200 ส.ส.ร.เลือกตั้ง : ชนะศึกแต่ยังไม่จบสงคราม | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

200 ส.ส.ร.เลือกตั้ง

: ชนะศึกแต่ยังไม่จบสงคราม

 

ข่าวการลงมติของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ที่ระบุว่า กรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นชอบกับการมี ส.ส.ร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเสนอของฝ่ายค้านและกลุ่มเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ดูจะเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

หากแต่กระบวนการที่กว่าจะไปถึงการมี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังอีกยาวไกล

ข่าวของการศึกแรกจึงสมควรเพียงสร้างความยินดี ฮึกเหิม แต่หาควรประมาทในเส้นทาง

เพราะยังมีอีกหลายด่านที่อยู่เบื้องหน้า

 

จุดอ่อนของร่างรัฐบาล

องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสองที่ประกอบด้วย ส.ส. 30 คนตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ และ ส.ว.อีก 15 คน เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างเทียบกันไม่ได้

ร่างของรัฐบาลที่กำหนดสัดส่วนของ ส.ส.ร.จำนวน 200 คน ที่ให้มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และอีก 50 คนมาจากการคัดเลือกของ 3 กลุ่ม คือ จากรัฐสภา 20 คน จากที่ประชุมอธิการบดี 20 คน และจากการเลือกตั้งของนักเรียน-นักศึกษาอีก 10 คน โดยในส่วนหลังให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไปคิดหาวิธีการเอง จึงเป็นร่างที่หากฝ่ายรัฐบาลประสงค์จะผลักดัน ก็ไม่น่าจะผ่านความเห็นในที่ประชุมได้อย่างง่ายดาย

แต่เหตุใดการลงมติในการประชุม จึงหันเหกลับมาสนับสนุนร่างของฝ่ายค้านที่ให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

คำตอบเมื่อพิจารณาจากเหตุผลแล้ว น่าจะจบที่ว่า เพราะเดินต่อยาก

ทั้งในด้านการยอมรับจากประชาชน และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

การมีสัดส่วนของ ส.ส.ร.ที่มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา 20 คนนั้น แทบจะหาความไว้วางใจใดๆ จากประชาชนไม่ได้เลย เพราะรัฐสภาคือผู้เล่นที่มีส่วนได้ส่วนเสียในรัฐธรรมนูญมากที่สุด

ยิ่งวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.และเคยมีพฤติกรรมการลงคะแนนแบบที่ผ่านมาในอดีต ยิ่งไม่ได้รับความวางใจจากประชาชนว่าจะมีความเป็นกลางและจะเลือก ส.ส.ร.ที่มีความสามารถหรือเลือกมาเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

ในสัดส่วนอีก 20 คนที่มาจากที่ประชุมอธิการบดีของประเทศนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นที่เชื่อใจของประชาชน ด้วยบทบาทของนักวิชาการที่ผ่านมาในวิกฤตความขัดแย้งของบ้านเมือง มีการตีความกฎหมายบ้านเมืองบิดเบี้ยวมากมาย จะมีสักกี่นักวิชาการที่กล้าออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด

นักวิชาการส่วนใหญ่ดูเหมือนจะแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองมากกว่าจะชี้นำความถูกต้องให้สังคม ยิ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เลือกข้างอิงแอบฝ่ายการเมืองเพื่อให้ตนเองมีอำนาจก็เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของแวดวงวิชาการ

แล้วจะหวังอะไรกับการคัดเลือก ส.ส.ร.จากที่ประชุมอธิการบดีประเทศไทย

ในสัดส่วนสุดท้ายที่กำหนดให้มีตัวแทนนักเรียน-นักศึกษา จำนวน 10 คนมาเป็น ส.ส.ร.โดยให้ กกต.เป็นคนแสวงหาวิธีการคัดเลือก แม้จะดูใจกว้าง เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่มาร่วมร่างอนาคตของเขาเอง

แต่ในทางปฏิบัติ นักเรียน-นักศึกษาที่ต้องมีภาระในการเรียนจะเป็นไปได้เพียงไรในการมาร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาสำคัญของประเทศยาวนานถึง 8 เดือน

และโจทย์ร้อนที่ให้ กกต.ไปหาวิธีการเลือกตั้ง ดูจะเป็นเรื่องยากในการดำเนินการในทางปฏิบัติ และอาจนำไปสู่การกระเพื่อมบรรยากาศการเมืองในมหาวิทยาลัยที่ผู้มีอำนาจไม่ปรารถนาให้เกิดนัก

ดังนั้น คำตอบจึงออกมาที่ ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด

จุดอ่อนของร่างฝ่ายค้าน

ร่างของฝ่ายค้านที่กำหนดให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีจุดอ่อนตรงที่ ส.ส.ร.ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอาจเป็นคนที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ขาดประสบการณ์ในการร่างกฎหมาย และไม่เข้าใจกลไกการปกครองบ้านเมืองในมิติต่างๆ ได้ดีพอ

ยังมีความหวั่นเกรงนักการเมือง พรรคการเมืองจะใช้ความได้เปรียบในพื้นที่ ผลักดันคนของตนเองเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในแต่ละเขตจังหวัดซึ่งอาจนำไปสู่การมี ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานประโยชน์ของฝ่ายการเมือง

จุดอ่อนประการแรก สามารถแก้ไขได้โดยการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่อาจกำหนดให้มีสัดส่วนของนักวิชาการและข้าราชการประจำที่มีความรู้และประสบการณ์ในการร่างกฎหมายสำคัญของบ้านเมืองมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการยกร่าง

ส่วนในประการหลัง การให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ย่อมทำให้อิทธิพลการซื้อเสียงหรือการใช้อำนาจบารมีของฝ่ายการเมืองลดลงเนื่องจากพื้นที่กว้างขึ้น บุคคลที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ทำงานเป็นที่ชื่นชมของประชาชนในระดับจังหวัดจะมีโอกาสเข้ามาเป็น ส.ส.ร.โดยไม่พึ่งพาอิทธิพลของฝ่ายการเมืองก็จะมีมากขึ้น

สิ่งเดียวที่ฝ่ายมีอำนาจอาจกริ่งเกรงคือ ไม่สามารถกำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางที่ฝ่ายตนต้องการ เพราะ ส.ส.ร.จะมาจากร้อยพ่อพันธุ์แม่ ยากที่จะควบคุมความคิดให้ร่างเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายตนได้

 

ศึกแรกเพิ่งเริ่มต้น

การผ่านมติของที่ประชุมกรรมาธิการในครั้งนี้ ยังต้องรอการอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.ในวาระสองที่จะมีขึ้นในวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2564 และการลงมติวาระสามในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 โดยกติกาต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และในจำนวนดังกล่าวยังต้องมี ส.ว.ร่วมเห็นด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสาม และยังต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ร่วมเห็นชอบด้วย

ถึงเวลานั้น แค่หาก ส.ว.เปลี่ยนใจกะทันหัน ด้วยเหตุอ้างว่าร่างที่มาถึงในวาระสามนั้นแตกต่างไปจากร่างที่เห็นชอบในวาระหนึ่งก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะบิดพลิ้วได้ ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพียรพยายามมาก็ต้องตกไป ใครอยากแก้ก็ค่อยเสนอเป็นญัตติใหม่เข้ามาในสมัยประชุมหน้า

หรือแม้ผ่าน ก็ต้องมีการทำประชามติใน 90-120 วันถัดไป ซึ่งตกราวเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นประเทศไทยก็ยังมีโอกาสสุ่มเสี่ยงกับโรคทหารทำใจไม่ได้ที่อาจระบาดจากประเทศข้างเคียง

จึงกล่าวได้ว่าสงครามยังยาวไกล อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าใครอยู่ใครไปบ้าง

 

ปัจจัยตอกย้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้แนวคิด ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งเป็นจริงนั้น คือแรงกดดันที่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชนและประชาชนต้องแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยประกาศเป็นจุดยืนสำคัญเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้

หากท้ายสุดของเรื่องนี้ กลายเป็นท่าทีที่ไม่จริงใจของพรรคแกนนำฝ่ายรัฐบาล

พรรคร่วมที่ถือสัจวาจาเป็นสิ่งไม่ตาย ควรแสดงจุดยืนในการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

ยกเว้นว่าถือว่า วาจานั้นเปลี่ยนแปลงได้ หากผลประโยชน์ยังตั้งมั่น