ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง : เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

1) ตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย (Matryoshka doll)

ในแวดวงรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ไทย การค้นพบทางวิชาการแห่งปี พ.ศ.2559 น่าจะได้แก่แนวคิดวิเคราะห์เรื่อง “รัฐพันลึก” (deep state) ของ อาจารย์ ดร.เออเชนี เมริโอ/Eug?nie M?rieau แห่ง Paris Institute of Political Studies (Sciences-Po) ในบทความ “Thailand”s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997-2015)”, Journal of Contemporary Asia, 46 : 3(2016), 445-466.

บทความนี้ถูกกล่าวขวัญถึง วิเคราะห์วิจารณ์และคิดต่อยอดจากนักวิชาการไทยหลายคน เช่น อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร, อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, รวมทั้งผมด้วย และนำมาแปลเป็นไทยโดย คุณวีระ อนามศิลป์ ใน “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจและศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540-2558)”, ฟ้าเดียวกัน, 14 : 1 (ม.ค. – เม.ย. 2559), 13-46.

แนวคิด “รัฐพันลึก” เสนอว่าในรัฐสมัยใหม่บางรัฐอย่างตุรกี, อเมริกา, หรือประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทางการ ยังมีองค์กรรัฐราชการประจำต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง-ข่าวกรอง ตุลาการบางหน่วย (หรือในกรณีไทยก็รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง หรือแม้แต่ผู้บริหารบางมหาวิทยาลัย ฯลฯ) ที่เป็นรัฐส่วนลึกหรือเร้นลึก ซ้อนทับอยู่ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐหรือรัฐในรัฐ มีตรรกะและผลประโยชน์ต่างหากของตัวเอง สามารถดำเนินการอิสระจากรัฐบาลเลือกตั้ง และอาจแข็งขืนหรือกระทั่งโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน

แต่ไม่ทันข้ามปีสภาพการณ์ความเป็นจริงของการเมืองไทยก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว…

เมื่อคิดถึงข่าวสารบ้านเมืองอันแปลกพิลึกพิสดารชวนพิศวงระยะหลังมา … ฯลฯลฯลฯ ก็สมดังที่ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวทักไว้ในระยะหลังว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” มันสะท้อนว่าแนวคิด “รัฐพันลึก” หรือนัยหนึ่ง “รัฐซ้อนรัฐ” (a state within a state) อาจไม่พอเพียงเสียแล้วที่จะทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไปใหม่ใน พ.ศ.2560

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังประสบพบเห็น มันเหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซียที่เรียกว่า Matryoshka doll กล่าวคือมันดูเสมือนหนึ่ง a state within a state within a state within a state, etc. หลายต่อหลายชั้นซ้อนทับกัน

คำถามคือสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

2) กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่แบบไทยๆ (Modernization/Modernism Thai Style)

สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ (modernization/modernism) อันเป็นกระบวนการสืบเนื่องมาจากปรัชญายุครู้แจ้งของยุโรป-อเมริกาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 แล้วแผ่กระจายไปทั่วโลกรวมทั้งสยามผ่านระบอบอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 นั้น ประกอบไปด้วยการปฏิวัติใหญ่ 3 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ :-

1. การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) ในด้านปัญญาความรู้/วัฒนธรรม โดยเฉพาะกระแสเหตุผลนิยม, ประสบการณ์นิยม, วิธีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์, คติโลกวิสัย (rationalism, empiricism, scientific method, secularism) เป็นต้น

2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) ในด้านเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะระบบตลาด, เศรษฐกิจทุนนิยม, การแบ่งงานกันทำ, การผลิตแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น

3. การปฏิวัติกระฎุมพี (bourgeois revolution) ในด้านการเมือง โดยเฉพาะระบอบรัฐธรรมนูญ, เสรีนิยม, ประชาธิปไตย, ชาตินิยม เป็นต้น

ในประสบการณ์ประเทศต่างๆ ของโลก กระบวนการปฏิวัติ 3 ด้านเพื่อไปสู่ภาวะสมัยใหม่ดังกล่าวมีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน รุนแรงนองเลือดและทิ้งบาดแผลทางความคิดจิตใจไว้ในสังคมมาก

แต่ในกรณีประสบการณ์ของสยาม/ไทยค่อนข้างต่างออกไป กล่าวคือ มีลักษณะไปครึ่งทาง กึ่งๆ กลางๆ มีการประนีประนอมรอมชอมกันมาก หรือจะมองในทางกลับกันก็ได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในเมืองไทยนั้นไม่เสร็จสิ้น ค้างเติ่ง เปลี่ยนผ่านเท่าไรก็ไม่ถึงจุดหมาย ไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียที (unfinished transition)

ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ผู้เพิ่งล่วงลับไปรวมทั้งนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยแบบทวนกระแสหลายคน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ไมเคิล ไรท์, ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ รัชชกูล, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ฯลฯ ได้เสนอไว้ว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์แล้ว ถึงแม้สยามไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกเต็มตัว แต่ก็อยู่ในสภาพอาณานิคมทางอ้อมหรืออำพราง (crypto-colonialism) ที่ผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมของอาณานิคมตะวันตกทั่วโลกในทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมและการทูตการเมือง ภายใต้อำนาจอำนวยการของเจ้านายขุนนางท้องถิ่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สยามจึงมีลักษณะเป็นอัตตาณานิคม/อาณานิคมภายใน (autocolony/internal colonialism) ของ “คนไทย” ด้วยกันเอง

ไม่มีขบวนการชาตินิยมของประชาชนเพื่อกู้ชาติจากต่างชาติ มีแต่ “กบฏลี้ลับ ครึ่งๆ กลางๆ” (“the partial, mystified revolt” ในความเห็นของครูเบ็น) ของคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2475-ซึ่งมีสมาชิกผู้ก่อการเป็นชนชั้นนำตัวแทนกลไกปกครองระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง

และฉะนั้น สยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงยังไม่ได้เป็นรัฐชาติสมบูรณ์จริงเต็มตัวเสียที เป็นแค่รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีปัญหาความชอบธรรมเรื้อรังอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม-เสนาชาตินิยม

หากพูดในภาษาของอาจารย์นิธิคือมันกลายเป็นรัฐที่ไม่มีชาติ (แท้จริง) ในความหมายชุมชนในจินตนากรรมของพลเมืองที่เสมอภาคและเป็นภราดรภาพต่อกัน และที่กุมอำนาจอธิปไตยร่วมกัน (imagined community of equal citizens) หากแต่ตกอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่เป็นชุมชนในจินตนากรรมของคนไทยและคนไม่ไทยที่ไม่เท่าเทียมกัน (imagined uncommunity of unequal Thais & un-Thais)

จึงเกิดกรณีเหยื่อของรัฐที่ไม่มีชาติดังกล่าวนี้ให้พบเห็นอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นทนายสมชาย นีละไพจิตร, บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ชัยภูมิ ป่าแส, ไปจนถึง ไผ่ ดาวดิน

3) ฉันทมติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ผ่านการเดินทางแสวงหาสลับพลิกผันปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างแรงผลักดันต่อสู้ขัดแย้งของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ อาทิ โครงการเสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยมประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช, โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, โครงการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของขบวนการคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ในหลวงรัชกาลที่เก้า) สังคมไทยจึงได้บรรลุฉันทามติของการประนีประนอมรอมชอมระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยม ที่ลงตัวในระดับหนึ่ง ระหว่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา ซึ่งพอจะสรุปสาระสังเขปในด้านต่างๆ ออกมาได้ดังนี้ :-

1. ด้านเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. ด้านการเมือง : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. ด้านอุดมการณ์ : ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ

4. ด้านศาสนา : พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

อาจกล่าวได้ว่าฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (หรืออาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า The Bhumibol consensus) เป็นแบบวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยแบบไทยๆ ผ่านการประนีประนอมต่อรอง ที่ไม่หักรานจนเหี้ยน ไม่ใหม่หมด คนข้างล่างได้บ้างแม้จะได้ไม่มากเท่าคนข้างบน คนชั้นกลางได้มากกว่าและเติบใหญ่ขยายตัวออกไป ส่วนคนข้างบนได้มากที่สุด มันช่วยให้หลีกเลี่ยงการแตกหักกวาดล้างรุนแรงของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่มาได้ และมีฐานรองรับสนับสนุนจากคนชั้นต่างๆ ตามสมควร ทั้งคนชั้นบน คนชั้นกลาง และรากหญ้า

ขณะเดียวกันก็มีเส้นอำนาจ (power boundaries) และการแบ่งเขตอำนาจ (jurisdiction) เชิงปฏิบัติ/เสมือนจริงที่ใช้การได้ เส้นและเขตที่ว่าอาจไม่ต้องตรงกับเส้นอำนาจและการแบ่งเขตอำนาจตามกฎหมาย/รัฐธรรมนูญเสียทีเดียว แต่ก็เป็นที่ยอมรับเคารพกันว่าอำนาจของฝ่ายหนึ่งหยุดตรงนี้ อำนาจของอีกฝ่ายเริ่มตรงนั้น ไม่ก้าวก่ายกัน ยอมรับเคารพกัน โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้าย (final arbiter) ในยามเกิดความแตกต่างขัดแย้ง

นอกจากนี้ ภายใต้ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศดังกล่าว โครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางเสรีประชาธิปไตย, สังคมนิยม, ชุมชนนิยม, ทหารนิยม, สมบูรณาญาสิทธิ์, ฟาสซิสต์, คอมมิวนิสต์ ฯลฯ ต่างก็ถูกแช่แข็งกดปรามให้หยุดยั้งชะงักไว้ชั่วคราวด้วยบารมีแห่งพระราชอำนาจนำ

จวบจนการปรากฏขึ้นของโครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม+ประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยในราว พ.ศ.2544 เป็นต้นมา

4) การลากเส้นแบ่งเขตอำนาจกันใหม่และการเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีต (Re-demarcation of Power Boundaries & the Cultural Poltics of Nostalgia)

ปัจจุบัน การที่เกิดสภาพ “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์เอ่ยทักนั้น ก็เพราะผู้สนับสนุนโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่/ภาวะสมัยใหม่อันเป็นทางเลือกในแนวทางต่างๆ ได้ฟื้นตัวโผล่ออกมาแย่งชิงพื้นที่ปะทะกัน เพื่อผลักดันแนวทาง modernization/modernism ของตัวเอง ในสถานการณ์อันเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม, ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์กติกาปกติของการดำเนินและแก้ไขยุติความขัดแย้ง, มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่มิอาจแก้ไขข้อขัดแย้งให้ตกไปอย่างถึงรากได้

โดยฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่แนวทางต่างๆ ก็พยายามหวนหาช่วงอดีตหรือบ้านเก่าที่สอดรับกับอุดมคติของกลุ่มตนมากที่สุด บ้างก็หวนไปหาสมัยรัชกาลที่ห้า, บ้างก็หวนไปหาสมัยรัชกาลที่เจ็ด, บ้างก็หวนหายุคปฏิวัติและมาตรา 17 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น เกิดเป็นกลุ่มอาการการเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีตกันทั่วไป

ขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจและสถาบันต่างๆ ซึ่งเสมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย (a state within a state within a state within a state, etc.) ต่างก็อาศัยช่วงที่เส้นอำนาจเดิมคลอนแคลนคลี่คลาย ฐานรองรับแนวทางปฏิบัติตามประเพณีเดิมขยับขยายเปลี่ยนแปลง พากันหาทางพยายามปรับเส้นอำนาจและเขตอำนาจกันใหม่ (power boundaries & jurisdiction) โดยผลักดันเส้นอำนาจใหม่ของตนออกไปให้กว้างไกลที่สุด ให้เขตอำนาจของตนแผ่ขยายไปมากที่สุด กินพื้นที่อำนาจเก่าใหม่ให้ใหญ่ที่สุดด้วยความหวังว่าเส้นอำนาจไกลที่สุดของตนซึ่งอยากให้อยู่ตรงนี้นั้น ฝ่ายอื่นจะยอมรับโดยดุษณี ได้ข้อยุติกันตรงนี้ ทุกฝ่ายคิดแบบนี้ หวังแบบนี้ และทำแบบนี้ ดังเช่นที่ คสช. และสถาบันอำนาจในเครือเร่งรีบผลักดันกฎหมายใหม่ๆ สารพัดออกมาแผ่ขยายเขตอำนาจของฝ่ายความมั่นคงและหน่วยราชการไปสุดเอื้อมก่อนที่จะจัดเลือกตั้งและมีสภากับรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทน

ข้อความเสี่ยงที่ชวนวิตกคือเส้นเขตอำนาจต่างๆ ที่ต่างกลุ่มต่างลากขึ้นใหม่ อาจพาดเกยกันได้ เบียดเสียดกันได้ กระทั่งปะทะชนกันได้ แล้วจะหาข้อยุติอย่างไร? จะยืดเยื้อไปนานเท่าใดจึงจะบรรลุฉันทามติใหม่ที่ค่อนข้างลงตัวและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ?

“อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ในแง่หนึ่งจึงเป็นการแสดงออกของภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองดังกล่าวมานี่เอง