อย่าพอใจกับการด้อยพัฒนา? คุยกับ ส.ส.วิโรจน์ ถึงกระแสย้ายประเทศกันเถอะ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

อย่าพอใจกับการด้อยพัฒนา?

คุยกับ ส.ส.วิโรจน์

ถึงกระแสย้ายประเทศกันเถอะ

 

“มีคนชอบบอกว่าประเทศนี้เป็นเหมือนบ้านเรา ก็ต้องถามว่า ถ้าเป็นบ้านของเราทำไมมันมีสมาชิกในครอบครัวไล่คนออกจากบ้านทุกวัน คนที่ถูกไล่เขาก็ฉุกคิดว่า หรือเขาอาจจะไม่ใช่เจ้าของบ้าน เหมือนเราถูกหลอก ในความจริงเป็นเพียงแค่ผู้อาศัยหรือผู้เช่า ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นใดๆ ว่าส่วนไหนในบ้านต้องปรับปรุง” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแส “ฮิต” ย้ายประเทศกันเถอะ

วิโรจน์มองว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องมองความรู้สึกของคนที่อยากไป แต่เดิมเขาไม่ได้อยากจะไป เขาพยายามผลักตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พาตัวเองเข้ามาในจุดที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศบ้าง

“แต่พวกคุณก็ไปด่าเขา ว่า ถ้าจะเอาแบบนั้นแบบนี้ ให้ย้ายประเทศออกไปซะ พอไล่เขามากๆ เขาสิ้นหวัง ยิ่งในฐานะผู้เช่าบ้านหลังนี้เขาก็จ่ายภาษีในฐานะค่าเช่า เขาเป็นผู้เช่า เขามีความรู้สึกมาก เขาไม่ต้องเหนื่อยไปเถียงกับนิติบุคคล พูดไปก็ไม่ฟัง ไม่ต้องไปนำเสนอแก้ไขอะไร ก็เก็บกระเป๋าไปเช่าบ้านหลังอื่นอยู่”

“แล้วพวกคนที่บอกว่าไปแล้วอย่ากลับมา พวกคุณไม่มีสิทธิ์ ไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะล็อกบ้านให้เป็นบ้านร้างแล้วออกไปเช่าบ้านคนอื่น”

“ในโลกยุคใหม่ที่เงินทุน-คนเคลื่อนย้ายได้ทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน จะเกิดสัญชาติใดเชื้อชาติใด เขาคือคนที่มีคุณค่า เขาสามารถที่จะไปที่ไหนก็ได้”

“เขามีเสรีภาพ เลือกจะไปที่ใดเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สามารถทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้ เนื่องจากมนุษย์เรามีเวลาที่จำกัดในโลกใบนี้ วัยหนุ่ม-สาวก็จำกัด การที่คนเขาอยากจะเอาวัยหนุ่ม-สาวที่มีแรงมีพลังมีไฟ ไปทำสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต ไปวิ่งตามความฝัน ในช่วงที่เขามีเรี่ยวแรง มีความคิดแปลกใหม่ ทันเทคโนโลยี ทำไมเขาต้องยอมทิ้งช่วงโอกาสนี้ให้แก่ตัวลงอย่างสูญเปล่า กลายเป็นผู้สูงวัยที่ต้องมาถอนใจเสียดายเวลาในอดีต ทำได้แค่ฝากฝังคนรุ่นต่อไป ซึ่งคนรุ่นถัดไปเขาก็มีความฝันของเขา เขาไม่จำเป็นจะต้องมาทำตามความฝันของคนรุ่นก่อน”

“สิ่งที่คนรุ่นก่อนเห็นว่าดี มันอาจจะดีสำหรับคนรุ่นนั้น แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สถานการณ์มันเปลี่ยน ความจำเป็นปัจจัยต่างๆ มันเปลี่ยนไปหมด สิ่งที่ดีในอดีตในปัจจุบันอาจจะ OUT ไปแล้วก็ได้”

“อีกกรณีร้อนคือความพยายามที่จะสื่อสารว่า หากไปต่างประเทศแล้ว จะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนั้นๆ อยากจะบอกว่าประเทศในโลกนี้มีเยอะแยะที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน เช่น แถบสแกนดิเนเวีย”

แต่พวกคุณยังมองโลกในยุคขุดทองอยู่ มันมีหลายประเทศในแถบยุโรปที่เน้นความเท่าเทียมกันมากมาย แล้วคุณไม่ต้องไปบอกเขาว่าต่อให้คุณไปประเทศที่พัฒนาแล้วแต่เป็นพลเมืองชั้นสอง

เพราะวันนี้คนที่เขาอยากไป เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองนะว่า ตอนนี้เขาอยู่ในประเทศนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนาแน่ๆ ใช่หรือไม่

ประเทศไทยจะไม่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช่หรือไม่?

เราไม่ได้ชังชาตินะ

เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่พัฒนา เขาก็ตั้งคำถามว่าสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศวันนี้เขาอยู่ในฐานะพลเมืองชั้นหนึ่งของประเทศนี้หรือ?

ถ้าเป็นพลเมืองชั้น 1 ของประเทศนี้ ทำไมสิทธิเสรีภาพและการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของพวกเขาถึงมีได้แค่นี้

“ถ้าวันนี้เขาต้องเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศที่กำลังพัฒนา สู้ไปเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ดีกว่าหรือ”

“ผมว่ารัฐมีแต่เสียกับเสีย วันนี้ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และมีผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แล้วคนที่มีอายุ 40-50 อีก 10 กว่าปีคุณจะไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ คุณจะอยู่ในฐานะประชากรที่สร้าง GDP ให้กับประเทศ แต่คุณจะอยู่ในสถานะที่ต้องใช้สวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล คุณจะกลายเป็นผู้ที่ต้องใช้ภาษี”

“แล้วคนรุ่นใหม่ในวัยที่อายุ 20 ต้นๆ ถ้าเขาไม่ย้ายประเทศ เขาจะอยู่ในฐานะผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นฐานภาษีเป็นหลักให้กับประเทศ คิดดูว่าถ้าเกิดเราเสียคนที่มีศักยภาพในวัย 20 กว่าในวันนี้ไป ณ วันข้างหน้านั้นใครจะมาเป็นคนหารายได้เข้าประเทศ จะมาเป็นฐานภาษีให้กับประเทศ”

“ถึงวันนั้นเราจะมีรายได้เพียงพอที่จะปรับปรุงระดับสวัสดิการได้อย่างไร และจะมีเงินมาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและร่วมมือกับนานาอารยประเทศได้อย่างไร โดยที่จะไม่ทำให้ประเทศเราถดถอยและไม่ทำให้ขีดความสามารถของประเทศลดลง”

“ต้องอย่าลืมว่าผู้สูงอายุเราเพิ่มมากขึ้น การใช้ภาษีในการดูแลสวัสดิการต้องใช้มากขึ้นในขณะที่ประชากรที่เป็นฐานภาษีที่มีศักยภาพย้ายออกจากประเทศนี้ ประเทศจะไม่กลายเป็นประเทศต้องสาปหรือ”

“ถ้าเราสมมุติสังคมวันนี้จะให้คนรุ่นใหม่ที่คิดต่างจากเราและมีความคิดก้าวหน้า ออกไปจากประเทศนี้จริงๆ ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ที่คุณไล่ พวกคุณพูดในเชิงตัดพ้อ ลึกๆ คือคุณรู้สึกเสียดาย รู้สึกกังวล”

“แต่การด่า การขู่ การเอาปัญหาบางปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วไปบอกว่าประเทศเรายังดีกว่า อันนี้แหละคือวงจรแห่งความโง่เขลาแห่งการไร้การพัฒนา เวลาที่ประเทศเรามีปัญหา จะมีคนที่พูดถึงปัญหาของประเทศ บอกว่าประเทศเราควรปรับปรุงอะไรบ้าง มักจะมีคนกลุ่มหนึ่งเสมอที่ออกมาพูด โดยยกเอาประเทศที่แย่กว่าเรา แล้วบอกประเทศเราดีกว่า”

“หรือยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยหยิบยกเอาปัญหาในมุมเล็กๆ ของประเทศนั้นมาพูด คือคนเหล่านี้กำลังจะบอกว่าไม่ ประเทศนี้ต้องพัฒนาแล้วหรือ? จงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่เหรอ?”

“ต้องยอมจำนนยอมรับสภาพ ที่มันเป็นไปในทุกวันนี้หรือ รอให้ตัวเองแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ และตายจากโลกนี้ไป อย่างนั้นหรือ”

“ต้องยอมจำนนจากการด้อยพัฒนาเหรอ”

 

“ประเทศอื่นเขามีแต่ดูตัวอย่างที่ดีที่สุดเพื่อการเปรียบเทียบเป็นต้นแบบ พยายามปรับตัวเองเพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่า ประเทศมันถึงพัฒนาได้ แต่พอมีคนพูดถึงปัญหา พูดถึงโอกาสที่จะปรับปรุงได้”

“อย่างเรื่องปัญหา covid-19 ประเทศไทยวันนี้แล้วตาย 20-30 คนต่อวัน พอพูดถึงวิธีที่จะบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ลดอัตราการตายให้น้อยลงกว่านี้ คุณจะต้องมาเจอเหตุผลที่ทำให้ท้อใจ ว่าประเทศอื่นเขาตายกันวันหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าเราจะต้องพอใจในการปล่อยให้ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยตายวันละ 30 แบบนี้หรือ ทั้งๆ ที่เรามองเห็นโอกาสที่จะลดอัตราการเสียชีวิตอยู่ตรงหน้าเราแล้ว”

“จะต้องยอมจำนนกับสภาพแบบนี้หรือ เราเห็นโอกาสในการปรับปรุงเรื่องการตรวจเชิงรุก บริหารจัดการความเสี่ยง เรื่องเตียง เรื่องการหาวัคซีน การกระจายยา ระบบการจ่ายยาที่เร็วกว่านี้ ลดขั้นตอนงานเอกสารธุรการที่ยืดเยื้อเวิ่นเว้อซับซ้อนเพื่ออำนวยให้หมอช่วยเหลือคนไข้ได้เร็วกว่านี้”

“นี่คุณจะพอใจกับสถานการณ์ ณ วันนี้หรือ โอกาสที่มีคนพูดเรื่องการที่ซื้อเครื่องออกซิเจน High Flow ช่วยเหลือคนไข้ที่มีอาการหนัก ไม่ต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตโดยมีโอกาสหายจากโรคได้ แต่เราก็มีเครื่องอยู่อย่างจำกัด เราจะมาช่วยกันเสนอแนะให้รัฐบาลจัดซื้อ หรือจะต้องใช้ระบบบริจาคเหรอ แต่เรายินยอมปล่อยให้รัฐจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์จัดการมอบตู้คอนเทนเนอร์ได้รวดเร็ว เตียงบางคนต้องรอหลายวัน แต่ตู้คอนเทนเนอร์แป๊บเดียวมาเลย”

 

“เราก็ชอบบอกว่าประเทศมีโชคดี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอใจในความที่จะไม่พัฒนาต่อไป และถ้าวันใดวันหนึ่งสถานการณ์มันเลวร้าย บังเกิด สิ่งที่เราทำได้คืออะไร คือการโทษเวรกรรม โทษประชาชน ให้ประชาชนรับในโชคชะตา”

“แต่ถ้าเราเตรียมการให้ดีในวันที่เราโชคร้ายที่สุด เราจะสูญเสียน้อยที่สุด ผมไม่อยากให้ประเทศเราตกอยู่ในวังวนแบบนี้ที่ต้องยอมจำนน เราเตรียมการและป้องกันให้ดีกว่านี้ได้ ให้ปัญหานี้มันเบาบางลงได้ อุปกรณ์การแพทย์ขาด เราเคยอยู่กับภาวะนี้มาแล้ว อย่าปล่อยให้มันเกิดซ้ำ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะเรียกร้องสิ่งใหม่ๆ เสมอ รัฐบาลก็จะกระตือรือร้นแก้ปัญหาทันที”

“เป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนต้องการสิ่งที่ดีขึ้นเสมอ ดูดีๆ ก็เรียกร้องเพิ่ม พูดถึงปัญหาใหม่ๆ ก็เร่งแก้ปัญหา การให้รัฐบาลปรับปรุงในด้านที่ดีขึ้น แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนา ประเทศที่กำลังพัฒนาแบบเรา ด่าในเรื่องเดิมๆ ด่าจนหมดมุข ด่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนอยากจะ Copy and paste มันเป็นปัญหาจนไม่อยากจะด่าแล้ว”

“ขอให้ประชาชนได้เรียกร้องในเรื่องใหม่ๆ บ้าง”

ชมคลิป