เผ่าพันธุ์ที่มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เผ่าพันธุ์ที่มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า

 

‘Volksgemeinschaft’ หรือ ‘ชุมชนเอกชาติพันธุ์’ คืออุดมการณ์หลักของระบอบนาซีที่ต้องการสร้างประเทศเยอรมนีให้เป็นดินแดนที่มีเพียงเชื้อชาติเดียว คือ เชื้อชาติเยอรมันอันบริสุทธิ์เท่านั้น

รากลึกของแนวความคิดนี้จึงมิเพียงเป็น ‘ชาตินิยม’ (nationalism) แต่เป็นแนวคิด ‘เชื้อชาตินิยม’ (racism) ซึ่งคู่ควรต่อการมองย้อนกลับไปพิจารณาในช่วงเวลาที่การเมืองแบบขวาจัดคึกคักมากขึ้นพร้อมกระแสเหยียดชาติพันธุ์และต่อต้านผู้อพยพในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

เว็บไซต์ artandcultgoz.medium.com สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนการฆ่าล้างเผาพันธุ์ในระบอบนาซี’ มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก

อาจารย์อธิบายว่า แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองและสังคมในเยอรมนีช่วง ค.ศ.1880-1920 ซึ่งกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาใช้อุดมการณ์นี้เพื่อเรียกคะแนนเสียงให้กลุ่มของตนในฐานะอุดมการณ์การเมืองแบบหนึ่ง จุดประสงค์หลักที่วาดฝันคือ การสร้างอาณาจักรเยอรมันอันยิ่งใหญ่ที่ปราศจากยิว

โฟกัสไปที่ ‘เชื้อชาติ’

โดยก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจ อุดมการณ์นี้เริ่มจากการโยนความผิดให้ชาวยิว เช่น ใส่ร้ายว่าหนีทัพช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนเป็นเหตุให้เยอรมนีแพ้สงคราม

ความชัดเจนเริ่มมากขึ้นเมื่อพรรคนาซีครองอำนาจตั้งแต่ ค.ศ.1933 การต่อต้านชาวยิวทำกันเป็นระบบโดยมีเป้าหมายให้ชาวยิวอพยพออกไปจากประเทศเยอรมนี

สร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรผ่านการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเยอรมันเชื้อสายยิว มีมาตรการริบทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ ออกข่าวเท็จ เชื่อมโยงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เข้ากับชาวยิว อ้างวิทยาศาสตร์เทียมว่าการสมรสหรือมีชีวิตร่วมกันกับชาวยิวจะนำมาซึ่งความเสื่อมทรามและอ่อนแอ

ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการด้อยค่าความเป็นมนุษย์แก่คนเชื้อสายยิว

 

อาจารย์ตุลย์อธิบายว่า ภาษาที่ระบอบนาซีใช้ในการบรรยายถึงชาวยิวเต็มไปด้วยน้ำเสียงรุนแรง เหยียดหยาม และก้าวร้าว เสมือนเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งปฏิกูล

อ่านแล้วก็ชวนคิดต่อว่าความรุนแรงจากภาษานี่เองที่สร้างความรู้สึกที่ผู้ใช้ภาษามีต่อเหยื่อ ซึ่งอาจเป็นชนวนตั้งต้นไปสู่การปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นราวกับพวกเขามีชีวิตที่ด้อยค่ากว่า

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อธิบายแนวคิด ‘เชื้อชาตินิยม’ ว่าสร้างขึ้นบนฐานความรู้ของวิทยาศาสตร์ พัฒนาไปสู่แนวคิดความสะอาดทางชาติพันธุ์ ซึ่งแมรี่ ดักกลาส นักมานุษยวิทยาคนสำคัญกระตุกให้คิดว่า “Dirt is a matter our of place. It exists only in the eyes of the beholder.” ความสกปรกหมายถึงสิ่งแปลกปลอมซึ่งขึ้นอยู่กับการมองหรือความคิดของผู้มองเท่านั้น

ดังเช่นที่ชาวยิวไม่ได้ ‘สกปรก’ ในสายตาสากลโลก แต่ ‘สกปรก’ เฉพาะในสายตาของคนที่มีความคิดแบบชุมชนเอกชาติพันธุ์ที่อยากกำจัด ‘เชื้อชาติปนเปื้อน’ ออกไปจากประเทศ ซึ่งเมื่อพูดถึง ‘เชื้อชาติไร้การปนเปื้อน’ นั้นยากจะพิสูจน์ ผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซีจึงใช้วิธีการกำจัดแบบเหวี่ยงแหทำให้ส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้าง

ตัวอย่างเช่น เด็กที่เกิดมามีร่างกายพิการหรือปัญหาสุขภาพจิตแต่กำเนิด ไม่ว่าจะมีเชื้อสายใดก็แล้วแต่ แพทย์ในระบอบนาซีจะสังหารตามปฏิบัติการ Aktion T-4 เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์เอาไว้ โดยไม่รู้สึกว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องผิดบาปแต่อย่างใด

ดร.วิลเฮล์ม เบเยอร์ (Wilhelm Bayer) แพทย์ระบอบนาซีกล่าวต่อศาลอาชญากรสงครามว่าตนเองไม่มีความผิดฐานฆ่าคน เพราะเด็กเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ แต่ไม่ใช่คน เมื่อเขาฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน จะให้รับผิดต่ออาชญากรรมนั้นได้อย่างไร

เขายังคงยืนยันอุดมการณ์ที่สูงส่งของตนว่าถูกต้องชอบธรรม ไม่เลือกสำนึกผิดเพื่อลดโทษ แต่ยืนยันอุดมการณ์จนวินาทีสุดท้าย

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าระบอบบางชนิดสามารถทำให้มนุษย์คนหนึ่งเชื่อว่า มีคนบางประเภทที่ ‘ไม่ใช่คน’ หรือมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าพวกตนเอง

 

เมื่ออุดมการณ์เช่นนี้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือ Holocaust เกิดขึ้นได้ในแผ่นดินเยอรมนียุคฮิตเลอร์

ซึ่งที่จริงมิได้จัดการแค่ชาวยิวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวเยอรมันกลุ่มอื่นที่ ‘ไร้ประโยชน์’ และไม่สามารถทำให้เยอรมนียิ่งใหญ่ได้ในสงคราม

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำกันอย่างเป็นระบบ มีค่ายกักกัน (Concentration camps) หลักๆ 24 ค่าย แต่ละค่ายมีค่ายกักกันบริวารอีก 1,000 ค่าย รวมทั้งสิ้น 24,000 ค่ายทั่วยุโรป

ค่ายเหล่านี้มีไว้เพื่อกำจัดคนที่มีทัศนคติทางการเมืองไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของ ‘ชุมชนเอกชาติพันธุ์’

สิ่งที่แตกต่างจากค่ายกักกันของระบอบการเมืองอื่นคือ ค่ายกักกันนาซีนั้นมุ่งหวังที่จะ ‘ทำลาย’ บุคคลผู้ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น

ขณะที่ค่ายกักกันของระบอบสตาลินมุ่งฟื้นฟูจิตวิญญาณคอมมิวนิสต์ (ปรับทัศนคติเพื่อกลับสู่สังคม)

แต่เมื่อนาซีจับกุมนักโทษมาอยู่ในค่ายเสียจนล้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับถัดไปจึงเป็นการสังหาร ค่ายกักกันหลายแห่งกลายร่างเป็นค่ายสังหารไปแทน

ดังที่ทราบกันว่ามีผู้คนทั้งชาวยิวและเชื้อชาติอื่นถูกสังหารไปหลายล้านคนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ผมมีโอกาสเดินทางไปทำสารคดี ‘พื้นที่ชีวิต’ ที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ได้เห็นทั้งที่อยู่อันเบียดเสียด คุกเดี่ยวอึดอัดคับแคบ กำแพงที่นักโทษถูกยิงทิ้ง และห้องรมก๊าซอันเลือดเย็น กระทั่งถึงวันนี้บรรยากาศสลดหดหู่ยังแผ่ปกคลุมไปทั่วค่าย

อุดมการณ์โหดร้ายสุดขั้วเช่นนี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงความคิดความรู้สึกของผู้คนที่รับใช้ระบอบนาซีเท่านั้น

มันยังส่งผลต่อความคิดที่มีต่อชีวิตชาวยิวในสายตาคนอื่นด้วย

อาจารย์ตุลย์เล่าถึงคำพูดที่ชาวนาโปแลนด์ในเขตยึดครองของนาซีพูดกับพ่อค้าชาวยิวซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของตนระหว่างที่พ่อค้ายิวกำลังหนีตายจากการสังหารหมู่

ชาวนาโปแลนด์ผู้นั้นกล่าวว่า “ไหนๆ คุณก็ต้องตายอยู่แล้ว ทำไมไม่มอบรองเท้าบู๊ตของคุณไว้ให้กับผมล่ะ อย่างน้อยผมก็จะจดจำคุณไว้”

ข้อความนี้ปรากฏในงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่อง Golden Harvest ของ Jan Tomasz Gross มันสะท้อนให้เห็นว่าความเลือดเย็นจากระบอบนาซีนั้นแผ่ซึมเข้าสู่ผู้คนในดินแดนที่ระบอบนี้เข้าไปยึดครองด้วย

 

เมื่อถามว่ามีแนวคิดใดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุดมการณ์อันน่าสยดสยองเช่นนี้อีก

อาจารย์ตุลย์พูดถึงคำว่า ‘Menschlichkeit’ (เมน-ชลิช-ไคต์) เป็นภาษาเยอรมันหมายความว่า A man of great humanity หรือผู้มีมนุษยธรรม เป็นปรัชญาที่สรรเสริญคุณค่าความเป็นมนุษย์ เชื่อในความหลากหลาย ความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นพี่เป็นน้องของมวลมนุษยชาติ (humankind) เคารพผู้อื่น มีความยุติธรรม ซึ่งทำให้รักและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง อยู่ร่วมกันโดยเคารพและให้เกียรติกัน

อีกคำคือ Natural Rights (สิทธิตามธรรมชาติของปัจเจกบุคคล) ที่เน้นสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพในการดำเนินชีวิต และสิทธิที่จะปกป้องทรัพย์สินของบุคคล (life, liberty, property)

ซึ่งรวมถึงสิทธิในการแสวงหาความสุขให้ตนเอง มีความเป็นอยู่ที่ดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิทธิโดยธรรมชาติติดตัวมาแต่กำเนิดอยู่นอกเหนืออำนาจควบคุมของรัฐ ไม่มีกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมจารีตใดๆ มาพรากไปได้

ซึ่งเมื่อมีสองแนวคิดนี้กำกับอยู่ เราย่อมลดความเสี่ยงที่จะคิดแบบ Racism ลง และควรช่วยกันกำจัดแนวคิดที่มีอคติด้านเชื้อชาตินี้ออกไป

หากมันงอกขึ้นเป็นต้นกล้าก็ไม่ควรให้เติบใหญ่ในสังคม เพราะเสี่ยงต่อการมองคนไม่เป็นคน ปฏิบัติกับอีกฝ่ายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ กระทั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นล้านๆ ศพ

 

แน่นอนว่าแนวคิด ‘เชื้อชาตินิยม’ แบบนาซีนั้นสุดโต่งอย่างยิ่ง

กระนั้นก็มิควรประเมินแนวคิดเชื้อชาตินิยมแบบอื่นๆ ที่อาจดูรุนแรงน้อยกว่า อย่างการดูถูกคนต่างเชื้อชาติและยกตนเหนือกว่า

แม้บรรยากาศเรื่องนี้ในบ้านเราดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีให้เห็น การมองเพื่อนร่วมสังคมเป็นเจ๊ก แขก ลาว เขมร พม่า โรฮิงญา ฯลฯ โดยมีท่าทีและทัศนคติว่าเชื้อชาติอื่นด้อยกว่า หรือในลักษณะเหยียดภูมิภาคผู้คนในประเทศเดียวกันเองก็ตาม

ไล่เลยมาถึงการเหยียดกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างโดยผลักให้อีกฝ่ายโง่ ห่วย รุนแรง และประทับตราตายตัวไว้

เพราะการเหยียดกันด้วยความต่างเหล่านี้ล้วนมีโอกาสเป็นต้นตอของการมองเห็นคนไม่เป็นคนเท่าตัวเอง

ลึกๆ แล้วมันคือการด้อยค่าคนอื่น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

เมื่อกระทำสม่ำเสมอไปนานๆ เราอาจชาชินกับการรู้สึกว่าอีกฝ่ายมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าตัวเอง ซึ่งเป็นต้นตอไปสู่การปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณต่อกันได้

เมื่อครั้งเดินทางไปทำสารคดีที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ผมเอ่ยถามเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่แห่งนั้นว่า อะไรคือบทเรียนสำคัญที่เราควรเรียนรู้จากวินาศกรรมที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

“Never again” คือคำตอบของเขา

ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับที่ถูกพูดถึงและจารึกไว้ตามค่ายกักกันต่างๆ

นั่นคือสิ่งที่มนุษย์ควรเรียนรู้

เราไม่ควรสูญเสียความเป็นมนุษย์โดยปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างโหดเหี้ยมทารุณแบบนั้นอีกแล้ว

มันไม่ควรเกิดขึ้นอีก, ไม่ว่าที่ใดในโลก