ศิริกัญญา หวั่นเงินกู้ 5 แสนล้าน ประเทศล่มจม ชี้ผิดพลาดซ้ำซาก กู้เหลวแหลก ประชาชนได้เยียวยาน้อย

‘ศิริกัญญา’ หวั่นเงินกู้ 5 แสนล้าน ประเทศล่มจม ชี้ทำผิดพลาดซ้ำซาก กู้เหลวแหลก ประชาชนได้เยียวยาน้อย ยัดเยียดให้เป็นหนี้ แนะลาออก-ยุบสภาฯ

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 9 มิ.ย. 2564 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การขอกู้เงินครั้งนี้เหมือนเดจาวูที่รัฐบาลมาขอกู้เงิน โดยเขียนรายละเอียดมาแค่ 5 แผ่น และมาตีเช็กเปล่าเหมือนเดิมในพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่อาจจะอนุโลมกันได้ที่คิดโครงการไม่ทัน แต่รอบนี้ไม่มีข้อแก้ตัวแล้ว ผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ก็ไม่เห็นว่ามีมาตรการอะไรที่จะเยียวยาประชาชนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ต้องดูอีกครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะแก้กรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ แต่พรรคก้าวไกลจะไม่อนุมัติพ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะมีความเสี่ยงทำให้ประเทศล่มจม สิ่งที่เราคัดค้านการกู้แบบเดจาวูครั้งนี้ คือผลงานที่ผ่านมาผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก การระบาดยิ่งหนัก แต่ก็ยังเยียวยาประชาชนได้น้อย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการอย่างชัดเจนเพื่อเยียวยาเอสเอ็มอี ยกเว้นการยัดเยียดความเป็นหนี้ผ่านการกู้เงิน

“ในร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ยังมีการกักงบ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อไปกระตุ้นการบริโภค เช่น โครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ แต่ก็ต้องถามว่าใช่เวลาที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 หรือไม่ การอัดฉีดเงินเข้าไปแบบนี้ ยิ่งเหมือนการเทน้ำลงบนกองทราย”

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายว่า ถ้าประเทศไทยจะต้องกู้เงิน ก็จะต้องเป็นการกู้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของประเทศไทย ใน 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีข้างหน้า เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต ทั้งการวิจัยและพัฒนาขยายโครงข่าย ไฟฟ้า ประปา การขนส่งสาธารณะ และอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงชุมชนชายขอบตามชนบทห่างไกล

“เงินก้อนเดียวนี้ถ้าใช้ให้ถูกและเกิดประโยชน์ ก็จะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชนได้ทันที แล้วงานที่สร้างให้ประชาชนในวันนี้ ก็จะเป็นรากฐานในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้กับลูกหลานและประเทศไทยในอนาคต แต่ถ้ากู้แล้วเหลวแหลก จะสร้างหนี้ท่วมหัวให้ประชาชน ประเทศก็จะล่มจม”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การบริหารเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไร้วิสัยทัศน์ ไร้ยุทธศาสตร์ และไร้ภาวะผู้นำในยามวิกฤต ตนจึงขอยืนยันว่าขอให้ถอน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทออกจากสภาฯ และทำเข้ามาใหม่ในรูปของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือทำตามวิถีประชาธิปไตย ขอให้นายกฯ ลาออก หากท่านรู้สึกว่าทำทุกอย่างเต็มที่และดีแล้ว แต่ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยน หมายความว่าปัญหาก็น่าจะอยู่ที่นายกฯ หรืออีกทางหนึ่งคือยุบสภาฯ กลับไปถามประชาชนอีกครั้งว่า อยากให้คนที่มากู้และใช้เงินกู้เป็นใคร