เสนอล็อกดาวน์บางเขตคุมไม่อยู่ แนะใช้วิธีไม่ฉีดวัคซีน ไม่ให้นั่งร้าน-ไม่ให้เรียน

รอง ปธ.กมธ.สธ.วุฒิฯเสนอล็อกดาวน์ กทม.บางเขต เร่งฉีดวัคซีนชุมชนคลัสเตอร์ หลังพบอัตราระบาดในบางเขตยังไม่ลด คุมไม่อยู่ แนะเร่งฉีดวัคซีน

วันที่ 11 พ.ค.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวถึงมาตรการควบคุมระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ว่า มาตรการที่ทำให้การระบาดลดระดับยังใช้ไม่ได้ผล หมายความว่า หากมีผู้ติด 2,000 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 20 ราย ดังนั้น มาตรการทำงานที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเข้มงวด ใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นต้องมีมาตรการเสริม คือ ล็อคดาวน์บางเขตที่คุมการติดเชื้อได้ยาก รวมถึงควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง

“ประเทศไทยในระยะเวลา 3 เดือนจากนี้จะมีวัคซีน 20 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน แต่การลงทะเบียนจองวัคซีนพบว่ามีน้อย เนื่องจากมีความเข้าใจไม่ครบถ้วน ดังนั้นควรปรับแผนการฉีดให้กับประชาชนในชุมชน ที่เป็นคลัสเตอร์ และผมเชื่อว่าหากผู้ที่กังวลหากเห็นว่าคนที่ฉีดวัคซีนไม่เป็นไร จะเปลี่ยนมาฉีดเอง โดยไม่ต้องบังคับ

เหมือนหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศอิสราเอล ที่ไม่บังคับฉีดวัคซีน แต่มีมาตรการรัฐ เช่น คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถนั่งทานอาหารในร้านได้ ส่วนใครที่ไม่ฉีดให้ซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น เป็นต้น ทำให้คนที่ไม่ฉีดวัคซีนเดือดร้อน จึงต้องรับวัคซีน ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้ได้ เช่น หากใครไม่ฉีดวัคซีน จะไม่ให้กลับมาเรียนหนังสือ เป็นต้น” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่าส่วนการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านเข็ม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% หรือ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี จะเหลือเวลา 8 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม ดังนั้นต้องฉีดให้ได้เดือนละ 12 ล้านเข็ม ตนมองว่าหากระดมแพทย์และหมอจากทุกโรงพยาบาล ทุกขนาดของรัฐและโรงพยาบาลเฉพาะทาง ที่มีรวมกัน 1,000 แห่งทั่วประเทศ จะทำให้การฉีดวัคซีนทำได้วันละ 400 เข็มต่อแห่ง รวมกัน ได้4แสนเข็ม ซึ่งศักยภาพดังกล่าวตนเชื่อว่ารัฐทำได้ แต่หากโรงพยาบาลเอกชน รับวัคซีนของรัฐเพื่อบริการให้ประชาชนฟรี เชื่อว่าจะมีศักยภาพฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 6 แสนเข็มต่อวัน