'”

“ฉะนั้น การปัดทิ้งไปไม่ให้ตัดสินใจ (nondecision-making) จึงเป็นวิธีการที่อาจใช้มาบีบคั้นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการจัดสรรผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ดังที่เป็นอยู่ในชุมชนให้หุบเงียบลงเสียก่อนที่มันจะทันได้ส่งเสียงด้วยซ้ำไป หรือไม่ก็กลบเกลื่อนปิดงำมันเสีย หรือฆ่ามันทิ้งก่อนที่มันจะเข้าถึงเวทีการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง หรือหากทั้งหมดที่ว่ามาเหลวเปล่าแล้ว ก็ทำให้มันง่อยเปลี้ยลงหรือถูกทำลายไปในขั้นตอนการนำมติไปปฏิบัติในกระบวนการนโยบาย”

“มันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องระบุสิ่งที่อาจกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นได้ออกมาซึ่งการปัดทิ้งไปไม่ให้ตัดสินใจ (nondecision-making) นั้นเพียรพยายามกีดกันไม่ให้มันกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ ประเด็นปัญหา ‘สำคัญ’ หรือ ‘ใจกลาง’ อาจเป็นปัญหาจริงหรือ – ที่มีโอกาสน่าจะเป็นได้ที่สุดคือ – มีศักยภาพที่จะกลายเป็นปัญหาได้ การที่มันเป็นปัญหาใจกลางนั้นอยู่ตรง ‘มันเกี่ยวพันกับการท้าทายอย่างแท้จริงต่อแหล่งทรัพยากรทางอำนาจหรืออำนาจหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ครอบงำกระบวนการกำหนดผลลัพธ์เชิงนโบายในระบบอยู่ตอนนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมันเป็นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอย่างยืนนานเสียซึ่งลักษณะวิธีการจัดสรรสิ่งมีค่าในสังคมการเมือง รวมทั้งตัวการจัดสรรสิ่งมีค่านั้นด้วย” (Lukes, p. 20, 22-23)

ในความหมายนี้ การทำให้ระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำจึงรวมถึงการใช้อำนาจมาขีดเส้นแบ่งว่าประเด็นใดอยู่นอกขอบเขตการเมืองโดยชอบออกไป ไม่ใช่การเมือง ไม่ถือเป็นประเด็นปัญหาสาธารณะที่สังคมการเมืองพึงพิจารณา

มิไยว่าประเด็นดังกล่าวจะสำคัญคับขันต่ออนาคตของความเป็นรัฐชาติและความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพียงใดก็ตาม