ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม กับ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

จับ “จุด” ให้ถูก “ใจ” ก้าวกระโดดไปพร้อมกับนวัตกรรมความคิด เป็นคำพูดจาก หนังสือ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” ผลงานเขียนลำดับที่ 5 ในชุดธุรกิจพอดีคำ ของ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” หรือ “คุณต้อง” นักนวัตกรคนแรก ๆ ของเมืองไทย และเป็นเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก 8 บรรทัดครึ่ง รวมถึง บล็อกดิท พอดแคสต์ ช่องยูทูบ และ อื่น ๆ ในชื่อเดียวกัน ซึ่งมีผู้ติดตามรวมกันมากกว่า 1 แสนคน

คุณต้อง-กวีวุฒิ เป็นบุคคลที่อยู่ในวงการธุรกิจและหนังสือมานานหลายปี โดยประวัติส่วนตัวของคุณต้อง-กวีวุฒิ ด้านการศึกษา เป็นเด็กทุน ปตท. จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา วิศวกรรมปิโตรเลียม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ จาก Stanford University อีกทั้งยังเคยผ่านโครงงานบ่งเพาะนวัตกร Design Leadership ที่ Stanford d.school จาก Stanford University และได้นำกลับมาปรับใช้ในการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรขนาดใหญ่ของเมืองไทยอีกด้วย

คุณต้อง-กวีวุฒิ มีประสบการณ์ทำงานในหน่วยงานด้านนวัตกรรมและแผนกลยุทธ์องค์กรชั้นนำของเมืองไทยมามากกว่า 10 ปี เคยเป็นหัวหน้าทีม Express Solution (Innovation Lab) ที่ดูแลเรื่อง Innovation ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่ของ ปตท. โดยนำกระบวนการสร้างนวัตกรรมจาก ซิลิคอน วัลเลย์ที่เรียกว่า Design Thinking มาใช้ในการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับองค์กร และ เคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมก่อตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆให้กับองค์กร ที่ ปตท.

อีกทั้งคุณต้อง-กวีวุฒิ ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและออกแบบแนวทางการสอนของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) อีกด้วย

ปัจจุบันคุณต้อง-กวีวุฒิ ทำงานเป็นหัวหน้าทีนวัตกรสร้างธุรกิจใหม่ (Venture builder) ที่ธนาคารไทยพานิชย์ (SCB) ในส่วนงาน SCB 10 X (เอส-ซี-บี-เท็น-เอ็กซ์) ควบคู่ไปกับเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายในด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัย และมหาองค์กรชั้นนำต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ

จากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมา ของคุณ ต้อง-กวีวุฒิ ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น กลั่นออกมาและแชร์ให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ ผ่าน ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก 8 บรรทัดครึ่ง บล็อกดิท พอดแคสต์ ช่องยูทูบ คอลัสต์ธุรกิจพอดีคำในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ รวมไปถึงหนังสือต่าง ๆ อีกมากมาย

สำหรับหนังสือ “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” เป็นหนังสือที่รวบรวมจากคอลัสต์ธุรกิจพอดีคำ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดยเนื้อหาภายในหนังสือ ได้บอกเล่าความคิดของบรรดาผู้บริหารระดับโลก ที่นำองค์กรผ่านอุปสรรคหรือวิกฤตต่าง ๆ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ประกอบด้วย ความกล้า ความเชื่อ “ใจ” ความหวัง ความฝัน ความรู้สึกและพลังใน “ใจ” ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น รวมถึง ความคิดใหม่ ๆ และเปิดกว้าง ได้

จาก “ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” Meet & Talk Zoom Meet สุด Exclusiveครั้งแรก!!  จาก สำนักพิมพ์มติชน คุณต้อง-กวีวุฒิ ได้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับเนื้อหาภายในหนังสือไว้ดังนี้

วัฒนธรรม “อยู่กันแบบพี่น้อง” “อยู่กันแบบครอบครัว” ที่ฝังอยู่ในหลาย ๆ องค์กรในประเทศไทย วัฒนธรรมเช่นนี้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งรึเปล่า ? ที่ทำให้หลาย ๆ องค์กรในประเทศไทย มันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนไปในอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างแรกเวลาที่ผมอ่านหนังสือ ผมจะระมัดระวังว่า “อย่าไปเชื่อมันทุกอย่าง” เพราะ เวลาเราปักใจเชื่ออะไรแล้วมันไม่เวิร์ด ส่วนใหญ่เราจะไปโทษคนเขียน คือถ้าเราไปลองแล้วไม่เวิร์ดอาจจะไม่เหมาะกับบริบทของตัวเองก็ได้ เวลาผมนำศาสตร์แบบ Google Netflix มาเขียน ผมจะบอกสิ่งที่เขาพูดไว้ว่า

องค์กรที่เป็นแบบพี่น้องหรือครอบครัวกัน คือเราทุกคนช่วย ๆ กัน ถ้าเราเป็นพี่น้องกัน มันตัดยังไงก็ตัดไม่ขาด ไม่ว่าน้องเราจะเป็นคนอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องช่วยเขา แม้ว่าน้องเราจะผิด บางทีเราก็ต้องบอกเลยว่า เดี่ยวเราไปเตือนทีหลัง แต่ต่อหน้า เราต้องป้องกันเขา โดยบ้างทีมันไม่มีเหตุผลเลยด้วยซ้ำที่จะปกป้อง

องค์กรยุคใหม่ต้องเป็นแบบ “ทีมกีฬา” คือ เราทุกคนซัพพอร์ตกัน ถ้าเราอยากให้มันประสบความสำเร็จทุกคนต้องไม่กินแรงกัน ถ้าเรามาอยู่ในองค์กรนี้เป้าหมายหลักของเราคือไม่ได้มาสร้างความสัมพันธ์ ไม่ได้กินเงินเดือนไปเรื่อย ๆ แต่เป้าหมายหลักของเราคือ การที่ให้องค์กรเราประสบความสำเร็จ และเป้าหมายของเราใหญ่กว่าความสัมพันธ์เสมอ

ยกตัวอย่าง สมมติเราอยู่ในทีมฟุตบอล ทุกคนในทีมซ้อมกันหมด แต่มีคนในทีมของเราคนหนึ่ง ไม่เคยซ้อมอะไรเลย แต่โค้ชทีมฟุตบอล ก็เอาคนนั้นมาลงสนามแข่งทุกครั้ง และพยายามจะฝึกให้คนนั้นไปพร้อมกัน แต่สุดท้ายทีมฟุตบอลเราก็แพ้ แล้วทุกคนที่เขาซ้อมมา ก็เศร้าโศกเสียใจกันหมด คำถามคือ ถ้าทีมฟุตบอลนี้มีวัฒนธรรมที่อยู่กันแบบพี่น้อง ผลคือ เราเป็นทีมเดียวกัน เราต้องรับผิดชอบด้วยกัน แต่ถ้าทีมฟุตบอลนี้เป็นวัฒนธรรมแบบทีมฟุตบอล ผลคือ คนในทีมทุกคนจะต้องบอกว่า คนนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ในทีม เพราะว่า เขาทำให้ทีมเราไม่มีเป้าหมาย

ย้อนกลับมาองค์กรในการทำธุรกิจมีเป้าหมาย ทุกคนในองค์กรมีเป้าหมาย แต่ถ้ามีคน ๆ หนึ่งที่ไม่ได้อินกับเป้าหมายนั้น องค์กรจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร ถ้าองค์กรแบบทีมกีฬา คนในองค์กรที่ไม่อินกับเป้าหมายอาจจะคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับองค์กรนี้ มันหนักเกินไป คนนั้นจะเดินออกไปเอง แล้วทุกคนในองค์กรจะปรบมือให้คนนั้น เพราะคนนั้นเขามีความรับผิดชอบ ถ้าองค์กรในประเทศไทยจะนำแนวคิด ทีมกีฬา มาใช้ก็ต้องปรับตามบริบทและตามสถานการณ์นั้น ๆ

สุดท้ายแล้วทั้ง วัฒนธรรมแบบพี่น้อง กับ วัฒนธรรมแบบทีมกีฬา ถูกทั้งคู่ มีดีทั้งคู่ แต่แค่ว่า วัฒนธรรมทั้ง 2 อย่างนี้ มันจะถูกนำมาใช้ กับวิธีการแบบไหน สถานการณ์แบบไหน บริบทแบบไหน แค่นั้นเอง

ชีวิตคนเราผ่านความล่มเหลวมาเยอะ คุณต้องจะมีวิธีการจัดการกับ “ใจ” ตัวเองอย่างไร

อย่างแรกผมต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้มีประสบการณ์เยอะ ผมก็ไม่ได้รู้เรื่องพวกนี้มากนัก แต่วิธีการจัดการกับใจในบริบทของผม คือ “ผมไม่ค่อยใช้เวลาเยอะกับสิ่งที่เราล่มเหลว” เพราะว่า ผมยังมีอย่างอื่นให้ทำอีกมากมาย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีการเลือกหลากหลาย งานอะไรที่มันไม่เวิร์ค เราก็จะมีงานอื่นให้เราทดลองต่อ แต่ถ้าเรามีอย่างเดียว แล้วเราทุ่มเทกับมันทั้งหมด ผมคิดว่ามันอาจจะทำให้เราเจ็บหนักแล้วก็ผิดหวัง ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะทดลองหลาย ๆ อย่าง แล้ว “เพื่อใจ” กับงานไว้บ้างอยู่แล้ว ถ้าผมจะลองทำของใหม่ ผมจะต้องเพื่อใจแล้วว่ามันอาจจะไม่เวิร์ค ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าคุณคิดว่า คิดทำอะไรไปแล้วจะเวิร์ค 100 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นไปไม่ได้ โลกนี้ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะของใหม่มันต้องการ การทดลอง การทดลองเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ นวัตกรรม หรือ ตัวเราเอง เราต้องกล้าที่จะลอง โดยเราก็ลองอะไรจากที่ง่าย ๆ ก่อนแล้วก็ถ้ามันไม่เวิร์คเราจะได้ไม่ทำมันต่อ ในเชิงนวัตกรรม เขาจะเรียกคอนเซ็ปต์นี้ว่า Prototype คือการทดลอง สร้างต้นแบบ Prototype ที่ดีคือ ไม่ใช้เวลาเยอะ และ ไม่ใช้เงินเยอะ เพราะถ้าคุณใช้เงินเยอะ เวลาเยอะ คุณจะรักและคาดหวังกับมันเร็วเกินไป แล้วเวลาคุณเจ็บ คุณจะผิดหวังกับมันเยอะ แล้วคุณจะไม่เปลี่ยน แต่ถ้าคุณรีบทำของออกไปทดลอง แล้วถ้ามันไม่เวิร์คคุณจะเปลี่ยนได้ง่าย เพราะคุณยังไม่ได้รักมัน แล้วคุณจะไม่ผิดหวังกับมัน กว่าจะที่ประสบความสำเร็จได้ คุณต้องผ่านความล่มเหลวมาก่อน ความล่มเหลวเป็นเรื่องปกติก่อนที่จะคุณจะประสบความสำเร็จ

การเป็นผู้นำที่ดีต้องเป็นอย่างไร

ในทัศนคติของผม “ผู้นำที่ดีต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จ แล้วคนที่ไปด้วยกันมีความสุข” คือ ผู้นำต้องนำเป้าหมายมาตั้ง แล้วให้ทุกคนในทีมบรรลุเป้าหมายให้ได้ เมื่อวันที่บรรลุเป้าหมายแล้ว ทุกคนรู้สึกได้ทำในสิ่งที่มีความสุข ความสุขในที่นี่หมายถึง ทุกคนรู้สึกได้ทำสิ่งที่มีความหมายและสามารมองย้อนกลับไปได้ว่า ฉันผ่านอะไรมาเยอะนะ ฉันได้เติบโต ฉันได้ทำให้สิ่งที่ฉันคิดว่าฉันทำไม่ได้

“ก้าวใหญ่ ๆ ใช้ใจเริ่ม” เป็นหนังสือฉบับกระเป๋า ที่จะเปิดโลกนวัตกรรมความคิด และปลุกความพร้อมใน “ใจ” ของคุณผ่านตัวหนังสือ 168 หน้า ที่มีครบทุกรสชาติ สามารถสั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่เว็บไซค์ของสำนักพิมพ์สมติชน www.matichonbook.com หรือที่ตามร้านหนังสือทั่วไป