จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เหงือกจ๋า ฟันลาก่อน / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

เหงือกจ๋า ฟันลาก่อน

 

ไม่มีใครรู้ว่า ‘ฟันปลอม’ มีในเมืองไทยสมัยใด

แต่มีบันทึกใน “เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์” (สันนิษฐานว่า คุณสุวรรณ กวีหญิง ข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3) คุณสุวรรณเล่าถึงหม่อมขำหรือหม่อมเป็ด สาวงามอาภัพฟัน ฟันหักหลายซี่จนต้องใส่ฟันปลอมทำด้วยกะลา

“หมั่นผัดพักตร์ผิวผ่องละอองหน้า               แต่ทันตาอันตรายไปหลายซี่

ประจงตัดจัดกะลาที่หนาดี                     ใส่เข้าที่แทนฟันทุกอันไป”

ฟันกะลากับจริตกิริยา “กระชดกระช้อยเจรจาอัชฌาสัย” ทำให้หม่อมสุดหรือคุณโม่ง คู่ขาเล่นเพื่อน ทั้งรักทั้งหลงหม่อมเป็ดถึงกับ “เวียนไปเวียนมาทุกราตรี”

ความช่างพูดช่างเจรจาของหม่อมเป็ดบางครั้งก็มากเกินไปจนเกิดเหตุไม่คาดคิดตอนหลวงนายศักดิ์เข้าวัง

“หม่อมเป็ดน้อยพลอยทำพย่ำเผยอ              พูดเจ้อจีบปากถลากไถล

เอาลิ้นดันฟันกะลาเลื่อนออกไป                ไหมเปื่อยขาดปุดหลุดลงมา”

ฟันปลอมแต่ละซี่มีเส้นไหมร้อยให้ผูกติดกัน ไหมขาด ฟันก็หลุดลงมาตรงหน้าหลวงนายศักดิ์พอดี ฝ่ายนั้น “ก็ถามทักทันใดอะไรขา” หม่อมเป็ดหาเหตุผลมาอ้างข้างๆ คูๆ เนื่องจาก “จะแจ้งจริงกับหลวงนายก็อายใจ เพื่อมิให้รู้แน่ว่าแพ้ฟัน”

หน้าแตกเพราะฟันปลอมครั้งแรกก็มีครั้งต่อไป

 

อย่าลืมว่าฟันปลอมทำด้วยกะลามิได้แน่นหนาเท่าใดนัก เจ้าของฟันเจออะไรฉุนๆ อย่างยานัตถุ์ ไอหรือจามแรงๆ ก็ได้เรื่อง

“น้ำตาไหลจามไอศีรษะฟัด                         จนฟันพลัดตำเปาะจำเพาะพักตร์

กรมวงศ์ทรงทอดพระเนตรมา                     เห็นกะลาทำฟันให้ขันหนัก

แล้วก็ทรงพระสำรวลคัก                           หม่อมอายนักก้มหน้าไม่พาที

เสด็จตรัสว่ายานัตถุ์ดีขยัน                          แต่ฟันคนเจียวยังหลุดออกจากที่”

พระดำรัสหยอกเย้าของเจ้านายทำให้หม่อมเป็ดอายเสียจนนั่งไม่ติด “แกล้งไถลเลื่อนหลีกไปจากนั่น” ทั้งยังแก้ไขสถานการณ์โดย

“เที่ยวค้นคว้าหาไหมอยู่เป็นควัน                  ผูกฟันเสียใหม่ให้ดิบดี”

 

วรรณคดีเรื่องนี้เล่าถึงวัสดุทำฟันปลอม นอกจาก ‘กะลา’ ก็มี ‘ไม้มะเกลือ’ และ ‘ไม้ทองหลาง’ ดังที่คุณสุวรรณบรรยายว่า ยายมาเอาพวงฟันปลอมมาให้หม่อมเป็ด

“พอยายมาพี่เลี้ยงเคียงเข้ามาพลัน                หยิบเอาฟันสามพวงมายื่นให้

ครั้นหม่อมเห็นพวงฟันเข้าทันใด                  ดีใจหยิบรับเอาฉับพลัน

พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้มะเกลือ                     วิไลเหลือดำดีสีขยัน

พวงหนึ่งทำด้วยกะลาหนาครัน                    เขาเจียนจัดขัดเป็นมันเหมือนทันตา

พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้ทองหลาง                    ทำเหมือนอย่างซี่ฟันขันหนักหนา

เอาไหมร้อยเรียบเรียงดูเกลี้ยงตา                  รับเอามาดูกริ่มแล้วยิ้มพราย

เขาช่างทำงามงามทั้งสามพวง                     แล้วห่อหวงเก็บไว้ไม่ให้หาย”

ฟันปลอมสามพวงนี้เป็นฝีมือคนจีนทำขาย

“หม่อมเป็ดถามยายว่าพวงฟัน                    นี่ขยันสุดใจใครให้พี่

ยายมาอวดซ้ำเขาทำดี                             ซื้อมาที่จีนยูทั้งสามพวง”

 

ฟันปลอมยังทำจาก ‘ไม้ฝาง’ ได้ด้วย ดังที่ Dr. Malcolm Smith นายแพทย์ชาวอังกฤษ เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” (ฉบับนางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ แปล กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2537) ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสูญเสียพระทนต์หมดทั้งพระโอษฐ์ตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 46 พรรษา ซึ่งถือเป็นความโชคร้ายที่มักจะเกิดขึ้นกับชาวสยามในยุคนั้น และทรงสวมพระทนต์ทำด้วยไม้ฝางซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งสีแดงเข้มที่บริเวณต้นพระหนุส่วนล่าง”

ความนิยมฟันดำ นอกจาก ‘ฟันจริง’ แล้ว ยังรวมถึง ‘ฟันปลอม’ ดังจะเห็นได้จาก ‘พวงฟันปลอมสีดำทำจากไม้มะเกลือ’ ใน “เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์” และที่ Ernest Young นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการในกระทรวงธรรมการสมัยรัชกาลที่ 5 เล่าไว้ในเรื่อง “Peeps at Many Lands : Siam” หรือ “มองสยาม” (ฉบับนางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ แปล) ว่า

“หมอฟันชาวอเมริกันผู้หนึ่งในกรุงเทพฯ ถึงกับต้องทำฟันปลอมซึ่งมีสีดำเก็บไว้ เพื่อที่ว่าเวลาเจ้านายหรือขุนนางทรงมีพระประสงค์หรือต้องการจะเปลี่ยนฟันปลอมซี่ใดซี่หนึ่งจะได้ไม่ทำให้ดูขัดตา และเสียบุคลิก”

เห็นไหมล่ะ ‘ดำ’ ทั่วถึงทั้ง ‘ฟันจริง’ – ‘ฟันปลอม’