โควิด-19 สายพันธุ์ ‘เดลต้า พลัส’ เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่โลกเพิ่งค้นพบ/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

โควิด-19 สายพันธุ์ ‘เดลต้า พลัส’

เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่โลกเพิ่งค้นพบ

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ก็คือเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าไวรัสสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

ล่าสุดพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาจากสัยพันธุ์เดลต้า ที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “เดลต้า พลัส” และเวลานี้นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบว่ามีอันตรายมากกว่าญาติใกล้ชิดอย่างสายพันธุ์เดลต้าเดิมหรือไม่

การพบสายพันธุ์เดลต้า พลัส นี้ส่งผลให้รัฐมหาราษฏระ ของอินเดีย ที่เดิมสายพันธุ์เดลต้าก็ระบาดอย่างรุนแรงอยู่แล้ว กลับต้องประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งในทันที

ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจาก “สายพันธุ์เดลต้า” เดิมซึ่งส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสป่วยและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น มากกว่าโควิดสายพันธุ์ที่พบก่อนหน้า ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบันใช้ได้ผลกับสายพันธุ์เดลต้าก็ต่อเมื่อฉีดครบโดสแล้วเท่านั้น

หลังพบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส องค์การอนามัยโลกต้องออกคำเตือนให้ผู้ที่แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ยังควรที่จะต้องสวมหน้ากากอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อความปลอดภัยและป้องกันห่วงโซ่การแพร่ระบาดเพิ่มเติม

และเตือนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบโดสด้วยว่า “บางครั้งวัคซีนก็ไม่ได้ผล”

 

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส เริ่มถูกบันทึกเข้าสู่ฐานข้อมูลในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในเดือนเมษายน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส จำนวน 26 รายในประเทศอังกฤษ ส่งผลให้อังกฤษออกประกาศห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศในทันทีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า พลัส แม้จะไม่มีประวัติเดินทางหรือสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า พลัส มาก่อน นั่นหมายถึงเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เริ่มแพร่ระบาดในท้องถิ่นแล้ว

ด้านกระทรวงสาธารณสุขอินเดียออกมาตรการตามมาในทันทีให้ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (วีโอซี) ในวันที่ 22 มิถุนายน โดยให้เหตุผลว่า อาจมีการแพร่ระบาดได้ง่ายมากขึ้น สามารถเกาะติดกับเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้แน่นมากขึ้น และมีความสามารถในการหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เก่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า เหตุผลที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส ผ่านเกณฑ์การเป็นวีโอซีของอินเดียนั้นยังไม่ชัดเจน

พร้อมกับระบุว่า อินเดียจัดให้ไวรัสเดลต้า พลัส เป็นวีโอซี เพื่อเป็นการระมัดระวังเอาไว้ก่อนมากกว่าที่จะใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ได้

 

อย่างไรก็ตาม การพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส ก็ยังเป็นเรื่องน่ากังวล โดยเวลานี้มีไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส อย่างน้อย 2 ชนิดที่ค่อยๆ แพร่ระบาดไปทั่วโลก นั่นก็คือ เดลต้า พลัส สายพันธุ์ที่เรียกว่า “AY.1” ที่พบได้แพร่หลายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา เยอรมนี รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส เนปาล ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกชนิดที่พบเรียกกว่า “AY.2” เป็นสายพันธุ์ที่พบในวงแคบๆ เพียงแค่ 150 รายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส นั้นยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ

แต่สำหรับสายพันธุ์เดลต้าเดิมนั้น วัคซีนชนิดต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมจะมีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เดลต้าลดลง เช่น แอสตร้าเซนเนก้า หลังฉีด 2 โดสแล้วมีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลงเหลือ 60 เปอร์เซ็นต์

ไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในระดับ 88 เปอร์เซ็นต์

โมเดอร์นามีประสิทธิภาพกับเดลต้าเช่นกัน แต่ก็ลดลงจากสายพันธุ์ดั้งเดิม

ส่วนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีประสิทธิภาพลดลงมาอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์

 

สําหรับไวรัสสายพันธุ์เดล้า พลัส มีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดลต้าเดิมที่เรียกว่า K417N อยู่บริเวณโปรตีน บริเวณปลายแหลมของไวรัส ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในจุดเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เบต้าที่พบในแอฟริกา สายพันธุ์แกมม่าที่พบครั้งแรกในบราซิล รวมถึงสายพันธุ์อัลฟ่าที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ

การกลายพันธุ์ในบริเวณ K417 ส่งผลให้สายพันธุ์ที่เกิดการกลายพันธุ์ก่อนหน้ามีความสามารถในการติดเชื้อไปที่เซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น และมีความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์เดลต้า พลัส ในบริเวณดังกล่าวก็หมายถึงความสามารถติดเชื้อและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลมากเพียงพอ

สำหรับข้อมูลที่มีในปัจจุบันนั้น ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส ที่พบในอังกฤษ ครึ่งหนึ่งนั้นพบในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเพียงไม่กี่ราย และยังไม่มีใครที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า พลัส ที่เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว นั่นหมายความว่าพอจะเชื่อมั่นได้ว่าวัคซีนหลายชนิดยังคงมีประสิทธิภาพกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส

เวลานี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จำนวนทั้งสิ้น 97,274 ราย ในจำนวนนี้มีเพียง 400 รายที่พบว่าเป็นเชื้อไวรัสเดลต้า พลัส และด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อเนื่องที่ยังไม่มากนัก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำได้เพียงการเพาะเชื้อในห้องทดลอง และทดสอบกับภูมิคุ้มกันกับผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น

ซึ่งผลเบื้องต้นจากการศึกษาทดลองในห้องแล็บพบว่าภูมิคุ้มกันจากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พลัส ได้ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นเพียงการศึกษาไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง