ของดีมีอยู่ : สงกรานต์ดิสรัปชั่น / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

เทศกาล “สงกรานต์” มีความหมาย-ความสำคัญต่อสังคมไทย

ทั้งในฐานะช่วงเวลาของการหยุดยาว-หยุดพักผ่อนของผู้คน

เป็นช่วงเวลาของการเดินทางท่องเที่ยวและการดำเนินกิจกรรมสังสรรค์นันทนาการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นการบริโภคและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไปในตัว

เป็นช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปสู่วิถีวัฒนธรรมอัน “ดีงาม” พร้อมๆ กับการเป็นห้วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนาน การปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก และการก่อสภาวะปั่นป่วนชั่วครั้งคราว ท่ามกลางสถานการณ์ “ยกเว้น” ระยะสั้นๆ

และที่สำคัญ “สงกรานต์” ยังหมายถึงการเวียนวนมาอีกคำรบของ “จุดเริ่มต้นใหม่” ในชีวิต

เหล่านี้คือความหมายและคุณค่าอันหลากหลายที่ “สงกรานต์” มีต่อผู้คนทุกกลุ่มในสังคมไทย

 

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในประเทศไทย จาก พ.ศ.2563 มาสู่ พ.ศ.2564 ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ มากมายหลายประการ ดังที่หลายคนน่าจะทราบกันดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องน่าสนใจอีกประการหนึ่งที่คนส่วนใหญ่สามารถตระหนักรับรู้ได้เช่นกันก็คือ การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในเดือนเมษายนปีก่อนจนกระทั่งถึงเดือนเมษายนปีนี้นั้นส่งผลให้ “เทศกาลสงกรานต์” ถูก “ดิสรัปต์” ถึงสองปีซ้อน

นั่นหมายความว่า การหยุดยาว การหยุดพักผ่อน การท่องเที่ยว กิจกรรมรื่นเริงบันเทิงใจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วง “สงกรานต์” ได้ถูกระงับยับยั้งเอาไว้ หรือดำเนินไปอย่างระมัดระวัง-รัดเข็มขัด-เข้มงวดมากที่สุด ติดต่อกันสองปี

ท่ามกลางความตื่นตระหนก-ความไม่มั่นใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังคงดำรงอยู่ แม้พวกเขาทั้งหลายจะเคยมีประสบการณ์ ผ่านพบสถานการณ์แพร่ระบาดมาแล้วหนหนึ่ง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าภาวะ “ปกติใหม่” ยังไม่มาถึงและยังไม่เกิดขึ้นจริง

ท่ามกลางความคาดหวังเรื่องการพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจ ด้วยการจับจ่ายใช้สอย ณ ช่วงเทศกาลหยุดยาว ที่สูญสลายหายไปในพริบตาอีกคราว

 

ถ้าหากมองในเชิงคุณค่าที่เป็นนามธรรมกันสักหน่อย

ภาวะ “ดิสรัปชั่น” ที่เกิดกับ “เทศกาลสงกรานต์” ก็จะตัดโอกาสในการหวนย้อนกลับไปสู่ “วิถีวัฒนธรรมอันดีงาม” ได้อย่างราบรื่นไร้ทุกข์โศก และปิดโอกาสในการปลดปล่อยระบาย “ความตึงเครียด” ของบรรดาสามัญชนผู้ด้อยอำนาจในสังคมไปพร้อมๆ กัน

ภาวะหมดหวังกับ “เทศกาลสงกรานต์ที่ไม่มีอยู่จริง” ที่บังเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังมีความหมายบ่งชี้ถึง “ปีใหม่” และ “การเริ่มต้นใหม่” ที่ไม่สามารถอุบัติขึ้นได้ รวมทั้ง “ฤดูกาล” และ “วงจรแห่งชีวิต” ของผู้คนในสังคมไทยที่แน่นิ่ง ปราศจากพลวัต-ความเคลื่อนไหว-ความเปลี่ยนแปลง

กล่าวอีกอย่างคือ “สงกรานต์” ที่ระเหยหายไปพร้อมกับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” นั้นเป็นหมุดหมายสำคัญที่บ่งบอกเราว่า “โครงสร้าง-การหน้าที่” ของสังคมไทยร่วมสมัย กำลัง “ผิดเพี้ยน-บกพร่อง-ไม่สมบูรณ์-พิกลพิการ” มากเพียงใด

 

ที่ผ่านมา หากมองในแง่มุมของภาครัฐ ประชาชนคนธรรมดามักถูก “กล่าวโทษ” อยู่บ่อยๆ เมื่อเกิดกรณี “โควิด-19” แพร่ระบาดใหญ่ ด้วยข้อหาเรื่อง “การ์ดตก” หรือการไม่รู้จักระมัดระวังป้องกันตัวเองให้ดีพอ

อย่างไรก็ดี ถ้าลองมองปัญหา “โควิด-19” ผ่านมุมมองที่ยึด “เทศกาลสงกรานต์” เป็นศูนย์กลาง และตีความด้วยแนวคิดทาง “คติชนวิทยา”

“โครงสร้าง-การหน้าที่” ทางสังคมที่หายไป การเปลี่ยนผ่านที่ไม่สมบูรณ์แบบ วันชื่นคืนสุขที่ไม่ปรากฏขึ้น เทศกาลรื่นเริง-รูระบายทางสังคมที่ถูกปิด นั้นย่อมไม่ได้นำไปสู่การปัดความรับผิดชอบให้ประชาชนพลเมืองอย่างหน้าตาเฉยโดยเหล่าผู้มีอำนาจ

แต่นี่คือปรากฏการณ์ที่ฉายให้เห็นภาวะ “บ้านเมืองอาเพศ” ไร้ความปกติสุข ซึ่ง “บารมี” “คุณธรรม” “ความสามารถ” ของคณะผู้นำประเทศ จะต้องถูกตั้งคำถามจากบรรดาคนเล็กคนน้อยผู้ไร้อำนาจในสังคมอย่างหนักหน่วง

มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ตามลำดับ