ความเข้าใจ(ผิด)เรื่อง ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ : เจ้าที่? เทพสามัญประจำบ้าน?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบจาก th.nonilo.com

ผมสิงอยู่ในหลายกลุ่มของเฟซบุ๊กเพื่อหาความรู้และความบันเทิง โดยเฉพาะกลุ่มเกี่ยวกับศาสนา-วัฒนธรรม ไม่ว่าจะแขก ไทย จีนหรือฝรั่ง

กลุ่มที่คึกคักและสนุกมากๆ คือกลุ่มจีนครับ เพราะมีคนรู้วัฒนธรรมจีนเยอะ มีข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง

แต่ในขณะเดียวกันก็มีการโต้เถียงเผ็ดร้อนกันบ่อยครั้ง เพราะต่างคนก็ต่างยึดถือขนบธรรมเนียมบ้านตัวเอง

วันหนึ่งมีผู้ไปโพสต์ถามว่า กำลังเข้าอยู่ในบ้านใหม่ที่เพิ่งสร้างจะตั้ง “ตี่จู้เอี๊ยะ” (สำเนียงแต้จิ๋ว) ควรทำไงดี

มีคนใจดีไปตอบอยู่สองแนวทาง แนวทางหนึ่งก็บอกว่าทำๆ ไปเถอะ ศรัทธาเป็นใช้ได้ อีกแนวตอบในเชิงความรู้ทางวัฒนธรรมว่าต้องงั้นงี้

แต่ที่มีทะลุกลางปล้องขึ้นมาเลยคือตอบว่า “จะตั้งทำไม” แม้จะไม่ได้อธิบายเพิ่ม แต่ผมว่าคำถามนี้มีนัยสำคัญ

 

ตอนที่พ่อตาแม่ยายของผมไปซื้อบ้านที่บ้านโป่งซึ่งเป็นบ้านมือสองของญาติ (เดิมอยู่บ้านพักในค่ายทหาร) แม่ยายซึ่งเป็นคนฮากกา (และมีเชื้อสายมอญด้วย ส่วนพ่อตาเป็นคนกวางตุ้งที่มีเชื้อสายแต้จิ๋วและไหหลำ) คิดว่าจะต้องตั้งตี่จู้เอี๊ยะในบ้าน ราวกับเป็นเรื่องที่ควรทำทันทีเมื่อย้ายไปอยู่บ้านใหม่ แกก็เปิดปฏิทินจีนแล้วก็ซื้อศาลเจ้าสำเร็จที่เราเห็นๆ กันมาตั้งเองง่ายๆ

(ก่อนอื่นผมขออนุญาตใช้ภาษาจีนในบทความนี้ด้วยสำเนียงที่ผมคุ้นเคยคือสำเนียงฮกเกี้ยน ที่จริงสำเนียงแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนนั้นคล้ายกันมาก เพราะภาษาแต้จิ๋วมาจากภาษาตระกูลฮกเกี้ยนนั่นเอง เรียกว่าภาษาบั่นหลำ (หมิ่นหนาน-ฮกเกี้ยนใต้) เช่น ตี่จู้เอี๊ยะเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว ส่วนเต่จู้เอี๋ยเป็นสำเนียงฮกเกี้ยน)

สมัยผมยังเด็ก น้อยครั้งมากที่ผมจะเห็นบ้านคนฮกเกี้ยนตั้ง “เต่จู้เอี๋ย” โดยเฉพาะบ้านเก่าๆ ซึ่งมักจะมีหิ้งตั้ง “สีนจู้” หรือป้ายบรรพชนกับรูปเคารพ (กิมสิ้น) ของเทพเจ้าต่างๆ ที่นับถือกันในตระกูล นอกจากนี้ ยังนิยมตั้งป้ายไหว้ “ทีก้อง” หรือ “พ่อฟ้า” (พระหยกจักรพรรดิราชหรือเง็กเซียนฮ่องเต้ที่เราเรียกกัน) หน้าบ้าน ซึ่งไปรับเอาตัวป้ายจากวัฒนธรรมกวางตุ้ง และนิยมมีป้ายสำหรับ “เจ้าเตาไฟ” ในครัว

เมื่อผมมาอยู่ที่อื่น ผมจึงค่อนข้างแปลกใจที่มีคนตั้งเต่จู้เอี๋ยกันมาก แถมบางบ้านมีทั้งเจ้าที่แบบไทยและมีเต่จู้เอี๋ยไปพร้อมๆ กัน คนจีนเรียกเจ้าที่ไทยว่า “เจียวตี่เอี๋ย” ซึ่งมีผู้รู้บอกผมว่า คำว่า “เจียวตี่” ก็คือคำว่า “เจ้าที่” นั่นแหละ เป็นคำที่คนจีนเรียกตามคนไทย

 

มีเรื่องหนึ่งเล่าสู่กันฟังสนุกๆ นะครับ ตอนผมอยู่มัธยมต้น ครอบครัวเราไปเช่าบ้านอยู่ในตลาดเพื่อค้าขาย ปรากฏว่า บ้านนี้เจ้าของบ้านเดิมเขาบูชาเต่จู้เอี๋ยแล้วทิ้งไว้ แม้เราจะไม่คุ้นเคย แต่เตี่ยกับแม่ผมก็ตัดสินใจว่าเราก็บูชาจากเขาต่อละกัน อย่าเอาไปทิ้งเลย

ช่วงย้ายเข้าไปใหม่ๆ น้องสาวคนเล็กของผมก็เกิด วันหนึ่งแม่ก็ฝันไปว่ามีอาแปะแก่ๆ มาปิดหน้าต่างที่ห้องนอนชั้นสองให้ แล้วก็พูดว่า ระวังลูกจะไม่สบาย แม่ตื่นมาทั้งๆ ที่เป็นคนกลัวผีมาก แต่ก็ดีใจว่าคงเป็นเต้จู่นั่นแหละ แกคงมาแสดงความอารีให้เห็น เพราะเราก็ดีกับแก

คนส่วนมากนิยามเต่จู้เอี๋ยว่าเป็น “เจ้าที่” ประจำบ้านเรือนนั้น แม่ยายผมท่านถึงรีบตั้งเต่จู้เมื่อย้ายบ้าน แต่คนจีนมีเทพเจ้าที่ทำหน้าที่เหมือนเจ้าที่หลายองค์และหลายระดับ เช่น ในชุมชนก็มีเทพเจ้าที่เรียกกันลำลองว่า แปะก้อง มีเทพปุนเถ่าก้อง (แต้จิ๋วเรียก ปึงเถ้ากง) มีเทพระดับพระหลักเมือง มีเทพประจำแผ่นดิน (ถ่อเต่ก้อง) ชวนให้สับสนยิ่ง

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยอธิบายว่า ที่จริงการนับถือเจ้าที่จีนพัฒนามาจากการนับถือเทพแห่งแผ่นดินซึ่งมีสามระดับ คือแผ่นดินทั้งหมด แผ่นดินระดับชุมชน และระดับบ้านซึ่งบูชาที่โถงกลางบ้านมาก่อน

ส่วนเทพเจ้าที่ถูกเรียกว่าปุนเถ่าก้องหรือเจ้าที่ระดับชุมชนก็มีหลายองค์ เช่น ฮกเต็กเจี่ยสิน น่ำเทียนหมึงไต่เต่ ก่ำเที้ยนไต่เต่ ฯลฯ

 

ผมสอบถามท่านผู้รู้เรื่องจีนคือคุณณัฐนนท์ ปานคง ประธานฝ่ายพิธีกรรมศาลเจ้าแสงธรรมว่า ตกลงองค์ไหนคือปุนเถ่าก้องกันแน่

คุณนนท์บอกกับผมว่า ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ตั้งศาลเจ้านั้น ในบ้านเดิมที่เมืองจีนนับถือองค์ไหนเป็นเทพประจำถิ่น เมื่อย้ายมาที่ใหม่ก็เอาเทพองค์นั้นมาเป็นเทพประจำถิ่นตามเดิม เช่นชาวแต้จิ๋วนิยมนับถือเทพน่ำเทียนหมึงไต่เต่เป็นปุนเถ้าก้อง ในขณะที่คนฮกเกี้ยนนิยมนับถือพระฮกเต็กเจี่ยสินเป็นปุนเถ่าก้องมากกว่า (แต่ก็ได้รับการนับถือแพร่หลายอยู่พอสมควร)

ส่วนเรื่องเต่จู้นั้น ที่จริงคุณนนท์บอกว่า เต่จู้ไม่ใช่ “เทพ” ในความหมายของดวงวิญญาณสูงศักดิ์ที่ได้รับการตั้ง (หอง) เป็นเทพ ถ้าเทียบกับวัฒนธรรมไทยก็น่าจะเท่ากับ “ผีเรือน” นั่นเอง (คนฮกเกี้ยนเรียก “เต่กี้จู้”) เหตุที่คนฮกเกี้ยนไม่ค่อยมีศาลเต่กี้จู้กราบไหว้ ก็เพราะมีธรรมเนียมเซ่นไหว้เลี้ยงเต่กี้จู้ในครั้งแรกที่ขึ้นบ้านใหม่ จากนั้นไม่ถือว่าต้องไหว้อีกเพราะมีเทพในบ้านอยู่แล้วไม่ว่าเทพบรรพชนหรือเทพประจำตระกูล ส่วนเทพที่ทำหน้าที่ดูแลคนในบ้านก็คือเทพเจ้าเตา

ดังนั้น จึงมีคำอธิบายอีกว่า บ้านที่เป็น “บ้านใหม่” ซึ่งไม่มีประวัติผู้อยู่อาศัยมาก่อน หรือบ้านที่ยังบูชาบรรพชนจึงไม่นิยมตั้งศาลเต่จู้ แต่หากเป็นบ้านเช่า หรือบ้านในถิ่นอื่นที่ลูกหลานไม่ได้เอาบรรพชนติดไปกราบไหว้ด้วย จึงค่อยตั้งเต่จู้ คือกราบไหว้ผีเรือนบ้านที่เราไปอาศัยหรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านแทนเทพบรรพชน

การที่มีผู้ไปตอบคำถามเรื่องเต่จู้ดังที่ผมเล่าไว้ข้างต้นว่า “จะตั้งทำไม” ก็คงด้วยเหตุผลนี้เองกระมัง

 

ในเมืองไทยจึงมีความนิยมกราบไหว้เต่จู้กันมาก เพราะชาวจีนโยกย้ายมาอยู่อาศัยในที่ใหม่ อาจแพร่หลายมากกว่าเมืองจีนเสียอีก อาจารย์ถาวร สิกขโกศลเล่าว่า ในเมืองจีนหากใครไปถามเรื่องเต่จู้เอี๋ย เช่น ถามว่าที่บ้านคุณตั้งรึเปล่าอาจโดนโกรธได้ เพราะเหมือนไปดูถูกเขาว่าไม่มีบ้านเองต้องอยู่บ้านเช่าหรืออาศัยในที่ของคนอื่น

เนื่องจากเต่จู้เป็นวิญญาณศักดิ์ไม่สูง (คนจีนที่เคร่งเรื่องวัฒนธรรมยังคงจริงจังกับลำดับสูงต่ำของเทพ) การตั้งที่บูชาจึงมักทำอย่างง่ายๆ เช่น ใช้กระดาษเขียนตัวหนังสือบอกว่าเป็นเต่กี้จู้ แล้วปิดไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้านซึ่งติดกับพื้น หรือทำศาลอย่างเรียบๆ ไม่มีรูปเคารพ

แต่ต่อมาเมื่อมีผู้ทำศาลขายในเมืองไทยก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กล่าวคือ

อย่างแรก ผู้ทำศาลขายมีการเอารูปของเทพ “ฮกเต็กเจี่ยสิน” หรือท่านเตียวเม่งเต็ก ชายชราผมขาวถือไม้เท้าไปใส่ไว้ด้านในหรือทำเป็นรูปเคารพจึงทำให้คนสับสนระหว่างเต่จู้กับฮกเต็ก เทพฮกเต็กเป็นบุคคลในสมัยราชวงศ์จิวและได้รับการแต่งตั้งเป็นเทพเจ้าที่ของชุมชน มีศักดิ์เป็นประธานของศาลเจ้าประจำชุมชนได้ ธรรมเนียมของบ้านผม ถ้ากราบไหว้ท่านที่บ้านจะต้องตั้งรูปเคารพไว้บน “ตั๋ว” หรือโต๊ะบูชา ไม่ตั้งไว้บนพื้นดิน ถือเป็นการให้เกียรติยกย่อง

การที่มีคนเอารูปเทพฮกเต็กไปใส่ศาลเต่จู้ คนจึงเข้าใจผิดว่าเต้กี้จู้หรือผีเรือนกับเทพฮกเต็กเป็นองค์เดียวกัน

นอกจากนี้ มีการทำศาลอย่างวิจิตรพิสดาร เช่น หลังคาหลั่นหลายชั้น หรือมีมังกรประดับประดา มีซินแสบางท่านว่า ในเมื่อเป็นเทพแห่งพื้นดินก็ต้องเสริมด้วยธาตุดิน จึงมีการสร้างศาลเต่จู้ด้วยหินอ่อนและหินชนิดต่างๆ

หากนับตามศักดิ์ของเทพในระบบความเชื่อจีนเองแล้ว นี่ออกจะผิดธรรมเนียมอยู่พอสมควร เพราะศักดิ์ของศาลสูงเกินศักดิ์ของเทพ คนที่เคร่งประเพณีนี่คงเห็นเป็นเรื่องเกินเลย ส่วนคนชอบอวยและอยู่ในวัฒนธรรมอวยคงมองว่ายิ่งดี เหมือนที่เราอวยคนด้วยกัน แต่ผีจะชอบอย่างคนรึป่าวผมก็ไม่รู้

ที่แน่ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องการตลาดและรสนิยมของคนที่เปลี่ยนไปแล้ว คงแก้ไขได้ยาก

 

เรื่องอวยนี้ผมเจออะไรแบบแปลกๆ มาครับ คือญาติผู้ใหญ่ท่านนึงในฝ่ายภรรยาเรียกเต่จู้ที่บ้านท่านตอนเราไปไหว้ว่า “เต่จู้เล่าเอี๋ย” คำว่าเล่าเอี๋ย แปลว่า “เทพใหญ่” มหาเทพ เจ้านาย ฯลฯ เป็นคำลำลองที่ใช้เรียกเทพที่นับถือกันมากๆ องค์ใดก็ได้ เช่น คนแต้จิ๋วเรียกเฮี่ยงบู๊ซัวไต่เต่ (เจ้าพ่อเสือ) ว่าเล่าเอี๋ย ส่วนคนฮกเกี้ยนผมทราบมาว่า เล่าเอี๋ยใช้เรียกอยู่องค์เดียวเท่านั้น คือเทพเตี่ยนฮู้หง่วนโส่ยซึ่งเป็นเทพแห่งอุปรากรจีน แต่มาเจอเรียกเจ้าที่ว่าเล่าเอี๋ยนี่ก็งงเหมือนกันครับ

ที่จริงใครจะอวยเทพอย่างไร จะตั้งศาลใหญ่โตเพียงไรก็เป็นสิทธิ์ของคนคนนั้น แต่ผมยังยึดหลักว่า มีความรู้ไว้ก่อนเป็นดี ส่วนรู้แล้วจะเลือกอะไรต่อก็เป็นเรื่องของคนคนนั้นเอง ที่สำคัญจะเลือกอย่างไรก็มีราคาที่ต้องจ่าย จะเลือกตามความชอบโดยไม่สนธรรมเนียม แน่นอนว่าก็ย่อมมีคนวิจารณ์ ส่วนเลือกตามธรรมเนียมก็มีคนวิจารณ์เหมือนกัน

ท้ายนี้ผมขอเน้นว่า ผมไม่ใช่ผู้รู้ทางวัฒนธรรมจีน เป็นแค่ลูกจีนหลานจีนคนหนึ่ง ดังนั้น หากท่านมีข้อมูลความรู้ใดๆ ที่จะแนะนำสั่งสอน โปรดบอกผมด้วย หากผมผิดขอโปรดชี้แนะด้วยเมตตา

กราบคารวะไว้ล่วงหน้าสามจอก