ม็อบสภาพสุญญากาศแกนนำ บานปลายเปิดทาง ตร.ปราบ คาใจจุดสมดุลควบคุมฝูงชน / โล่เงิน

โล่เงิน

 

ม็อบสภาพสุญญากาศแกนนำ

บานปลายเปิดทาง ตร.ปราบ

คาใจจุดสมดุลควบคุมฝูงชน

นับตั้งแต่ คสช.ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เขียนรัฐธรรมนูญ แล้วเข้าสู่คราบนักเลือกตั้ง เปลี่ยนชุดลายพรางมาสวมสูท ตบเท้าเข้ารัฐสภา เข้าสู่ปีที่ 7

ขบวนการประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดในช่วงไล่เลี่ยกัน ก็ยังคงดึงดันต่อสู้เพื่อชิงอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนกลับมา

ความคิดได้ตกผลึกสู่ชนรุ่นหลัง ที่ฟันฝ่าเหตุบ้านเมืองผ่านข่าวสารการเมือง จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม กปปส. แต่ไม่พาชาติข้ามผ่านบางสิ่งไปได้

แนวคิดการปฏิรูปสถาบันจึงถูกผลักสู่สาธารณะของประเทศไทยอีกครั้งจากเรื่องที่พูดในวงแคบ กลายเป็นประเด็นร้อนที่แผดเผาไปทุกหย่อมหญ้า ท่ามกลางสงครามข่าวสารจริงเท็จปนกันไป

กลุ่มเยาวชนปลดแอก ชูธง 3 ข้อ

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพายพต้องลาออก

2. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใหม่ทั้งฉบับให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

และ 3. ปฏิรูปสถาบัน นำมาซึ่งเจตจำนงร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ

จนสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่สามารถระดมประชาชนเรือนแสนลงถนนประท้วงตลอดทั้งปี

ยิ่งมีภาพเจ็บแค้นจากการที่ตำรวจฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่ประชาชนมีเพียงมือเปล่าที่แยกปทุมวัน มาจนถึงภาพตำรวจควบคุมฝูงชนรุมทำร้ายทีมแพทย์อาสาและประชาชน แม้โรคโควิด-19 จะระบาด คนก็บ่ยั่น

 

กระแสได้แผ่วลงช่วงกลางปีให้หลังเป็นต้นมา ฝ่ายมั่นคงวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวทางการชุมนุมที่ดูเป็นเพียงการแสดงจำนวนคน เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ส่งผลกระทบจนเสียหายแล้วแยกย้ายกันกลับ จนถึงการแกงสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งผู้ชุมนุมด้วยกันเอง ทำเอาคนเริ่มไม่ค่อยมาร่วมวง

ประกอบกับหัวข้อการปราศรัยที่อ่อน อิงตามกระแสโซเชียล และเน้นการด่าทอ ไม่มีบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคมมาเป็นผู้นำทางความคิดขึ้นมาเปิดเผยสิ่งใหม่ๆ ในม็อบ ประเภทที่ว่า คนทั่วไปอยากรู้ต้องมาดูที่นี่เท่านั้น ซ้ำยังมีประชาชนรากหญ้าจากต่างจังหวัดส่วนหนึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เพราะขาดทรัพย์ และอุปสรรคการเดินทาง

นอกจากนี้ ยังมีม็อบเล็กย่อยที่หาแก่นสาระจากการชุมนุมไม่ได้ เป็นเพียงการเลี้ยงกระแสไม่ให้บ้านเมืองเงียบงัน

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการแตกคอระหว่างการ์ดผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ และแนวร่วมม็อบ ที่ความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน ทั้งยังมีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น คดียิงการ์ดอาชีวะที่แยกรัชโยธิน คดีปาระเบิดปิงปองที่จามจุรีสแควร์ ที่กลุ่มผู้ต้องหาคือนักเรียนอาชีวะที่มาร่วมชุมนุม

ความรุนแรงในหมู่ผู้ชุมนุมทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นฝีมือบุคคลที่สามหรือไม่ แต่ประชาชนบางส่วนไม่เอาด้วย ซ้ำยังไม่สามารถดึงเจ้าหน้าที่รัฐออกมาร่วมต่อสู้ดังเช่นการชุมนุมที่เมียนมา

ในความรุนแรงที่แฝงมากับหมู่ผู้ชุมนุมนี้เอง ได้สร้างความชอบธรรมของการใช้กฎหมายของตำรวจเข้าปราบ

 

ทิศทางการม็อบเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อแกนนำและแนวร่วมผู้ชุมนุมทั้ง 4 ได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ถูกฝากขังคุกและไม่ได้รับการประกัน

นำมาซึ่งการตั้งกลุ่มรีเด็ม (REDEM-Restart Democracy) กับสโลแกนที่ว่าม็อบเป็นของทุกคน ไม่ต้องมีแกนนำ ไม่ต้องมีรถปราศรัย ไม่ต้องมีการ์ด ใต้ธงนำการสู้เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย จำกัดอำนาจสถาบัน, ขับทหารออกจากการเมือง และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

เป็นไปได้ว่า หากแกนนำหลักออกตัวมากไปจนถูกจับ ครั้งนี้อาจไม่ได้รับการประกันตัวจนถูกส่งฝากขังเช่นกัน ทีนี้กระแสม็อบอาจจุดไม่ขึ้นเพราะไม่มีผู้นำทางความคิดอยู่นอกคุกคอยไกด์ไลน์มวลชน

ผลของการชุมนุมล่าสุดที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อไปเยี่ยมเยียนบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ชัยชนะของผู้ชุมนุมครั้งนี้ คือการเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์เปิดทาง ก่อนถูกตำรวจเข้าฉีดน้ำควบคุมและยิงกระสุนยางสลายการชุมนุมเท่านั้น

ต่อมา หลังยุติการชุมนุม ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่บุกเข้าทำลายทรัพย์สินราชการ ที่ สน.ดินแดง มีการเผารถสายตรวจ สร้างภาพจำที่เลวร้ายต่อการชุมนุมครั้งนี้ มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ซึ่งเข้าบัญชาการเหตุการณ์ด้วยตัวเอง ได้แถลงไว้ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยาง ยืนยันว่าวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างที่นำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด ไม่มีความรุนแรงอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งยังใช้ตามความจำเป็น โดยหวังให้สถานการณ์ยุติให้เร็วที่สุด

“ภาพการทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ผมขอให้มองในภาพรวมทั้งหมด บางทีเราเห็นเหตุการณ์แค่ช่วงๆ เจตนาคงจะพยายามระงับเหตุให้เร็วที่สุดและนำตัวผู้กระทำผิดแยกออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม และก่อนที่ตำรวจจะเริ่มปฏิบัติตามขั้นตอนยุทธวิธี จะมีการประกาศแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อเกรงว่าสถานการณ์จะลุกลามจนควบคุมไม่ได้”

ผบช.น.กล่าว

 

ถึงกระนั้นภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะภาพปรากฏกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกป้องกันการกระแทกสีขาว โดยไม่ติดป้ายชื่อมาเสริมกำลัง

กรณีนี้ต้องให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน

หากย้อนดูอุดมคติตำรวจไทย ก็เน้นย้ำถึงความอดทนอดกลั้น แต่เมื่อเป็นผู้ถือกฎหมายมาทำไม่ถูกเสียเอง ภาพลักษณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็สิ้นสุดไปคือกัน

ถ้ามองอีกมุมหนึ่งของการม็อบครั้งนี้ อาจมีสิ่งดีที่ขยี้ขย้ำเรื่องใต้พรมขององค์กรสีกากีเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

แต่จนตอนนี้ ก็ยังไม่มีตำรวจนายใดกล้าหันโล่เข้าหานาย มายืนเคียงข้างประชาชน