มูลนิธิอิสรชน เรียกร้องรัฐบาล เปิดโอกาสคนไร้ที่พึ่งเข้าถึงสิทธิตรวจโรค-รักษา จากภาวะโควิดระบาด

วันที่ 21 เมษายน 2564 มูลนิธิอิสรชน ได้ออกแถลงการณ์ต่อรัฐบาลไทย โดย อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ได้เรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลเปิดทางให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง ได้สิทธิในการตรวจโควิด-19 และการรักษาเฉกเช่นเดียวกันคนทั่วไป ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน

โดยใจความระบุว่า

คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะสิทธิของเขาอยู่ที่ไหน?

จากการระบาดระลอกแรกจนถึงระลอกปัจจุบัน

คำถามที่เราถามในฐานะคนทำงานกับคนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ สิทธิของการตรวจโควิค-19 ของคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน ?

คนเหล่านี้ไม่มีแม้โอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิการตรวจโรค หรือแม้กระทั่งการอยู่เป็นที่เพราะเขาไม่มีบ้าน อยู่ในที่สาธารณะ

-สิทธิการตรวจหาโรคโควิค-19 แล้วเมื่อตรวจพบเขาจะไปอย่างไรต่อ

-สิทธิการรักษา เมื่อคาดเดาว่าเขาอาจมีอาการ

และที่สำคัญ สิทธิในการรับวัคซีน ที่รัฐบอกว่าจะให้ทั่วถึงทุกคน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่เงื่อนไขการรับวัคซีนต้องมีสมาร์ทโฟน ซึ่งแค่ข้อแรก คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้แล้ว

การเยียวยาในส่วนของคนที่ไม่มีโทรศัพท์ และไม่มีบัตรประชาชน อย่างคนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ?

คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวนมาก เข้าไม่ถึงเงินเยียวยาในสถานการณ์ covid-19 เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์โทรศัพท์ การเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการในหลายรูปแบบเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน บัตรหาย หรือการเป็นคนไร้รัฐทั้งที่เกิดในประเทศไทย เป็นต้น

เรื่องคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สภาวะสังคมกำลงเผชิญ โควิค-19 ทำให้มีโอกาสเป็นคนไร้ที่พึ่ง

ปัญหาการไม่มีงานทำจนทำให้คนจำนวนมากต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง เนื่องจากไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าหรือผ่อนชำระที่อยู่อาศัยซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีคนตกงานและต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ของภาคเศรษฐกิจการผลิตในสังคม จึงเสนอให้มีการสร้างกระบวนการให้คนกลับสู่สังคม

คือพัฒนานโยบายเพื่อให้คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะซึ่งไม่มีทีวี ไม่มีโทรศัพท์มือถือ สามารถเข้าถึงข่าวสารการจ้างงานและช่องทางการสมัครงานได้ สนับสนุนกระบวนการหรือกิจกรรมทางสังคมที่จัดขึ้นโดยภาครัฐหรือเอกชนที่ดำเนินการเพื่อสร้างช่องทางเข้าที่จะทำให้คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมีงานทำ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเร่ร่อนหน้าใหม่ ที่เกิดจากปัญหาการตกงานในช่วง covid-19 มีงานทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้พ้นสภาพคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อนให้เร็วซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในระยะยาว

แม้แต่เลือกที่จะอยู่ในที่สาธารณะ ยังไม่ได้รับการมองเป็นคนเท่ากัน

การปฏิบัติตัวต่อคนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งภาครัฐมีการปฏิบัติในลักษณะละเมิดสิทธิคนกลุ่มนี้มากเกินไป เช่น การไล่ที่เมื่อมีการจัดงานต่างๆในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่ไล่ไม่ได้ แต่ควรมีความเข้าใจซึ่งกันและกันหมายถึง ปฏิบัติต่อกันอย่างมนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อมนุษย์ เช่น ไม่ควรมีการไล่ทุบตี ไม่ควรมีการรื้อและยึดของโดยไม่จำเป็น (แม้จะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้สึกว่ามีมูลค่าอะไรแต่มันคือทั้งหมดทั้งชีวิตที่เขามี) เป็นต้น

และสิ่งสำคัญคือขอให้รัฐพึงคำนึงว่า “พวกเขาไม่มีบ้านจะอยู่อาศัยพวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นไม่ว่าจะทุบตีอย่างไรไม่ว่าจะไล่อย่างไรเขาก็ยังต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะท่านไม่สามารถบังคับให้เขามีที่อยู่ได้เพราะเขาไม่มี การไล่จึงอาจทำให้เขาขยับที่ไปพักอาศัยในพื้นที่อื่นได้ชั่วคราว และสิ่งสำคัญ พื้นที่รองรับของรัฐเองมีไม่เพียงพออยู่แล้วสำหรับคนกลุ่มนี้” ดังนั้นการทำความเข้าใจในวิถีชีวิต และยอมรับการมีอยู่ของเขาเพื่อที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

จากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ รัฐสั่งควบคุมพื้นที่ การเฝ้าระวัง เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา เราทุกคนต้องการหยุดการแพร่เชื้อเช่นเดียวกัน แต่คนไร้ที่พึ่ง ผลกระทบและปัญหา ตกงานไม่มีรายได้ 100% ที่เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และการเข้าถึงการเยียวยาและตรวจการรักษาใดๆ

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มูลนิธิอิสรชน ได้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากความคิดและความต้องการของพี่น้องคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในฐานะหน่วยงานที่สร้างให้เกิดจุดเชื่อมต่อระหว่างคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพียงเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันเท่านั้น

 

ประสานงาน : อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน 0928656651