จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : สั้นๆ ยาวๆ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ฉากอิเหนาได้นางบุษบา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

 

สั้นๆ ยาวๆ

 

เสียงคำในวรรณคดีน่าสนใจไม่น้อย เช่น คำว่า ‘กังเกง’ และ ‘กางเกง’ สมัยก่อนเสียงสั้น สมัยนี้เสียงยาว

วรรณคดีเรื่อง “สิงหไตรภพ” เล่าถึงนักมวยหญิงกำลังโรมรันพันตู

 

“ให้เปรียบคู่ผู้หญิงชกมวยปล้ำ                     ข้างหนึ่งดำข้างหนึ่งขาวสาวขยัน

กังเกงลายสายถักเสื้อกั๊กกัน                       ต่างตั้งมั่นเหม่นเหม่คนเฮฮา

เข้าทุบทอยต่อยตะกายป่ายปุบปับ                เสียงตุบตับเตะผางถูกหว่างขา

กังเกงแยกแตกควากเป็นปากกา                  ผู้ชายฮาเฮลั่นสนั่นดัง”

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายสั้นๆ ว่า ‘กางเกง = เครื่องนุ่งมี 2 ขา’ แต่รายละเอียดซึ่งบอกถึงลักษณะและที่มามีอยู่ใน “อักขราภิธานศรับท์” สมัยรัชกาลที่ 5

“กังเกง, ความเหมือนกับกงเกง คือ ผ้าที่ตัดเอย็บนุ่งตามทำเนียมเจ็ก แขก ฝรั่ง

กงเกง, ของที่เอาผ้ามาตัดเอย็บเปนรูปขาสองข้างสำหรับนุ่งตามทำเนียมจีน แขก ฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา, นั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เป็นไปได้ว่า กังเกง กงเกง หรือกางเกง แต่เดิมน่าจะไม่ใช่เครื่องแต่งกายของไทย

แม้อักขราภิธานศรับท์จะใช้คำว่า ‘กังเกง และ กงเกง’ แต่มีคำว่า ‘กาง’ ใช้ในความหมายว่า

“กาง, การที่คนยกแขนทั้งสองขึ้นเหยีดออกไป, หฤๅแยกขาทั้งสองออกไว้, หฤๅคลี่ใบออกไว้เปนต้น’ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทั้งยังยกตัวอย่างคำว่า กางแขน กางขา กางใบ ฯลฯ ไว้ด้วย แสดงว่าใช้เสียงสั้นเฉพาะคำว่า กังเกง กงเกง

 

น่าสังเกตว่าคำเดียวกันบางคำมีทั้งเสียงสั้นเสียงยาว เช่น เส้า-ส้าว, ขนง-โขนง, รากษส-รากโษส, หยิบหย่ง-หยิบโหย่ง ฯลฯ

“กาพย์เห่เรือ” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กวีสมัยอยุธยา กล่าวถึง ‘ไม้เส้า’ ว่า

 

“เรือไชยไวว่องวิ่ง                                   รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม

เสียงเส้าเร้าระดม                                  ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน”

 

“พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ กวีสมัยรัตนโกสินทร์ มีข้อความว่า

 

“ฝ่ายละคอนมอญรำพวกโรงนอก                ต่างก็ออกโรงประชันสนั่นฉาว

ทั้งโขนเต้นชุลมุนหุ่นออกราว                     กระทุ้งส้าวเสียงลั่นสนั่นไป”

 

ทั้ง ‘เส้า’ และ ‘ส้าว’ คือ ไม้สำหรับกระทุ้งให้จังหวะหรือสัญญาณ ซึ่งใช้ทั้งให้จังหวะฝีพายแทนเห่ในเรือกระบวนแห่เสด็จ ดังตัวอย่างแรก ‘เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน’ และให้สัญญาณการแสดงโขน ดังตัวอย่างหลัง ‘ทั้งโขนเต้นชุลมุนหุ่นออกราว กระทุ้งส้าวเสียงลั่นสนั่นไป’

โขนในที่นี้ คือ ‘โขนนอนโรง’ ดังที่อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบายไว้ในหนังสือ “โขนภาคต้นว่าด้วยตำนานและทฤษฎี” ว่า

“…การแสดงโขนโรงนอก หรือโขนนั่งราวนี้ ยังมีวิธีเพิ่มเติมออกไปเรียกว่า ‘โขนนอนโรง’ ได้อีก คือ ในเวลาบ่ายก่อนถึงวันแสดงวันหนึ่ง ก็ให้ปี่พาทย์ทั้ง 2 วงโหมโรง ในเวลาโหมโรงนั้น พวกโขนจะออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลงที่กลางโรง จบโหมโรงแล้วก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่าจับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพิราพ เสร็จแสดงตอนนี้แล้วก็หยุด พักนอนค้างคืนเฝ้าโรงนั้นอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่จัดไว้ต่อไป ในตอนนี้แหละเรียกกันว่า โขนนอนโรง…”

 

นอกจากคำว่า ‘เส้า-ส้าว’ ยังมีคำว่า ‘ขนง’ และ ‘โขนง’ ที่หมายถึงคิ้ว พบในวรรณคดีหลายเรื่อง อาทิ บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนที่ท้าวประมอตันพินิจพิจารณาอิเหนาด้วยความชื่นชม

 

“วงภักตร์ดังดวงบุหลันฉาย                          ขนงเนตรขวาซ้ายก็คมสัน

สมเปนโอรสพระทรงธรรม์                           ผู้วงศ์เทวัญเลิศไกร”

 

ในวรรณคดีเรื่อง “ลักษณวงศ์” ใช้ว่า

 

“พระเกศแสงแมงทับระยับนิล                      ระยับนวลภุมรินโขนงนาง

โขนงเนตรสองปรางอย่างจะย้อย                  อย่างจะแย้มแช่มช้อยทั้งสองข้าง”

 

โดยเฉพาะเรื่อง “โคบุตร” ใช้ทั้ง ‘ขนง’ และ ‘โขนง’ ในตอนที่นกขุนทองชมโฉมนางอำพันมาลา

 

“เปรียบขนงเหมือนหนึ่งวงธนูน้าว                 ทั้งสองเต้าตั้งเต่งเปล่งแฉล้ม”

 

และตอนที่นางยักขินีหลงใหลความสง่างามของสองพี่น้อง โคบุตรและอรุณกุมาร

 

“พึ่งแรกรุ่นรูปร่างสำอางเอี่ยม                       งามเสงี่ยมน่ารักเป็นหนักหนา

เนตรโขนงโก่งวาดเพียงบาดตา                     กิริยาขำคมก็สมทรง”

 

นอกจากนี้ ยักษ์ร้าย ผีเสือน้ำหรือพวกอสูรชั้นต่ำนิสัยดุร้ายที่เรียกกันว่า ‘รากษส’ หรือ ‘รากโษส’ ก็มีในเรื่อง “พระอภัยมณี” “โคบุตร” และ “ลักษณวงศ์” ตอนที่พระอภัยมณีร่ำไห้อาลัยนางผีเสื้อสมุทรที่ขาดใจตายกลายเป็นหิน อุศเรนปลอบประโลมและเป็นธุระทำศพให้

 

“จงคิดขืนแข็งใจพระไว้บ้าง

อันซากศพรากษสที่วายวาง                        ต้องอยู่กลางแดดฝนทนทรมาน

เราทำโรงร่มไว้ให้พอมิด                             จะได้คิดตามบุตรสุดสงสาร

แล้วสั่งให้ไพร่พลพวกคนงาน                       ขึ้นทำการก่อผนังแลหลังคา

ไม่ทันค่ำสำเร็จเป็นโรงใหญ่                         ด้วยพวกไพร่พร้อมพรักกันนักหนา”

 

ในเรื่อง “โคบุตร” นางยักษ์พยายามล่อลวงให้ร่วมรัก แต่โคบุตรรู้ทัน

 

“พระโคบุตรคิดในพระทัยกริ่ง                      ไฉนหญิงจึงมาร่วมสโมสร

เฝ้ากอดจูบลูบไล้ไม่หลับนอน                      พระอาวรณ์หวาดถวิลในวิญญาณ

ได้กลิ่นปากรากโษสก็เหม็นสาบ                   พระทรงทราบแจ้งประจักษ์ว่ายักษา”

 

เช่นเดียวกับเรื่อง “ลักษณวงศ์” ตอนเข้าเมืองมาร เจ้าของบ้านพากันทักทาย ‘ฤๅษีน้อย’ ด้วยความเอ็นดู

 

“เจ้าคุณจ๋าเข้ามาไยในบูรี

พระกุมารฟังสารพวกรากโษส                      เห็นปราโมทย์มาดหมายว่าฤๅษี

รับนิมนต์อสุรินด้วยยินดี                             เข้านั่งที่อาสนะอันควรการ

จึงแย้มเยื้อนเอื้อนตรัสกับรากโษส                 รูปสันโดษเด็ดบ่วงห่วงสงสาร”

 

ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ‘หยิบหย่ง’ หรือ ‘หยิบโหย่ง’ มีใช้ทั้ง 2 คำเช่นเดียวกับคำว่า ‘ประมง’ และ ‘ประโมง’ บทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ใช้คำว่า ‘หยิบหย่ง’ บรรยายท่าทีอีแมวของนางสุวิญชา ดังนี้

 

“ทำเสแสร้งปากว่าตาค้อน                           แสนงอนดัดจริตหยิบหย่ง

 

ตอนหนึ่งของ “นิราศเมืองแกลง” ใช้ทั้งคำว่า ‘หยิบโหย่ง’ และ ‘ประโมง’ ไปพร้อมๆ กัน

 

“อันพวกเราชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ             ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร”

 

ทั้ง ‘หยิบหย่ง’ และ ‘หยิบโหย่ง’ หมายถึง กรีดกราย ทำอะไรไม่จริงจังไปจนถึงไม่เอางานเอาการ ในที่นี้กวีกลับคำว่า ‘หยิบโหย่ง’ เป็น ‘โหย่งหยิบ’ เพื่อให้คล้องจองกับ ‘ประโมง’ ในข้อความว่า ‘อันพวกเราชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ’

น่าสังเกตว่าในวรรณคดีสมัยอยุธยา เรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เล่าถึงนกตบยุงและนกกระทุงทอง ทันทีที่เห็นปลาก็ดำน้ำหาปลาในฉับพลัน

 

“ตบยุงทุงทองมองไป                    มาหาปลาไหว

ตระบัดประมงลงทัน” (ประมง = ดำน้ำหาปลา)

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า ‘ประโมง’ และ ‘ประมง’ ไว้ตรงกัน ถ้าใช้เป็นคำนามหมายถึงการจับสัตว์น้ำ เช่น ทำประมง; คนเลี้ยงชีพในทางจับสัตว์น้ำ เรียกว่า ชาวประมง พวกประมง; ประโมง ก็ใช้ ถ้าใช้เป็นคำกิริยา หมายถึง ดำน้ำหาปลา ดังตัวอย่างข้างต้น

เสียงคำที่เปลี่ยนแปลงมีแต่เสียงสระเท่านั้นหรือ แล้วเสียงพยัญชนะและวรรณยุกต์ล่ะ

ไว้จะมาคุยต่อ