อารยะต่อต้าน (1) : การเคลื่อนไหวปฏิวัติแบบไม่รุนแรงกับติดอาวุธ/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

อารยะต่อต้าน (1)

: การเคลื่อนไหวปฏิวัติแบบไม่รุนแรงกับติดอาวุธ

 

“การปฏิวัติไม่ใช่เชิญแขกมากินเลี้ยง ไม่ใช่แต่งความเรียง ไม่ใช่วาดภาพหรือเย็บปักถักร้อย จะทำอย่างประณีต ไม่รีบไม่ร้อน สุภาพเรียบร้อย หรืออย่างละมุนละม่อม เมตตากรุณา พินอบพิเทา เสงี่ยมเจียมตัวและอารีอารอบไม่ได้. การปฏิวัติคือการลุกฮือขึ้นสู้ คือการปฏิบัติการอันดุเดือดรุนแรงที่ชนชั้นหนึ่งโค่นล้มอีกชนชั้นหนึ่ง.”

เหมาเจ๋อตง, “รายงานสำรวจการเคลื่อนไหวชาวนาในมณฑลหูหนาน”, (มีนาคม 1927)

คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตง, กลุ่มศึกษาปัญหาการเมือง, ก่อน 6 ตุลาคม 2519, น.15

 

ตรงข้ามกับคติพจน์ประธานเหมาข้างต้น จากฐานข้อมูลอันกว้างขวางครอบคลุมการเคลื่อนไหวปฏิวัติทั้งแบบไม่รุนแรงกับรุนแรง/ติดอาวุธ ซึ่งมุ่งโค่นระบอบเผด็จการเพื่อประชาธิปไตยหรือขับไล่ผู้ยึดครองต่างชาติเพื่ออิสรภาพในรอบ 120 ปีที่ผ่านมา จาก ค.ศ.1900-2019 จำนวนทั้งสิ้น 627 ครั้ง

ปรากฏว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งหมดคือ 303 ครั้งเท่านั้นที่การเคลื่อนไหวปฏิวัติดังกล่าวเกี่ยวพันกับการต่อต้านติดอาวุธที่มีการจัดตั้งในลักษณะการสู้รบจรยุทธ์หรือการก่อการกำเริบด้วยอาวุธ (armed guerrilla or insurgent campaigns)

ทว่าการเคลื่อนไหวปฏิวัติส่วนใหญ่ถึง 324 ครั้งด้วยกันกลับพึ่งพาอาศัยปฏิบัติการอารยะต่อต้านแบบไม่รุนแรง (nonviolent civil resistance) เป็นหลักอย่างท่วมท้น

หากแสวงหาสัจจะจากความเป็นจริง (????) ตามคติพจน์จีนโบราณที่ทั้งประธานเหมาและสหายเติ้งเสี่ยวผิงชี้แนะแล้ว ก็จะพบแนวโน้มที่การเคลื่อนไหวปฏิวัติค่อยคลี่คลายกลายกลับจากแรกเริ่มเดิมที มีการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นหนทางหลักในการเปลี่ยนแปลง (แท่งสีจางสูงค้ำแท่งสีทึบในแผนภูมิ) ไปสู่ภาวะที่ ->

กรณีการก่อการกำเริบด้วยความรุนแรงค่อยลดน้อยถอยลง ทว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านแบบไม่รุนแรง กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา (แท่งสีทึบเหยียดสูงขึ้น ขณะแท่งสีจางค่อย ลดต่ำลง) จนกระทั่ง ->

การณ์กลับกลายเป็นว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านแบบไม่รุนแรงเป็นแนวทางแพร่หลายที่สุดในปฏิบัติการท้าประชันกับระบอบอำนาจเก่าทั่วโลกปัจจุบัน (แท่งสีทึบขึ้นสูงลิบกว่าแท่งสีจางหลายเท่าตัว)

ดังจะเห็นได้ว่าช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (ค.ศ.2000-2019) มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติแบบไม่รุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าที่มันได้เคยเกิดขึ้นทั้งหมดตลอดคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบรวมกันด้วยซ้ำไป

ยิ่งถ้าดูเฉพาะทศวรรษล่าสุดจากปี ค.ศ.2010-2019 แล้ว ก็จะพบว่านี่เป็นช่วงทศวรรษที่ปรากฏการต่อต้านแบบไม่รุนแรงมากที่สุดนับแต่เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 เป็นต้นมา กล่าวคือ :

– มีการริเริ่มการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงขึ้นทั้งสิ้น 96 ครั้ง

– ยอดดังกล่าวคิดเป็นเกือบสองเท่าของจำนวนการริเริ่มการต่อต้านแบบไม่รุนแรงซึ่งเคยมากจนทำลายสถิติเป็นประวัติการณ์ไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อทศวรรษที่แล้ว (ค.ศ.2000-2009) ที่ 58 ครั้ง

– ในจำนวนการริเริ่มการปฏิวัติแบบไม่รุนแรง 96 ครั้งของทศวรรษล่าสุดนี้ มี 15 ครั้งเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2019 เพียงปีเดียว และอีก 23 ครั้งยังดำเนินสืบต่อมาจนสิ้นปี ค.ศ.2019

แผนภูมิ : การปฏิวัติไม่รุนแรงกับรุนแรง ค.ศ.1900-2019
แกนตั้งบอกจำนวนครั้ง, แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ
แท่งสีทึบ = การปฏิวัติไม่รุนแรง (324 ครั้ง); แท่งสีจาง = การปฏิวัติรุนแรง (303 ครั้ง)
(จาก Erica Frantz, Authoritariansim: What Everyone Needs to Know, p. 223)

สําหรับมูลเหตุที่การปฏิวัติแบบไม่รุนแรง/อารยะต่อต้านแพร่หลายมากขึ้นในระยะหลังนั้น เอริกา เชอโนเว็ธ (Erica Chenoweth) ศาสตราจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนและกิจการระหว่างประเทศ ณ วิทยาลัยการปกครองเคนเนดีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ซึ่งเป็นนักวิชาการหญิงชาวตะวันตกเรื่องอารยะต่อต้านที่โดดเด่นปัจจุบัน แจกแจงไว้ว่ามีอยู่ 6 ประการด้วยกัน กล่าวคือ :

1) แบบอย่างวิธีการต่อสู้ในแนวทางอหิงสาของมหาตมะ คานธี ผู้นำการต่อสู้กู้อิสรภาพของอินเดีย จากจักรวรรดิอังกฤษ (ค.ศ.1869-1948) เป็นที่สมาทานมากขึ้นของผู้คนทั่วโลกว่าชอบธรรมและสัมฤทธิผลในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงพากันเก็บรับและนำไปประยุกต์ใช้ในการต่อสู้ของตนเอง ตั้งแต่ขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาถึงขบวนการต่อต้านการถือผิวในแอฟริกาใต้ และตั้งแต่การปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวะเกียถึงอาหรับสปริงในตูนิเซีย ฯลฯ

2) เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ทำให้ง่ายขึ้นที่ผู้คนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านของประชาสามัญชนนานาประเทศในโลก สามารถเสพรับผลิตส่ง แบ่งปันเผยแพร่ ติดต่อเชื่อมโยง เรียนรู้แลกเปลี่ยน เที่ยวเยือนเยี่ยมเยียน ได้แรงบันดาลใจและเอาอย่างซึ่งกันและกัน ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ภาพ เสียงออนไลน์ โซเชียลมีเดีย พ็อดคาสต์ แชตรูมส่วนตัว คลับเฮาส์ ฯลฯ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ถูกเก็บรวบรวมศึกษาวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ผลิตซ้ำสืบต่อโดยสำนักข่าวและนักวิชาการผู้สนใจรูปแบบการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านอันแพร่กว้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนี้ จนเหลือวิสัยที่ชนชั้นนำชาติต่างๆ จะควบคุมจำกัดปิดกั้นข้อสนเทศดังกล่าวได้เช่นเดิมอีกต่อไป

ดังตัวอย่างมิตรสัมพันธ์ระหว่างโจชัว หว่อง กับเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และพันธมิตรชานมข้ามชาติในหมู่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์และเอเชียตะวันออก (https://www.thansettakij.com/world/453394; https://www.bbc.com/thai/thailand-52295774)

3) ตลาดซื้อขายบริการความรุนแรงแห้งงวดลงหลังสหภาพโซเวียตและค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ทำให้บรรดารัฐชาติที่เคยเที่ยวซื้อหาบริการก่อความรุนแรงสั่นคลอนความมั่นคงภายในของประเทศฝ่ายตรงข้ามจากกลุ่มกบฏจรยุทธ์ต่างๆ วางมือเลิกรากันไป

การเปลี่ยนย้ายดุลอำนาจของโลกยุคหลังสงครามเย็นช่วยยุติเกมที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต รวมทั้งจีนแข่งกันติดอาวุธและให้ทุนหนุนหลังกองกำลังตัวแทนไปก่อกวนเหล่าประเทศต่างค่ายต่างขั้วลงพอควร เป็นอันสิ้นสุดพลวัตการเมืองระหว่างประเทศที่เคยเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนกลุ่มกบฏนับสิบๆ กลุ่มในทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาตลอดช่วงสงครามเย็นที่ผ่านมา

4) กระแสการตื่นตัวและรณรงค์เรียกร้องกดดันสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมและต่อต้านความรุนแรงเขยิบสูงขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และยิ่งแรงกล้ามากขึ้นหลังสงครามเย็น โดยผ่านองค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ, องค์การนิรโทษกรรมสากล, ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เป็นต้น

5) บรรดาสถาบันการเมืองการปกครองที่กุมอำนาจทางการในการแก้ไขปัญหาของสังคมประเทศต่างๆ และระหว่างประเทศประสบความเสื่อมถอย ไม่พร้อมรับมือและล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาหลักๆ ของชาติและโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เช่น ปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม เพิ่มพรวด ประชากรสูงอายุมากขึ้น ฯลฯ

ขณะเดียวกันเยาวชนคนหนุ่ม-สาวที่มีการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ และพบว่าความคาดหวังต่อชีวิตการงานในอนาคตของตนไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่มีฐานสวัสดิการรองรับที่มั่นคง ต้องพากันเผชิญความเสี่ยงสารพัดที่มากับโลกาภิวัตน์อย่างมิอาจควบคุมได้ เช่น เสี่ยงต่อการตกงาน เรียนด้อยคุณภาพลงทางออนไลน์ ทำงานภาคบริการรายได้ต่ำไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา ภัยพิบัติภูมิอากาศสุดโต่ง ติดเชื้อ โรคระบาด ขาดโอกาสและไม่ได้รับความเป็นธรรม ฯลฯ

เหล่าเยาวชนชนชั้นเสี่ยงที่มีการศึกษา (educated precariat youth) เหล่านี้กำลังกลายเป็นฐานกำลังใหม่ของขบวนการอารยะต่อต้านที่เรียกร้องชนชั้นนำให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งเหลือสมรรถนะวิสัยทางสถาบันของชนชั้นนำที่จะแก้ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน

6) กระแสสูงของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรง/อารยะต่อต้านในหมู่พลเมืองยังเป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยตรงต่อกระแสประชาธิปไตยถดถอยและกลายเป็นอำนาจนิยมยิ่งขึ้น (democratic backsliding & authoritarianization) ของรัฐในหลายประเทศช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่โปแลนด์ ฮังการี ตุรกี บราซิล อียิปต์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง มาจนถึงไทยและเมียนมาภายใต้ระบอบรัฐประหาร

ขบวนการมวลชนต่อต้านระบอบอำนาจนิยมได้เก็บรับทฤษฎีและความรู้เรื่องอารยะต่อต้านจากนานาประเทศมาประยุกต์ใช้ทางปฏิบัติเพื่อผงาดขึ้นท้าทายเผด็จการด้วยความมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงในประเทศตนบ้าง

(ต่อสัปดาห์หน้า)