นิธิ เอียวศรีวงศ์ | วัฒนธรรมเผด็จการไทย (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วัฒนธรรมเผด็จการไทย (2)

 

สังคมที่ดี

ความหมายพื้นฐานของคำว่า “สังคม” คือแหล่งรวมของอะไรที่เหมือนๆ กัน ความหมายที่ขยับขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งก็คือ เหมือนกันอย่างเดียวไม่พอ ต้องสัมพันธ์กันในทางตรงหรือทางอ้อมด้วย ทางตรงก็เช่น นับญาติกันได้, หรือทำนาใกล้กัน, เลี้ยงควายทุ่งเดียวกัน ทางอ้อมก็คือ มีงานบุญประจำปีที่วัดพระธาตุหรือพระพุทธบาทเดียวกัน เป็นต้น

ขยับขึ้นไปกว่านี้อีกก็เป็นความหมายที่ว่า ไม่แต่เพียงสัมพันธ์กันในทางตรงหรือทางอ้อม แต่ต้องมีสำนึกว่าสัมพันธ์กันอีกด้วย เช่น ชาวประมงที่ประจวบกับชาวประมงที่กลันตันล้วนสัมพันธ์กันทางอ้อมเพราะใช้ทรัพยากรทะเลร่วมกัน แต่ผมเข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีสำนึกว่าตัวอยู่ร่วม “สังคม” เดียวกัน

สำนึกจึงไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

สังคมในความหมายอย่างนี้แหละที่อาจรวมเอาคนจำนวนมากไว้ด้วยกันได้ เช่น คนในชาติ คนในความเคลื่อนไหวต่อต้านโลกร้อน หรือคนในพันธมิตรชานม เป็นต้น สำนึกร่วมได้สร้างความสัมพันธ์ทางอ้อมที่กว้างไกลจนกลายเป็นสังคมขนาดมหึมาได้

สังคมในความหมายระดับนี้ มีความเป็นอิสระในตัวเอง มีเจตจำนงที่อาจจะแตกต่างจากรัฐ และมีพลังที่จะควบคุมหรืออย่างน้อยก็ต่อรองกับรัฐหรืออำนาจท้องถิ่นได้

สำนึกร่วมดังกล่าวเกิดได้อย่างไร ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ที่สุดก็คือ เกิดจากการสื่อสารกันโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงรู้ว่าต่างมีกันและกันอยู่ แต่ต่างก็มีความหมายพิเศษแก่ตนเอง

 

สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเล็กๆ ระดับหมู่บ้านหรือเมืองขนาดเล็ก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แม้หมู่บ้านไม่ถึงกับแยกขาดจากกัน เพราะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางตรงและอ้อมกับเมืองหรือหมู่บ้านอื่น นับตั้งแต่การใช้ทรัพยากรไปจนถึงแบ่งปันประเพณีความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นสังคมขนาดเล็กเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคนไทยมีสำนึกร่วมกับคนอื่นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันและกันเข้าหากันได้ไม่กว้างไกลเท่าไรนัก

แต่ก็มีเจตจำนงที่อิสระจากอำนาจทางการเมืองได้นะครับ เช่น ร่วมกันขจัดครอบครัวที่น่ารังเกียจออกไปจากสังคมด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ หรือเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร (เช่น จากป่าเป็นไร่นา) หรือ ฯลฯ โดยรัฐหรืออำนาจท้องถิ่นกำกับควบคุมไม่ได้ แต่กลับต้องหาทางสมยอมด้วย เช่น เก็บหางข้าวจากที่นาเปิดใหม่ ซึ่งเท่ากับรับรองสิทธิใช้ประโยชน์เป็นอย่างน้อย หรือสิทธิถือครองในชั้นที่สุด

เมื่อรัฐโบราณของไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นชาติ พร้อมกับการเข้ามาและขยายตัวของเครื่องมือสื่อสารแบบใหม่ เช่น สิ่งพิมพ์, รถไฟ, โทรเลข, ภาพถ่าย, การแสดงมวลชน, ระบบราชการแบบใหม่, การเกณฑ์ทหารแบบใหม่ ฯลฯ รัฐพยายามควบคุมเครื่องมือสื่อสารนี้อย่างรัดกุม ทั้งความเป็นเจ้าของเครื่องมือ, เนื้อหาที่จะสื่อ และขอบเขตที่เครื่องมือสื่อสารนั้นจะครอบคลุมถึง

เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ที่ถูกเรียกว่า “สื่อสารมวลชน” ตกอยู่ใต้ความควบคุมของรัฐในระดับใดระดับหนึ่ง กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว ระหว่างรัฐกับมวลชนมากกว่าการสื่อสารระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ที่กล่าวกันว่าสื่อโซเชียลในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับสื่อชนิดนี้ไปมาก ก็เพราะสื่อประเภทนี้เปิดโอกาสการสื่อสารระหว่างประชาชนอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อนในสังคมไทย ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นความพยายามของรัฐที่จะควบคุมสื่อชนิดนี้อย่างเต็มที่ จนประหนึ่งว่ารัฐกำลังล้วงลึกเข้าไปนั่งอยู่เหนือความคิดของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ (แม้แต่ในประเทศจีน)

การสื่อสารที่ถูกรัฐควบคุม ทำให้สำนึกร่วมเกี่ยวกับ “สังคมไทย” ในความหมายที่ครอบคลุมพลเมืองของชาติไทยทั้งหมดเกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐ ถึงมีอิสระในเจตจำนงของตน ก็เป็นอิสรภาพที่จำกัด มีพื้นที่ซึ่งอยู่พ้นไปจากจินตกรรมทางสังคมของคนไทยอยู่มาก ไม่ใช่แต่เพียงรัฐออกกฎหมายเอาผิดและลงโทษการแสดงออกซึ่งเจตจำนงอิสระในพื้นที่หวงห้าม ข้อนั้นเป็นธรรมดาในรัฐสมัยใหม่ต่างๆ ทั่วไป แต่ผมมุ่งจะหมายถึงการอบรมกล่อมเกลาผ่านการศึกษาและสื่อที่ทำให้ผู้คนยอมรับว่า พื้นที่นั้นๆ เป็นเขตหวงห้าม และอยู่พ้นออกไปจากจินตกรรมของสังคม

จนแม้แต่ฝันก็ยังไม่ทันได้ฝัน จะแปรให้กลายเป็นเจตจำนงของสังคมได้อย่างไร

 

และด้วยเหตุดังนั้น “สังคมไทย” ในจินตกรรมของคนไทยคือหมู่บ้าน เราแทบจะรู้จักหน้าค่าตากันหมด ดาราคือคนที่เราได้พบปะบ่อยทั้งในผลงานและในสื่อ จนพวกเขาคือเพื่อนบ้านที่เราเข้าไปยุ่งกับชีวิตของเขาได้ แต่เราขาดสำนึกว่า ในสังคมขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ ย่อมเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ไม่เฉพาะความแตกต่างทางชาติพันธุ์, ศาสนา, ภาษาและขนบประเพณีเท่านั้น ยังมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ, การเมือง, ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม, การศึกษา ฯลฯ อีกด้วย จนจะหามาตรฐานกลางเพื่อใช้กับทุกคนไม่ได้สักกรณีเดียว

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เรามีแต่ประชาชาติ ไม่มีประชาสังคมจริง และด้วยเหตุดังนั้น กลุ่มที่รวมตัวกันผลักดันประเด็นอะไรซึ่งไม่ใช่วาระของรัฐ จึงไม่ค่อยมีพลังมากนัก เพราะไม่มีสังคมหนุนหลังเพียงพอ… ก็เป็นเรื่องของคนละหมู่บ้านกันนี่ครับ

ไม่ประหลาดแต่อย่างไรที่อุดมคติของสังคมย่อมเป็นไปตามจินตกรรมที่แคบเช่นนั้น

 

สังคมที่ดีหรือสังคมในอุดมคติของไทยคือสังคมที่เต็มไปด้วยความสงบ ความสงบย่อมเป็นอุดมคติของทุกสังคม แต่ทว่า ในแต่ละสังคมนิยามความสงบและมองที่มาของความสงบต่างกันมาก

สังคมที่สงบของไทยคือสังคมที่ปราศจากความไม่ลงรอย อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในรูปต่างๆ ได้ ในสังคมหมู่บ้าน มีประเพณีและการจัดการที่สลับซับซ้อนหลายอย่างเพื่อระงับหรือบรรเทาความไม่ลงรอย ดังงานศึกษาของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หลายชิ้นด้วยกันชี้ให้เห็น แต่สังคมไทยไม่เคยพัฒนากฎกติกาที่จะทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ โดยไม่กระทบต่อกำลังการผลิต หรือความปรกติสุขในชีวิตของทุกคนในระดับหนึ่ง (อย่างไรเสียก็ต้องกระทบบ้าง แต่แค่ไหนจึงควรจะรับได้)

นักมานุษยวิทยาอเมริกันท่านหนึ่งซึ่งทำวิจัยในเมืองไทยกว่า 60 ปีมาแล้ว ใช้คำว่า “ความขัดแย้งซึ่งหน้า” (face-to-face conflict) อันเป็นสิ่งที่คนไทยพยายามหลีกเลี่ยง ทำให้คนไทยค่อนข้าง “ขี้นินทา” เพราะเป็นการระบายความขัดแย้งที่ไม่ต้องซึ่งหน้า (ทั้งยังปฏิเสธความรับผิดชอบได้ง่ายเสียด้วย)

สมัยหนึ่ง คนชั้นกลางที่มีการศึกษานั่นแหละที่ “นินทาเจ้า” กันทั่วไป แต่เมื่อคนรุ่นใหม่เสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา คนที่เคย “นินทาเจ้า” จำนวนมากกลับออกมากล่าวหาคนรุ่นใหม่ว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า การนินทาในสังคมหมู่บ้าน เป็นการลงทัณฑ์ทางสังคม (social sanction) ที่ได้ผลพอสมควร เพราะในที่สุด คนที่ถูกนินทาย่อมรู้ตัวจนได้ ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทำให้สังคมไม่พอใจไปเอง แต่ในสังคมขนาดใหญ่อย่างประเทศชาติ การนินทาไม่แก้ปัญหาใดๆ ได้เลย เพราะเราอยู่ร่วมสังคมกับคนส่วนใหญ่โดยสำนึกเท่านั้น ไม่ได้พบหน้าค่าตาและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันในการทำมาหากินหรือใช้ชีวิต อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งโดยตรง นินทาจึงเป็นทัณฑ์ทางสังคมที่ไม่ได้ผล คนบางกลุ่มก็อยู่สูงจนคุณนินทาไม่ถึง บางกลุ่มก็อยู่ต่ำเสียจนนินทาไม่ถึงเหมือนกัน

และแน่นอน เรานินทาเผด็จการมาไม่รู้จะเท่าไรแล้ว แต่เราก็ต้องอยู่กับเผด็จการในรูปใดรูปหนึ่งเสมอสืบมา

 

เพื่อรักษาความ “ลงรอย” เอาไว้ในสังคม ทุกคนจึงต้องสมยอมต่อระบบในทุกมิติ เพราะมิติต่างๆ ของระบบนี่เอง ที่รักษาระเบียบทางสังคมไว้ เป็นหลักประกันว่าชีวิตอาจดำเนินไปได้อย่างปรกติสุข ไม่เกิดความตึงเครียดที่อาจบ่อนทำลายพลังของระเบียบลง

ในบรรดาระเบียบทางสังคมที่สำคัญคือการยอมรับสถานภาพที่แตกต่างกัน เช่น ผู้อาวุโส โดยเฉพาะที่มีเส้นสายกับเจ้าเมืองถึงกับได้รับแต่งตั้งเป็นนายบ้าน หลวงพ่อสมภารที่วัด (ถึงไม่ใช่ตำแหน่งสืบตระกูลก็จริง แต่เท่าที่ผมได้เคยอ่านประวัติศาสตร์หมู่บ้านเท่าที่เคยมีผู้ทำไว้บ้าง ก็พบว่าทั้งสองตำแหน่งนี้วนเวียนอยู่กับเครือญาติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านเสมอ) คนที่กุมทรัพยากรในหมู่บ้านไว้มาก เช่น มีที่นามาก หรือมีเงินมาก และ ฯลฯ เป็นต้น มักได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไป อย่างน้อยก็ต่อหน้า

ถ้าพูดในมิติทางการเมือง คนเหล่านี้คือ “อาญาสิทธิ์” (authority) เป็นอำนาจที่มีฐานรองรับอยู่แล้วในสังคม โดยกฎหมาย, ประเพณี หรือความเชื่อทางศาสนา ขอให้สังเกตด้วยว่า การบรรลุถึงความเป็นอาญาสิทธิ์ในหมู่บ้าน ไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน และไม่เกี่ยวกับความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงนัก (คือจะว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยประชาชนสามารถลงทัณฑ์ทางสังคมได้ อันเป็นทัณฑ์ที่พอมีประสิทธิผลบ้างในสังคมขนาดเล็กเช่นหมู่บ้าน)

 

นักปราชญ์ไทยมักอธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนสถานภาพสูงในหมู่บ้านกับคนทั่วไปมีลักษณะต่างตอบแทนในเชิงอุปถัมภ์อยู่ด้วย เรียกว่าทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่หรือพันธกรณีต่อกัน ซึ่งอาจจะจริง เพราะทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเล็กๆ ต้องพึ่งพาอาศัยกันจริงในชีวิต แม้มีเงินจะจ้างแรงงาน แต่แรงงานก็ไม่ได้มีมากให้จ้างได้ตามสะดวก จำกัดอยู่กับคนจนๆ ในหมู่บ้านนั่นแหละ อำนาจต่อรองของแรงงานจึงมีมากกว่าสยบยอมอย่างราบคาบ (ดังที่ James Scott เล่าถึงชาวนาจนมลายูในไทรบุรีใน Weapons of the Weak)

แต่ในสังคมขนาดใหญ่และเชื่อมโยงไปทั่วโลก อย่างที่คนไทยต้องมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนเป็นแค่นิทานหลอกเด็ก หรืออุดมการณ์ที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะไม่มีเหตุแต่อย่างไรที่คนในสถานภาพสูงต้องพึ่งพาคนสถานภาพต่ำในสังคมเดียวกัน แม้แต่ในฐานะผู้บริโภค คนจนๆ ก็ไม่มีอำนาจต่อรองอยู่นั่นเอง มึงไม่กินมาม่า แล้วมึงจะกินอะไร้

อำนาจต่อรองของคนข้างล่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านอำนาจรัฐเท่านั้น ดังนั้น ความพยายามจะควบคุมรัฐ ซึ่งได้แต่คุ้มครองสนับสนุนคนข้างบน หรือความขมขื่นที่มีต่อ”ชนชั้น”, “ผู้ดี-ไพร่”, “เจ้าสัว-อาซิ้มร้านชำ”, “ทหาร-ครูบ้านนอก”, “เจ้า-สามัญชน” ฯลฯ จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

 

ถ้าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในสมัยนี้ ไม่พูดถึงความเท่าเทียมเลยสิ จึงทำให้น่าสงสัยว่ามีมือที่สามอยู่เบื้องหลังแน่

แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังมองความตึงเครียดทางสังคมเช่นนี้จากสายตาของหมู่บ้านเหมือนเดิม ด้วยการย้ำสิ่งตอบแทนที่คนข้างบนกระจายลงมาข้างล่าง เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่ไม่เคยพูดด้วยว่า การจ้างงานคือการแลกเปลี่ยนในตลาด ไม่ใช่บุญคุณ ผู้แลกเปลี่ยนทั้งสองฝ่ายจึงต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย

สำเหนียก (perception) ว่าสังคมคือระบบความสัมพันธ์ของหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้ผ่านพ้นสังคมหมู่บ้านไปนานแล้วเช่นนี้ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมองเห็นความพยายามจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมระดับใหญ่ว่าเป็นการทำลายความสงบ เพราะเกิดความขัดแย้งซึ่งหน้า กระด้างกระเดื่องต่ออาญาสิทธิ์อย่างเปิดเผย ปฏิเสธลำดับขั้นทางสังคมที่ช่วยผดุงระเบียบทางสังคมเอาไว้ และอกตัญญู เพราะปฏิเสธความสัมพันธ์ต่างตอบแทนซึ่งเป็นอุดมคติของสังคมไทย

(ยังมีต่อ)