รัฐประหารเมียนมา รัฐประหารไทย / มนัส สัตยารักษ์

กาแฟโบราณ

มนัส สัตยารักษ์

[email protected]

 

รัฐประหารเมียนมา

รัฐประหารไทย

 

ผลการเลือกตั้งในเมียนมาครั้งล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2563 รวบรวมผลวันที่ 13 พฤศจิกายน ปรากฏว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติ NLD ของนางออง ซาน ซูจี รวมทั้งพรรคของชาติพันธ์ต่างๆ ได้ที่นั่งชนะพรรค พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย สนับสนุน อย่างถล่มทลาย

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญพม่าฉบับล่าสุดให้อำนาจกองทัพเมียนมาแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน แต่มิน อ่อง ลาย ผิดหวังอย่างแรง

มีข่าวแพร่กระจายว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ไม่พอใจผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อ้างว่า กกต.ร่วมมือกับนักการเมืองพรรค NLD ทำการทุจริตในการเลือกตั้ง กองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้ กกต.ชุดใหม่ที่ปฏิรูปแล้ว

พอถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลังจากควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ประธานาธิบดี และสมาชิกระดับสูงของพรรค NLD แล้ว มิน อ่อง ลาย ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี อ้างว่า “เพื่อประชาชน” โดยแต่งตั้งนายพลมิน ส่วย อดีตรองประธานาธิบดี เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี

กล่าวอย่างสรุปก็คือ เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกรัฐบาลพลเรือน แต่ทหารทนรัฐบาลพลเรือนไม่ได้

 

ในยุคปัจจุบันของกลุ่มประเทศทางฝั่งเอเชียอาคเนย์ ดูเหมือนจะมีเพียงประเทศไทยและเมียนมาเท่านั้นที่มีรัฐประหาร

ประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นับได้เน็ตๆ 13 ครั้ง ครั้งหลังสุดปี 2557 โดย คสช. ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเปลี่ยนถ่ายอำนาจและผลประโยชน์โดยทหาร ไม่ได้เกิดจากการปฏิรูปหรือปฏิวัติบ้านเมืองแต่อย่างใด

ส่วนเมียนมารัฐประหาร 4 ครั้ง ครั้งแรก ปี 2491 ครั้งที่ 2 ปี 2531 ครั้งที่ 3 ปี 2535 ครั้งล่าสุดหรือครั้งนี้ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเรื่องผ่องถ่ายอำนาจทหารเช่นเดียวกัน

นับว่าไทยเป็น “พี่ใหญ่” ในวงการรัฐประหาร

นอกจากนั้น เงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็คล้ายกัน รายชื่อกระทรวงเกี่ยวกับความมั่นคง 3 กระทรวงนั้น พม่าอาจจะได้แรงบันดาลใจจาก คสช.ของไทย หรือไทยได้แรงบรรดาลจากรัฐธรรมนูญของพม่า-ไม่ทราบชัด

ทหารยังคงไว้ซึ่งสิทธิ์และอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรี 3 กระทรวงความมั่นคง เหมือนกับที่ คสช.แต่งตั้งบิ๊กทหาร 3 ป. เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และเป็นประธาน ก.ตร. ดูแล บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ซึ่งย่อมรวมถึงตำรวจชายแดนด้วย

ผมไม่อยากจะไปทบทวนประวัติศาสตร์ของปีที่ประเทศทั้งสองยึดอำนาจ เพื่อยืนยันว่าใครเลียนแบบใคร

แต่เชื่อว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปก็คงไม่สนใจเช่นกัน ประเทศมหาอำนาจทางฝั่งตะวันตกเขา “เหมารวม” ความคิดของชาติรัฐประหาร โดยไม่จำเป็นต้องสนใจใครก่อนหรือหลัง

ไทยยังคงเป็น “พี่ใหญ่” ในวงการรัฐประหารอยู่ดี!!

 

คําว่า “แรงบันดาลใจ” ทำให้นึกถึงพระบรมราชานุสาวรีย์ “พระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์” ที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสร้างในรูปแบบและความคิดทำนองเดียวกับอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ 3 พระองค์ของพม่าที่เมืองเนปิดอว์

ทั้งพม่าและไทยสร้างอย่างยิ่งใหญ่อลังการในโลเกชั่นกว้างหลายร้อยไร่เหมือนกัน พระอาการของพระรูปก็งามสง่าทำนองเดียวกัน

และเราทุกคนต่างตระหนักดีว่าไทยสร้างที่หลังพม่าหลายปี

อดคิดไม่ได้ว่า ทหารไทยตามหลังทหารพม่าโดยลอกเลียนความคิดและรูปแบบมาทั้งดุ้น ต่างกันแต่ว่า ประเทศพม่าไม่มีกษัติย์แล้ว เขาสร้างเพื่อเทิดทูนความเป็น “นักรบ” ของพระองค์ ซึ่งเท่ากับยกย่องสถานะของตัวเองที่เป็นทหาร

ส่วนไทยยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสืบทอดมาอย่างยาวนาน เราสร้างพระบรมรูปในสถานะ “สถาบัน” ซึ่งมีทั้งนักรบ นักปราชญ์ นักปกครอง ผู้มีวิสัยทัศน์และทศพิธราชธรรม

ความคล้ายคลึงกันของพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่งทำให้ดูประหนึ่งว่า ทั้ง 2 ประเทศ ต่างมีบรรพบุรุษและเชื้อชาติเดียวกัน โดยเฉพาะในสายตาและความคิดของชาวตะวันตก

ไทยมีส่วนเสียหายต่างกับพม่าเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือข้อครหาในการจัดซื้อและจัดจ้าง ที่กว่าจะลงเอยกันได้ก็กลายเป็นความเสียหายที่เรียกกลับคืนไม่ได้และมองหน้ากันไม่สนิทของบรรดาบิ๊กทั้งหลาย

 

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อจาก พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ในปี 2554 ก่อนหน้านี้ได้ชื่อว่าเป็นหมายเลข 2 ของกองทัพพม่า มีความสนิทสนมกับนักการเมืองและนายทหารระดับสูงของไทยมาทุกยุคและหลายต่อหลายคน

ทั้งนี้เนื่องจากมิน อ่อง ลาย มีสถานะเป็นผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจอีกด้วย

ในช่วงปี 2555 มิน อ่อง ลาย เดินทางมาประเทศไทยบ่อย แทบทุกครั้งจะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งป๋าเปรมก็ให้การต้อนรับ พูดคุยและให้ตำแนะนำสั่งสอนตามแบบฉบับของท่าน…

“เราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

มิน อ่อง ลาย กระจายข่าวที่เขาปวารณาตัวเป็น “บุตรบุญธรรมป๋าเปรม” โดยที่ไม่มีข่าวป๋าเปรมตอบรับ หรือไม่มีข่าวเพราะสื่อไม่ได้ถาม อย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนข่าวที่ว่า มิน อ่อง ลาย มีความสนิทสนมกับนักการเมืองและนายทหารระดับสูงของไทยหลายต่อหลายคน รวมทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นั้น ก็ไม่ได้ถูกพลิกฟื้นขึ้นมากล่าวถึง

คงมีแต่ “ข่าวตำหนิ” “ข่าวทักท้วง” กับ “ข่าวเห็นชอบ” กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปต้อนรับและพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาที่ห้องรับรองของสนามบิน

เหตุที่มีข่าวหลายความคิดเห็น เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับประเทศที่อยู่ในภาวะความปรองดองแตกสลาย มีสารพัดกองเชียร์ของหลายฝ่าย

 

ข่าว พล.อ.ประยุทธ์ได้รับจดหมายจากมิน อ่อง ลาย เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ขอให้ไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา ไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เข้าใจว่าผู้เสพข่าวอาจจะเห็นเป็น “ข่าวชวนฮา” ที่นักรัฐประหารเรียกร้องให้นักรัฐประหารช่วยสนับสนุน “ประชาธิปไตย” (ฮา)

ที่น่าสนใจ (สำหรับผม) ก็คือข่าว “มหาอำนาจตะวันตก สหราชอาณาจักรและสหรัฐ ประกาศคว่ำบาตรผู้นำกองทัพเมียนมาและยึดทรัพย์นายพล” แต่ภาพประกอบของข่าวเป็นภาพของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประดับด้วยภาพ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เห็นได้ชัดว่า แอดมินของเพจข่าวนี้ ตีความว่า ผู้นำกองทัพและนายพล คือ นักรัฐประหารทั้ง 2 ชาติในภาพนั่นเอง!!

นายพลของเมียนมาไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะพม่าถูกคว่ำบาตรมานานแล้ว คงไม่มีใครกล้าเอาเงินไปฝากให้ถูกยึด เป็นห่วงก็แต่นายพลของไทยที่ไม่ถูกคว่ำบาตรมาก่อนนี่สิ อาจจะมีทรัพย์มหาศาลให้ถูกยึดก็ได้!!