จาก ‘วรรณกรรมเด็กขายดีตลอดกาล’ กลายเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ได้อย่างไร?/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก ‘วรรณกรรมเด็กขายดีตลอดกาล’

กลายเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ได้อย่างไร?

 

ได้รับการยกย่องให้เป็น One of the best-selling children’s books of all time สำหรับหนังสือเด็กชุด Green Eggs and Ham

Green Eggs and Ham เป็นผลงานการประพันธ์ของ Theodor Seuss Geisel หรือ Ted เจ้าของนามปากกา Dr.Seuss

เขาเกิดเมื่อ ค.ศ.1904 ที่รัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา

นามปากกา Dr.Seuss ปรากฏตัวครั้งแรกในนิตยสาร Dartmouth’s humor magazine ระหว่างที่เรียนอยู่ที่ Dartmouth College

หลังจากเรียนจบจากที่นั่น เขาก็เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Oxford เขียนภาพประกอบให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ มากมาย จนกระทั่งจบการศึกษา

Dr.Seuss เริ่มงานแรกคือการเป็นนักเขียนการ์ตูนของ The Saturday Evening Post และปักหลักทำงานที่นั่นมากกว่า 15 ปี

ต่อมาสำนักพิมพ์ Viking ได้มอบหมายให้ Dr.Seuss วาดภาพประกอบหนังสือ Boners แม้ว่า Boners จะไม่ประสบความสำเร็จด้านการเงิน แต่ก็ได้กล่องมากมาย

และเมื่อนำมารวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ Back Dog ก็กลายเป็นหนังสือขายดีใน Classic New York Times Bestseller ทันที

ผลงานโด่งดังอีกเรื่องหนึ่งของ Dr.Seuss ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่หลายคนชื่นชอบก็คือเรื่อง The Cat in the Hat

ตลอดชีวิตการทำงาน Dr.Seuss ได้สร้างสรรค์ผลงานหนังสือเด็กจำนวน 44 เล่ม ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1991

ผลงานชื่อดังอื่นๆ นอกจากเรื่อง Green Eggs and Ham และ The Cat in the Hat ก็เห็นจะได้แก่ Jack-O-Lantern, Oh, the Places You’ll Go, Fox in Socks และHow the Grinch Stole Christmas

ตราบถึงปัจจุบัน ผลงานของ Dr.Seuss ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 15 ภาษาและมียอดขายกว่า 200 ล้านเล่มทั่วโลก

นอกจากหนังสือแล้ว ผลงานของเขายังมี รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอีกกว่า 11 รายการ ได้รับรางวัล Academy award 2 รางวัล แถม Emmy award อีก 2 รางวัล

รวมถึง Peabody award และ Pulitzer Prize อีกอย่างละ 1 รางวัล เป็นเครื่องการันตีความสามารถ

 

แต่อนิจจา

ข่าวล่ามาเรือเกลือ ว่าหนังสือเด็กของ Dr.Seuss จำนวน 6 เรื่อง ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์ ด้วยสาเหตุ “มีภาพที่ละเอียดอ่อนด้านชาติพันธุ์”

จากกระแส “เหยียดผิว” ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยในสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เพียงประเด็นเหยียดคนผิวสีที่บานปลายในกรณีของ George Floyd

ไปจนถึงการกระทำรุนแรงต่อคนเชื้อสายเอเชีย หลังเกิด COVID โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีนในอเมริกา ภายใต้ข้อกล่าวหา ประเทศกำเนิด COVID

มาจนกระทั่ง การสะวิงกลับ เกิดการปลุกกระแส “เหยียดคนผิวขาว”

โดยสำนักที่พิมพ์หนังสือเด็กของ Dr.Seuss ร่วมกับบริษัทกฎหมายที่ดูแลลิขสิทธิ์วรรณกรรมของเขา ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์หนังสือ 6 ปกของเขา

 

ตามถ้อยแถลงของ Dr.Seuss Enterprises โดยให้เหตุผลว่า ชุดหนังสือดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบวิถีชีวิตที่อาจทำให้เกิดความสะเทือนใจ!

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ชี้ว่า เพื่อให้แน่ใจว่าหนังสือและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dr.Seuss Enterprises ยังคงเป็นตัวแทนในการสนับสนุนทุกชุมชน และทุกครอบครัวอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง And to think that I saw it on Mulberry Street หนึ่งในชุดหนังสือซึ่งถูกระงับการตีพิมพ์

ด้วยเหตุผล “ในหนังสือเล่มที่ว่า มีภาพวาดคนเอเชียสวมหมวกทรงแหลม ถือตะเกียบ และรับประทานอาหารจากชาม”

ส่วนในหนังสือเรื่อง If I Ran the Zoo ก็มี “ภาพวาดชายชาวแอฟริกันเท้าเปล่าสองคน สวมกระโปรงที่ทำด้วยหญ้า และเกล้าผมไว้เหนือศีรษะ”

นอกจากนี้ หนังสือเล่มอื่นๆ ที่เหลือ ก็จะยุติการตีพิมพ์อีกอย่างน้อย 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1. McElligot’s Pool

2. On Beyond Zebra!

3. Scrambled Eggs Super!

4. The Cat’s Quizzer

โดย Dr.Seuss Enterprises ได้เผยว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว (2020) หลังจากการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้ Theodore Seuss Geisel จะเสียชีวิตไปเมื่อ ค.ศ.1991 ทว่า นามปากกา Dr.Seuss ยังคงมีชื่อเสียงคงกระพัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Dr.Seuss Enterprises ที่ดูแลลิขสิทธิ์ และจัดจำหน่ายผลงานวรรณกรรมของเขา มีรายได้ประมาณ 33 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.5 ล้านดอลลาร์ ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง

ซึ่งนิตยสาร Forbes ได้ออกมาระบุว่า Dr.Seuss เป็นบุคคลผู้ล่วงลับที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก Michael Jackson ราชาเพลง Pop ผู้จากไป

นอกจากนี้ Forbes ยังรายงานต่อไปด้วยว่า เพียง 1 วันหลังการประกาศยกเลิกการพิมพ์หนังสือชื่อดังทั้ง 6 ปก ปรากฏว่า แม้ 9 ใน 10 อันดับแรกใน Amazon Top Ten หรือหนังสือขายดีที่สุดของร้าน Amazon.com จะยังตกเป็นของ Dr.Seuss

ทว่า กลับไม่มีรายชื่อของหนังสือทั้ง 6 เล่มที่ถูกยกเลิกการตีพิมพ์ดังกล่าว!

ไม่น่าเชื่อ ว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่สมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้รณรงค์จัดกิจกรรม Read Across America Day ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1998 ในวันเกิดของ Geisel

แต่ในช่วงปี-2 ปีหลังมานี้ สมาคมได้ตีตัวออกห่างจากหนังสือของ Dr.Seuss และหันไปสนับสนุนหนังสือเด็กอื่นๆ แทน

 

ความเคลื่อนไหวให้ยุติการเผยแพร่หนังสือของ Theodor Seuss Geisel ดังกล่าว ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รวดเร็ว และรุนแรงบนโลกโซเชียล

เช่น บางคนเรียกการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นตัวอย่างของ “การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม”

กระนั้นก็ดี ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับการตัดสินใจในครั้งนี้

อาทิ Rebekah Fitzsimmons แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ได้เขียน twitter ทันทีที่ทราบข่าว

“ชั้นคิดว่า โดยทั่วไป หนังสือที่พิมพ์ให้เด็กๆ อ่านนั้นมีความสำคัญ เพราะหนังสือจะเป็นตัวกำหนดมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อโลก และสอนให้เด็กๆ สร้างสัมพันธ์กับผู้คน สถานที่ และสิ่งรอบตัว”

“ส่วนผู้ใหญ่ก็ต้องใส่ใจต่อโลกทัศน์ที่สร้างขึ้นสำหรับบุตรหลาน ตลอดจนต้องหมั่นตรวจสอบหนังสือเล่มโปรดของลูกๆ เราอย่างรอบคอบอยู่เสมอ” Rebekah Fitzsimmons กระชุ่น

 

ทุกวันนี้ นอกจาก Dr.Seuss แล้ว ยังมีนักเขียนหนังสือเด็กยอดนิยมคนอื่นๆ ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ท่ามกลางกระแสเหยียดผิวในช่วงปี-2 ปีที่ผ่านมา

ว่าเป็น “งานเขียน” ที่ “สร้างความขุ่นเคืองให้กับใครหลายคน”

อาทิ Should We Burn Babar? ของ Herbert R. Kohl ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2007 ซึ่งวิจารณ์ผลงานวรรณกรรมเรื่อง Babar the Elephant ของ Jean de Brunhoff อย่างสาดเสียเทเสีย ว่าเป็นหนังสือที่ “เฉลิมฉลองการล่าอาณานิคม”

หรือจะเป็นหนังสือเรื่อง Curious George ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพียงเพราะมีเรื่องราวซึ่งเริ่มต้นด้วยการที่ชายผิวขาวคนหนึ่ง พยายามนำลิงที่ชื่อ George ออกจากทวีปแอฟริกา?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ Laura Ingalls Wilder ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการเขียนถึงประเด็นชนพื้นเมืองอเมริกันในหนังสือเรื่อง Little House on the Prairie ของเธอ

ผลสืบเนื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นต่อมาก็คือ หนังสือหลายเล่มของ Laura Ingalls Wilder ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาอีกบ่อยครั้ง และอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

จนในที่สุด เมื่อปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา American Library Association หรือสมาคมห้องสมุดแห่งสหรัฐอเมริกา จำต้องถอดชื่อ Laura Ingalls Wilder ออกจากการเป็นรางวัลที่เคยแจกในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี ทางสมาคมห้องสมุดแห่งสหรัฐอเมริกา ยังคงมอบรางวัล Geisel Award (นามสกุลของ Dr.Seuss) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับ “หนังสือสำหรับเด็กหัดอ่านที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ” อยู่เป็นประจำ และต่อเนื่องอยู่ทุกปีครับ