จาก ‘เบเกอรี่ไร้แป้ง’ ถึง ‘น้ำตาลเทียม’ อย่างไหนปลอดภัยกว่ากัน?

นอกจากศัลยกรรมความงาม การดูดไขมันก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เหมือนกับการลดความอ้วน เพื่อทำให้รูปร่างหน้าตาดูดี

แต่สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย หรือผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงไปคลินิกเสริมความงาม ยังมีวิธีการดูแลรูปร่างอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการงดรับประทานแป้ง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้สารความหวานแทนน้ำตาล

ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ใช้สารความหวานแทนน้ำตาลกันมากขึ้นกว่าในอดีตเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ที่มีเพียงน้ำตาลเทียมสำหรับชงกาแฟแค่ 2-3 ยี่ห้อ

แต่ในปัจจุบัน สินค้าบริโภคจำนวนมาก แปะป้าย Sugar Free หรือปราศจากน้ำตาล ไล่ตั้งแต่หมากฝรั่ง ลูกอม ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอัดลม

Sugar Free ก็ดี ปราศจากน้ำตาลก็ดี คือการนำ “น้ำตาลเทียม” มาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร

เพราะการบริโภคน้ำตาลปริมาณมากๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง ซึ่งนอกจากทำให้อ้วนแล้ว ในที่สุดจะนำไปสู่เบาหวาน

“น้ำตาลเทียม” จึงเข้ามามีบทบาท

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการ “เบเกอรี่” ช่วงหลัง มีการนำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจ เรียกว่า “เบเกอรี่ไร้แป้ง”

เพราะเป็นที่ทราบกันดี ว่าเมื่อเรารับประทาน “แป้ง” ร่างกายจะมีกระบวนการ “เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล”

เมื่อบวกกับการบริโภค “น้ำตาล” ในอาหารอื่นๆ ค่าน้ำตาลในเลือดก็จะยิ่งพุ่งขึ้น

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ “เบเกอรี่ไร้แป้ง” จึงถือเป็นการ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” คือ “ตัดแป้ง” ออกจากส่วนผสม “เบเกอรี่” เสียเลย

มีสูตร “เบเกอรี่ไร้แป้ง” ออกมามากมาย และเริ่มมีผู้ผลิต “เบเกอรี่ไร้แป้ง” ออกวางขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านกาแฟหลายแห่งเริ่มให้บริการ “เบเกอรี่ไร้แป้ง”

สูตร “เบเกอรี่ไร้แป้ง” หลักๆ มี Muffin, Pancake, Brownie, Cookies, Crepe, Bars, Pie, Tart และ Cake

ไล่ตั้งแต่ Muffin หรือ “ขนมอบ” เช่น เค้กกล้วยหอม Muffin ข้าวโอ๊ต (Oat) หรือ Chocolate Pancake

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Brownie หลากรส Cookies หลายชนิด และ Crepe, Bars รวมถึง Pie, Tart หรือ Cake แบบต่างๆ

 

สูตร “เบเกอรี่ไร้แป้ง” ขนมอร่อยเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิวัติวงการเบเกอรี่ที่ใช้แป้งเป็นส่วนผสมหลักมานานนับพันปีเลยทีเดียว

เพราะ “เบเกอรี่ไร้แป้ง” คือการนำธัญพืชมาแทนที่แป้ง ไม่ว่าจะเป็นข้าวโอ๊ต (Oat) Almond ผลไม้นานาชนิด ถั่วชนิดต่างๆ งา มัน เผือก ไข่ไก่ กล้วยหอม มะพร้าว ฟักทอง ข้าวโพด

ผมสังเกตว่า ส่วนผสมที่แวดวง “เบเกอรี่ไร้แป้ง” นำมาใช้แทน “แป้ง” ก็คือ วัตถุดิบหลักหลากหลายที่ใช้ในการทำ “ขนมไทย”

แปลว่า “ขนมไทย” เป็น “ขนมสุขภาพดี” มานานนับพันปีแล้ว!

ในส่วนของ “เบเกอรี่ไร้แป้ง” นั้น นอกจากจะ “ไร้แป้ง” แล้ว ยัง “ไร้เนย” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไร้น้ำตาล”

โดยวงการ “เบเกอรี่ไร้แป้ง” จะใช้ความหวานจาก “หญ้าหวาน” หรือผลิตภัณฑ์ “น้ำตาลเทียม” ต่างๆ แทน “น้ำตาล”

 

ศาสตราจารย์ ดร. Susan Schiffman แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina บอกว่า การขยายตัวของเมือง และพัฒนาการทางเศรษฐกิจ มีส่วนทำให้โภชนาการของผู้คนทั่วโลกมี Calorie เพิ่มมากขึ้นถึง 74%

“Calorie ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ไม่น่าเชื่อว่า เกิดจากการที่ประชากรโลกบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกันมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Schiffman กระชุ่น

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย North Carolina พบว่า ในห้วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันบริโภคอาหารที่ปราศจากน้ำตาลเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

“ไม่ว่าจะเรียกสารให้ความหวานเหล่านี้ว่าน้ำตาลเทียม หรืออะไรก็ตาม ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากเชื่อว่าสารให้ความหวานที่ว่านี้ รสชาติดีไม่แพ้น้ำตาลแท้ๆ เลยทีเดียว” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Schiffman ชี้

สอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers แห่งมหาวิทยาลัย Purdue ที่กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้คนอาจจะคิดว่า การรับประทานอาหารที่มีพลังงานน้อย จะทำให้น้ำหนักตัวน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะตรงข้ามกัน

“มหาวิทยาลัย Purdue เราได้เริ่มโครงการวิจัย ด้วยการศึกษากับหนูทดลองในห้องปฏิบัติการจำนวน 2 กลุ่ม” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers เผย

หนูกลุ่มแรก เราจะให้กิน Yogurt ผสม “น้ำตาลเทียม” ส่วนหนูอีกกลุ่มหนึ่งให้กิน Yogurt ผสมน้ำตาลจริง หรือ Glucose ซึ่งให้ Calorie สูง ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers กล่าว และว่า

“ผลการทดสอบพบว่า หนูกลุ่มที่กินน้ำตาลเทียม กลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าหนูกลุ่มที่กินน้ำตาลจริงมากถึง 20%”

 

ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers สรุปให้เราฟังจากผลการวิจัยว่า “น้ำตาลเทียม” อาจยับยั้งความสามารถในการควบคุม หรือแสดงถึงปริมาณ Calorie ที่ร่างกายบริโภคเข้าไป

“ผลลัพธ์ที่สำคัญก็คือ เมื่อบริโภคน้ำตาลเทียม ระบบเผาผลาญของเราจะทำงานช้าลง และไม่เผาผลาญพลังงานมากเท่าที่ควรจะเป็น” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers ทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร. Meghan Azad แห่งมหาวิทยาลัย Manitoba ที่กล่าวว่า การบริโภค “น้ำตาลเทียม” นั้น เป็นสาเหตุหลักซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนได้!

“เราได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากกลุ่มตัวอย่าง 400,000 คน ในช่วงเวลา 10 ปี ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง 400,000 คน มีน้ำหนักตัวมากกว่าเดิม” รองศาสตราจารย์ ดร. Meghan Azad กล่าว และว่า

รวมทั้งพบความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. Meghan Azad บอกว่า ในปัจจุบัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก

นอกจากอาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sorbitol ในหมากฝรั่ง และหญ้าหวานแล้ว “น้ำตาลเทียม” ชื่อดังประกอบด้วย

Aspartame ซึ่งให้ความหวานกว่าน้ำตาลแท้มากถึง 200 เท่า, Acesulfame Potassium หรือ Acesulfame K ให้ความหวานมากถึง 200 เท่า, Saccharin หรือ “ขัณฑสกรให้ความหวานมากถึง 300 เท่า และ Sucralose ให้ความหวานมากถึง 600 เท่า

 

มีงานวิจัยอย่างน้อย 11 ชิ้น ที่ได้ทำการสังเคราะห์ และวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มผสมน้ำตาล และ “น้ำตาลเทียม” กับโรคอ้วน

ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคเครื่องดื่มผสมน้ำตาล มีความเสี่ยงจะเกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 18%

ขณะที่งานวิจัยอีก 3 ชิ้น รายงานการบริโภคเครื่องดื่มผสม “น้ำตาลเทียม” ว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนมากถึง 59%

นี่คือข้อควรระวังของผู้ที่ชื่นชอบบิงซู น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟเย็น และน้ำผลไม้ที่ใช้น้ำตาลเทียมครับ

อย่างไรก็ดี สำมโนประชากรปีล่าสุดของสหรัฐ ได้ผลตรงกับงานวิจัยเรื่อง “หนูกินน้ำตาล” ของมหาวิทยาลัย Purdue ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคเครื่องดื่มลดน้ำหนัก แต่กลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 41%

ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers แห่งมหาวิทยาลัย Purdue จึงกลับมาสรุปให้เราฟังว่า แม้จะเปลี่ยนกลับไปรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ทำจากน้ำตาลแท้ แต่ก็ยังให้โทษมากกว่าคุณอยู่ดี ถ้ารับประทานในปริมาณมากโดยไร้การควบคุม

“อย่าลืมว่า เครื่องดื่ม และอาหารลดน้ำหนักที่ทำจากสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นไม่สามารถช่วยควบคุมความกระหายหิวของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนงำเกี่ยวกับน้ำตาลเทียม” ศาสตราจารย์ ดร. Susan Swithers ส่งท้าย