ราชินีลายจุด (1) : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงที่ผ่านมาเขียนถึงศิลปินต่างชาติแถบยุโรป อเมริกาไปหลายตอนแล้ว

เพื่อเป็นการแก้เลี่ยนนมเนย ตอนนี้เลยขอวกกลับมาเขียนเรื่องศิลปินในแถบเอเชียกันบ้าง

โดยคราวนี้เป็นคิวของศิลปินแดนปลาดิบ ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะศิลปินญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงศิลปะร่วมสมัยของโลก

หลายคนรู้จักเธอในฉายา “ราชินีลายจุด” (Polka Dot Queen) เธอผู้นั้นมีชื่อว่า ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama)

ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม คอลลาจ (ภาพตัดแปะปะติด), ประติมากรรมนุ่มนิ่ม (Soft Sculpture) ศิลปะแสดงสด (Performance Art) และศิลปะจัดวางกับสภาพแวดล้อม (Environmental Installations) ที่โดยมากมุ่งเน้นในการนำเสนอสีสันอันหลอนประสาท รูปทรงและลวดลายซ้ำๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลวดลายจุดกลม หรือ (Polka Dot) และลวดลายลวงตาคล้ายรยางค์จำนวนนับไม่ถ้วน

เธอเป็นศิลปินผู้บุกเบิกกระแสศิลปะที่ผสมผสานหลากหลายแนวทาง

และเป็นศิลปินหญิงชาวเอเชียไม่กี่คนที่ร่วมแสดงงานเคียงบ่าเคียงไหล่ รวมถึงส่งอิทธิพลให้กับศิลปินชื่อดังของโลกอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล, เคลย์ส โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) และ จอร์จ ซีกัล (George Segal)

เกิดในวันที่ 22 มีนาคม ที่เมืองมัตสึโมโต้ จังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ในครอบครัวที่ทำธุรกิจฟาร์มเพาะชำต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์พืช

ถึงแม้จะเกิดในครอบครัวมั่งคั่ง แต่วัยเด็กของเธอก็ไม่มีความสุขนัก

เนื่องจากพ่อของเธอเป็นคนเจ้าชู้หลายใจและมักมากในกาม

ส่วนแม่ของเธอก็มักจะทุบตีทำร้ายร่างกายของเธอบ่อยๆ

เธอกล่าวว่าแม่ของเธอมักจะส่งเธอให้ไปลอบสะกดรอยตามพ่อของเธอเวลาเขาแอบดอดไปพบกับชู้รัก

ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลต่อทัศนคติทางเพศในชีวิตของเธอในภายหลังอย่างมาก

“ฉันไม่ชอบเซ็กซ์ แต่ฉันก็มีความลุ่มหลงเซ็กซ์ไปพร้อมๆ กัน เมื่อฉันเป็นเด็ก ฉันได้เห็นพ่อมีชู้รักมากหน้าหลายตา เพราะแม่ส่งฉันไปสะกดรอยตามพ่อ มันทำให้เมื่อฉันโตเป็นสาว ฉันเลยหวาดกลัวและไม่กล้ามีเซ็กซ์กับใครเลยเป็นเวลาหลายปี ความลุ่มหลงและความหวาดกลัวในเซ็กซ์ฝังลึกอยู่ในตัวฉันตลอดมานับแต่นั้น”

เมื่อคูซามะอายุได้สิบขวบ เธอเริ่มมีอาการประสาทหลอน

เธอมองเห็นภาพลำแสง รังสีออร่า และท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยลายจุดสุดลูกหูลูกตา

รวมถึงได้ยินเสียงดอกไม้ใบหญ้าพูดจากับเธอ

และมองเห็นลวดลายบนผืนผ้าต่างๆ ออกมากระโดดโลดเต้นมีชีวิต แบ่งตัว ปกคลุมและกลืนกินตัวเธอไปทีละน้อย

ในช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มต้นวาดรูปสิ่งเหล่านั้นออกมา

นอกจากนั้น เธอยังประทับใจกับก้อนหินกลมนวลสีขาวก้นแม่น้ำที่ทอดตัวผ่านบ้านของเธอ

ซึ่งเธอกล่าวว่ามันเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังความหลงใหลลวดลายจุดตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเธอ

เมื่อคูซามะอายุได้สิบสาม เธอถูกส่งตัวไปทำงานในโรงงานทหาร เพื่อทำหน้าที่เย็บและผลิตร่มชูชีพให้กับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

เธอกล่าวว่าเธอใช้ชีวิตวัยรุ่นในช่วงนั้นอยู่ในที่มืดมิด ที่เธอมักจะได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ และเห็นเครื่องบินรบอเมริกันบินอยู่บนฟ้าเหนือหัวตอนกลางวันแสกๆ

เหตุการณ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนี้ส่งอิทธิพลต่อช่วงชีวิตวัยเยาว์ของเธออย่างมาก

เธอกล่าวว่าช่วงเวลานั้นส่งผลให้เธอเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง

ถึงแม้ทางบ้านของเธอจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานศิลปะของเธอโดยสิ้นเชิง

และถูกแม่ของเธอห้ามวาดภาพและเอาสีและกระดาษของเธอไปทิ้งบ่อยๆ

แต่ก็ดึงดันที่จะทำงานศิลปะต่อไป

จนกระทั่งในปี 1948 เธอก็หว่านล้อมพ่อแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนศิลปะให้อนุญาตให้เธอเข้าเรียนศิลปะการวาดภาพแบบประเพณีของญี่ปุ่นที่เรียกว่า นิฮงกะ ที่โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมเทศบาลในเกียวโต

แต่เธอรู้สึกอึดอัดหงุดหงิดใจและไม่อินกับแนวทางอันเคร่งครัดของศิลปะประเพณี

และหันมาสนใจศิลปะแบบล้ำยุคสมัยของศิลปินหัวก้าวหน้า ที่เรียกขานว่า อาวองการ์ด (avant-garde) ที่เฟื่องฟูในยุโรปและอเมริกาในยุคสมัยนั้น

เธอเริ่มต้นวาดภาพในแนวนามธรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงธรรมชาติด้วยสีน้ำ สีโปสเตอร์ และสีน้ำมันบนกระดาษ

เธอเริ่มต้นปิดหรือห่อพื้นผิวของผืนผ้าใบวาดรูป หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างพื้น ผนัง ไปจนถึงวัตถุข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวในบ้านต่างๆ ด้วยกระดาษหรือลวดลายจุดกลม ซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเธอไปในที่สุด

ลวดลายจุดกลมซึ่งมีที่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งพลังงานของทั้งโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

และยังเป็นรูปทรงของดวงจันทร์ ซึ่งมีความสงบ กลม นุ่มนวล เปี่ยมสีสัน ไร้อารมณ์ความรู้สึก

มันกลายเป็นความเคลื่อนไหวและหนทางสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด

ผลงานที่ทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคึอ Infinity Nets ภาพวาดทุ่งลายจุดกลมอันกว้างใหญ่ที่เกิดจากช่องว่างกึ่งกลางขดวงกลมที่วาดทับซ้อนจำนวนนับไม่ถ้วนจนดูเหมือนตาข่ายขนาดมหึมา

ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจโดยตรงมาจากอาการประสาทหลอนของตัวเอง

โดยเธอวาดภาพลวดลายจุดกลมนี้ตั้งแต่เมื่อตอนสิบขวบ ซึ่งเป็นภาพของผู้หญิงญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโน ที่น่าจะเป็นภาพของแม่ของเธอเอง ที่ถูกปกคลุมด้วยลายจุด

ผลงานชุดนี้ของเธอบางชิ้นมีขนาดใหญ่กว่า 30 ฟุต

เธอกล่าวถึงประสบการณ์ภาพหลอนในวัยเด็กอันเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานศิลปะของเธอว่า

“วันหนึ่ง ฉันมองไปที่ลวดลายดอกไม้สีแดงบนผ้าปูโต๊ะ เมื่อฉันละสายตาไปมองที่อื่น ลวดลายเหล่านี้ก็คืบคลานมาปกคลุมฝ้าเพดาน หน้าต่าง และผนัง และในที่สุดมันก็ปกคลุมไปทั่วทั้งห้อง ปกคลุมไปทั่วทั้งตัวฉัน และทั่วทั้งจักรวาล ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังถูกลบเลือนตัวตน และหมุนวนเข้าไปในห้วงเวลาอันเป็นอนันต์แห่งกาลเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด และถูกกลืนกลับสู่ความว่างเปล่า และฉันตระหนักได้ว่ามันไม่ได้เป็นแค่เพียงจินตนาการ แต่มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ฉันรู้สึกหวาดกลัว และคิดว่าต้องวิ่งหนีจากการไล่ล่าและกลืนกินโดยดอกไม้แดงเหล่านั้น ฉันวิ่งหนีไปที่บันไดอย่างสิ้นหวัง ขั้นบันไดใต้ฝ่าเท้าฉันค่อยๆ แตกสลายร่วงหล่น และค่อยๆ ดึงฉันให้จมดิ่งลงไป”

ด้วยความต้องการที่จะต่อต้านกรอบและขนบธรรมเนียมและศีลธรรมแบบเก่าๆ ของครอบครัว และด้วยจิตใจที่ใฝ่หาเสรีภาพและชื่อเสียง หลังจากมีงานแสดงเดี่ยวในเมืองมัตสึโมโต้ และโตเกียว คูซามะในวัย 27 ก็ตัดสินใจเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา

เธอกล่าวว่า สังคมญี่ปุ่นนั้นเล็กเกินไป มีความเป็นศักดินาและกดขี่และดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิงมากเกินไป

ในปี 1957 เธอเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และลงหลักปักฐานในมหานครนิวยอร์ก ตามคำชักชวนของศิลปินหญิงชาวนิวยอร์ก จอร์เจีย โอ”คีฟฟ์

ที่นั่นเธอผลิตผลงานภาพวาดที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวศิลปะ แอ็บสแตรก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำงานประติมากรรมและศิลปะจัดวาง

ด้วยความช่วยเหลือแนะนำจากโอ”คีฟฟ์ ทำให้คูซามะเริ่มสร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะศิลปินหัวหอกของกระแสเคลื่อนไหวศิลปะอาวองการ์ดในยุคนั้น

ในปี 1961 เธอย้ายไปเปิดสตูดิโอศิลปะในอาคารเดียวกับศิลปินหัวก้าวหน้ามาแรงในยุคนั้นอย่าง โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) และ อีวา เฮสส์ (Eva Hesse) และกลายเป็นเพื่อนสนิทกันในที่สุด

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เข้าร่วมในกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะแนวป๊อปอันรุ่งเรือง และมีโอกาสได้สนิทสนมกับเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตผู้โด่งดังอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล

นอกจากผลงานภาพวาดลวดลายจุดวงกลม คูซามะยังทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับจากพฤติกรรมทางเพศของพ่อของเธอ

ถึงแม้ว่าเธอจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนไร้เพศ และหวาดกลัวเซ็กซ์ แต่ผลงานของเธอก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอย่างชัดเจนจะแจ้งบ่อยครั้ง

ดังเช่นผลงานในปี 1963 ที่เธอทำการติดชิ้นส่วนที่มีรูปทรงเหมือนองคชาตสีขาว ลงบนวัตถุและข้าวของต่างๆ อย่างรองเท้า เก้าอี้ บันได ไปจนถึงเรือพาย

รวมถึงถ่ายเอกสารภาพถ่ายองคชาตดุ้นเขื่องสีขาวเรียงรายเป็นพรืด และติดบนผนังห้องเหมือนวอลล์เปเปอร์

ซึ่งผลงานชิ้นนี้นี่เองที่เธออ้างว่าวอร์ฮอลขโมยไอเดียของเธอไปใช้ โดยวอร์ฮอลทำภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปวัวจำนวนนับไม่ถ้วนติดเป็นวอลล์เปเปอร์บนผนังในนิทรรศการของเขาในปี 1966 (ซึ่งจะขโมยจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน)

ในช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มพรีเซนต์ตัวเองด้วยการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแหวกแนวสีสันสดใสใส่วิกแต่งหน้าแต่งตาถ่ายภาพคู่กับงานตัวเองเป็นกิจวัตร

ในช่วงปี 1963 คูซามะเริ่มทำซีรี่ส์ Mirror/Infinity rooms ซึ่งเป็นผลงานศิลปะจัดวางอันซับซ้อน ที่ประกอบด้วยห้องที่สร้างขึ้นจากกระจกเงา ที่มีหลอดไฟนีออนทรงลูกบอลหลากสีจำนวนนับไม่ถ้วนแขวนห้อยอยู่ในระดับที่ต่างกัน

เมื่อผู้ชมเข้าไปยืนในห้องก็จะเห็นแสงไฟหลากสีสะท้อนกันไปมาสร้างภาพลวงตาของพื้นที่อันกว้างไกลไร้ที่สิ้นสุด

โดยเธอทำการทดลองกับผลงานชุดนี้ในหลากหลายขนาดและรูปแบบ

แต่อย่างไรก็ดี เธอกลับไม่ได้รับผลตอบแทนด้านการเงินจากการทำงานศิลปะอย่างหนักหน่วงของเธอเท่าไหร่นัก

ยังดีที่โอ”คีฟฟ์หว่านล้อมนายหน้าขายงานศิลปะของเธอให้ช่วยซื้อผลงานของคูซามะเพื่อช่วยเธอให้รอดจากวิกฤตทางการเงินมาได้

“ขออนุญาตฝากข่าวกิจกรรมเสวนาและเปิดตัวหนังสือ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ ในวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 13.00-14.30 น. ที่หอศิลป์ศุภโชค (S.A.C. Subhashok The Arts Centre) ใครสนใจไปฟังก็ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2662-0299”