สำรวจ ‘ป้อมค่ายอโศก’ ‘คนม็อบ’ ผสาน ‘คาร์ม็อบ’ ทะลุฟ้า ชุมนุมต่อเนื่อง ทะลุแก๊ส ไม่จำนน ‘คฝ.’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สำรวจ ‘ป้อมค่ายอโศก’

‘คนม็อบ’ ผสาน ‘คาร์ม็อบ’

ทะลุฟ้า ชุมนุมต่อเนื่อง

ทะลุแก๊ส ไม่จำนน ‘คฝ.’

 

เมื่อเสียงในสภาไม่สามารถขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปได้

เนื่องจากผู้แทนราษฎรในซีกรัฐบาลยังคงผนึกกำลังเหนียวแน่น เทเสียง “ไว้วางใจ” ให้อยู่ในอำนาจต่อไป

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา และกำลังได้รับความทุกข์ยากสาหัสจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศทุกด้านของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล

การเมืองไทยมาถึงจุดที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่สะท้อนปัญหาและหาทางออกให้กับประชาชนได้

ทางเลือกที่เหลืออยู่จึงเป็นการออกมาชุมนุมปราศรัยบนท้องถนน โดยหวังให้ทุกเสียงที่มารวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่จะดังไปถึงฝ่ายผู้มีอำนาจ

การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นความหวัง ไม่ว่าโดยกลุ่มราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทะลุฟ้า เยาวชนปลดแอก รีเดม คาร์ม็อบ ฯลฯ กระทั่งเยาวรุ่นทะลุแก๊ส ก็ยังเป็นความหวัง

ล่าสุดกลุ่มชุมนุมขับเคลื่อนโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ หรือ อ.ห.ต. ประสานมือเข้ากับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักออกแบบกิจกรรมทางการเมือง ต้นกำเนิด “คาร์ม็อบ”

เลือกใช้จุดยุทธศาสตร์กลางเมืองอย่าง “แยกอโศก” เป็นฐานที่มั่น

ผู้ร่วมชุมนุมมาจากมวลชนหลากหลายทั้งคนเสื้อแดง กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ชอบพอแนวทางการเคลื่อนไหวยึดหลักสันติวิธี “ไม่บวก ไม่ลุย ไม่ปะทะ” อดกลั้น อดทน สะสมกำลัง รอวันจุดติด

เพราะถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ บก.ลายจุด จะมีประสบการณ์นำม็อบมาอย่างโชกโชน แต่จะอย่างไร “ม็อบอโศก” ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ยังต้องปรับยุทธวิธีแนวทางขับเคลื่อนหาจุดลงตัว

ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของการผสมผสาน

“คนม็อบ” แยกอโศก กับ “คาร์ม็อบ” รีเทิร์น

 

“ป้อมค่ายอโศก” ประกาศลงหลักปักเสาเป็นทางการภายหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ 5 รัฐมนตรีในสภาเมื่อวันที่ 4 กันยายน จบลงแบบที่ ส.ส.พรรครัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน

ถึงจะปรากฏรอยแตกร้าวในพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็มิอาจโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจได้

เต้น-ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และ บก.ลายจุด-สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เคยร่วมกันจัดคาร์ม็อบมาแล้ว 5 ครั้ง ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ครั้งสุดท้าย “คาร์ม็อบ คอลเอาต์” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

ได้ประกาศลั่นกลองรบ จัดชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ทันทีวันที่ 5 กันยายน โดยยึดเอาแยกอโศก พื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวงเป็นป้อมค่ายศูนย์กลางการแสดงพลัง

ยึดรูปแบบชุมนุมต่อเนื่องแต่ไม่ยืดเยื้อ นัดหมายมวลชนรวมตัวช่วง 4 โมงเย็นของทุกวัน และยุติแยกย้ายช่วงหัวค่ำ เพื่อให้กลับถึงบ้านก่อนเวลาเคอร์ฟิว 3 ทุ่ม

ช่วงแรกของ “ป้อมค่ายอโศก” มีลักษณะคล้ายม็อบเฟสติวัลคือ รวบรวมความหลากหลายของกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากการเปิด “ฟรีไมค์” ให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ขึ้นปราศรัยแสดงความเห็นทางการเมืองแบบอิสระ

ยังเปิดกว้างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่อย่าง “กลุ่มนักเรียนเลว” ได้เข้าร่วม ขึ้นป้ายขนาดใหญ่ข้อความ “เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก”

มีการใช้เด็กนักเรียนหญิงตัวเป็นๆ แสดงท่าผูกคอเสียชีวิต พร้อมประท้วงหยุดเรียนออนไลน์เป็นเวลา 5 วัน วันที่ 6-10 กันยายน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณความไม่พอใจไปถึงรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

ช่วงแรกป้อมค่ายอโศกจึงอยู่ระหว่างการบ่มเพาะ สะสมกำลังรอสถานการณ์สุกงอม

ระหว่างที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น การชุมนุมจึงต้องปรับวางวางแนวทางที่หลากหลาย หาจุดลงตัวที่จะดึงดูดประชาชนให้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ด้วยเหตุนี้ กิจกรรม “คาร์ม็อบ” ที่เพิ่งประกาศปิดฉากไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม จึงถูกรื้อฟื้นนำกลับมาใช้ใหม่ จากที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว 5 ครั้ง ทุกครั้งมีคนนำรถขับมาเข้าร่วมขบวนมากขึ้นเรื่อยๆ

คาร์ม็อบรีเทิร์น เพิ่มเติมครั้งนี้ยังมี “ไบก์ม็อบ” อีกด้วย

การที่โรคระบาดโควิดยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ของการชุมนุมทางการเมือง

แม้รัฐบาลจะประกาศอ้างตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนลดลงทุกวัน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะมาเข้าร่วมชุมนุมซึ่งเป็นกิจกรรมการรวมตัวของคนจำนวนมาก เพราะส่วนหนึ่งกลัวโรคระบาด กับอีกส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าตัวเลขตามที่รัฐบาลประกาศ จะเป็นตัวเลขจริง

คาร์ม็อบจึงเป็นรูปแบบการชุมนุมที่ตอบโจทย์ปัญหาโควิดได้อย่างดี

 

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เผยถึงแนวทาง “อโศกโมเดล” ว่า ได้ออกแบบให้เป็นป้อมค่าย ไม่ได้ออกแบบเป็นอีเวนต์ แต่ต้องการตั้งฐานการต่อสู้ที่ยืดเยื้อเหมือนที่เคยเกิดขึ้นยัง “สามเหลี่ยมดินแดง”

สำหรับ “คาร์ม็อบรีเทิร์น” เป็นการเชื่อมผสานระหว่าง “คนม็อบ” กับ “คาร์ม็อบ”

คนสะดวกลงถนนก็ปักหลักที่แยกอโศก คนไม่สะดวกลงถนนแต่สะดวกขับรถมา ให้ขับรถวนสุขุมวิท และเมื่อผ่านอโศกให้ “กดแตรยาวๆ”

เป็นการเชื่อมจุดแข็ง 2 รูปแบบเข้าหากัน

เปรียบเสมือนป้อมค่ายอโศกเป็น “ยานแม่” ส่วนคาร์ม็อบเป็น “ยานลูก”

รถทุกคันวิ่งวนผ่านอโศก ขยายพื้นที่ปฏิบัติการทางการเมืองจากอโศกเป็นสุขุมวิททั้งสายด้วยคาร์ม็อบ

เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะเป็นคนคุมขบวนคาร์ม็อบ ส่วน บก.ลายจุด จะปักหลักคุมป้อมค่ายอโศก

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวถึงการป้อมค่ายอโศกว่า เวทีแยกอโศกถือว่าสำเร็จทั้งรูปแบบและเนื้อหา เห็นการเชื่อมต่อระหว่างวัยและยุคสมัย คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมคนรุ่นใหญ่

แม้กรอบเวลาจะจำกัดสำหรับการนำเสนอเนื้อหาเชิงลึก แต่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยทำได้ชัดและถือเป็นจุดร่วมสำคัญของทุกกลุ่มทุกวัย

สถานการณ์โควิด-19 มีผลสูงต่อการลงถนน คนจำนวนมากยังลำบากใจที่จะเข้าร่วม พลังขับเคลื่อนโดยคาร์ม็อบทำได้ง่ายกว่าการตั้งเวทีชุมนุม

แต่การเดินไปข้างหน้าข้อจำกัดนี้จะค่อยๆลดลง การขยายตัวเชิงปริมาณจะเพิ่มขึ้นเหมือนพัฒนาการของคาร์ม็อบที่เติบโตตลอดเวลา

เราพิสูจน์ชัดเรื่องความสงบสันติวิธี รักษาพื้นที่ปลอดภัยให้คนส่วนใหญ่ การยกระดับยังคงยึดหลักการนี้เป็นสำคัญ รัดกุมไม่สุ่มเสี่ยงไม่สูญเสีย

มีคนหนุ่ม-สาวคือ ขบวนนำ คนกลุ่มนี้บริสุทธิ์และชอบธรรมในการทวงถามอนาคต

คนรุ่นใหญ่คือ กำลังหนุน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต้องช่วยเด็ก การแสดงความห่วงใยด้วยหวังดีย่อมทำได้โดยท่าทีที่เหมาะสมและเคารพการตัดสินใจของพวกเขา

ทั้งหมดเป็นแนวทางขับเคลื่อนของ “ป้อมค่ายอโศก”

ก่อนนำมาสู่การลั่นกลองรบครั้งใหญ่ นัดหมายชุมนุมวันที่ 19 กันยายน

ตรงกับวาระครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

นอกจากป้อมค่ายอโศก ยังมีกลุ่มทะลุฟ้าที่นัดทำกิจกรรมต่อเนื่อง โดยยึดเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฐานที่มั่น

7 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มทะลุฟ้านัดชุมนุมทำกิจกรรม “ทำ…มา 7 ปี อภิปรายครั้งนี้ รอดมาได้ยังไง” สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก

มีการนำป้ายผ้าข้อความที่ประชาชนร่วมกันเขียนความรู้สึกถึงรัฐบาล ขึ้นไปห่อคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโปรยกระดาษขาวจำนวน 11,112 แผ่น

มีการจัดนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายผู้ต้องขังจากคดีชุมนุม อาทิ ภาพนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

พร้อมเรียกร้องคืนอิสรภาพให้กับแกนนำและแนวร่วมการชุมนุมทุกคนที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ

เช่นเดียวกับกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ส แยกสามเหลี่ยมดินแดง ที่ยังดำเนินปฏิบัติการสันติวิธีเชิงตอบโต้ เป้าหมายขับไล่ประยุทธ์ ต่อต้านอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่องทุกเย็นย่ำค่ำคืน

ท่ามกลางการล้อมปราบของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยควบคุมฝูงชน หรือ คฝ.

ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อค่ำวันที่ 6-7 กันยายน ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ ทั้งการไล่ถีบรถจักรยานยนต์ให้ล้มเพื่อจับกุม และใช้กระบองฟาด

กระสุนยางและแก๊สน้ำตากลายเป็นอาวุธมาตรฐานของ คฝ. ใช้จัดการกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มทะลุแก๊ส ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่กลัวเกรง พร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพันเข้าแลก

มีการวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่สื่อและประชาชนส่วนใหญ่ เริ่มชินชากับการเคลื่อนไหวบริเวณแยกดินแดง สภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดช่องว่าง เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ยกระดับใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมได้โดยสะดวก

แต่ไม่ว่าสังคมจะให้ความสนใจหรือไม่สนใจก็ตาม เยาวรุ่นทะลุแก๊สก็ยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติแบบยืดเยื้อของพวกเขาต่อไป โดยมีสันติวิธีเชิงตอบโต้เป็นอาวุธต่อกรกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ยึดมั่นเป้าหมายระยะสั้นคือ ขับไล่ประยุทธ์ เป้าหมายระยะยาวคือ โค่นล้มชนชั้น สร้างรัฐสวัสดิการ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

ทั้งหมดคือการสะสมพลังมวลชนหลากหลายป้อมค่าย ไม่ว่าป้อมค่ายอโศก ป้อมค่ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือป้อมค่ายแยกดินแดง ล้วนมีเป้าหมายสำคัญตรงกันอย่างหนึ่งคือขับไล่ผู้นำรัฐบาลพ้นจากอำนาจ

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านด่านในสภามาได้ แต่กับด่านพลังมวลชนป้อมค่ายเหล่านี้ จะผ่านได้หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ฝ่ายใด อึด ถึก ทน มากกว่ากัน