มรดกโลก-มรดกน้ำตา / ชกคาดเชือก – วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก
วงค์ ตาวัน

มรดกโลก-มรดกน้ำตา

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหลายสิบคนตัดสินใจเดินทางออกจากหมู่บ้านบางกลอยล่าง แก่งกระจาน เพชรบุรี ด้วยไม่สามารถทนอยู่ในหมู่บ้านที่ทางการจัดให้อยู่อย่างอดอยากแร้นแค้น พากันหอบลูกจูงหลานพร้อมมีดและจอบเครื่องมือทำการผลิต
เพื่อจะกลับไปอยู่ถิ่นดั้งเดิม บางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ที่อยู่กันมายาวนานหลายชั่วอายุคน อยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน แล้วถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บังคับให้อพยพออกมา
เหตุการณ์ยืดเยื้อมา 25 ปี เต็มไปด้วยการใช้อำนาจรุนแรงจากรัฐ และความยากลำบากของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งการสูญเสียบิลลี่หรือนายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
การหายไปของบิลลี่และมีหลักฐานเชื่อได้ว่าถูกฆ่าเผาอำพรางไปแล้ว แต่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ
ชะตากรรมของชาวบ้านที่ถูกบังคับให้ออกจากถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมถึง 2 ครั้ง 2 หน จนสุดท้ายก็ไม่สามารถจะทนอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ได้ เพราะไม่สามารถทำการผลิตพืชไร่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
การเดินทางเพื่อขอกลับไปอยู่ในถิ่นดั้งเดิมครั้งนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายรัฐ เอาคนที่อยู่ดั้งเดิมในป่าและเคารพป่าให้ออกมาอยู่ในที่ที่อดอยากยากแค้น
ยังเป็นความห่วงใยของคนในสังคมที่รับทราบข่าว หวั่นเกรงว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กำลังติดตามไปควบคุมตัว บังคับให้กลับออกมาอีก ด้วยมาตรการดุดันเด็ดขาด เหมือนกับที่เคยทำมาแล้ว
ทำให้เครือข่ายชาวกะเหรี่ยงเข้าร้องเรียนต่อกรรมาธิการที่รับผิดชอบด้านกลุ่มชาติพันธุ์ของสภาผู้แทนฯ ให้ช่วยดูแลป้องกันคนที่เดินทางกลับไปอยู่ในพื้นที่บางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงอีก
เช่นเดียวกับนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่เป็นคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกทีมลาออก เพราะข้อเสนอให้แก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยอย่างสันติไม่ได้รับการพิจารณา ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
รวมทั้งมีนักกิจกรรมนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ ข้อความ #saveบางกลอย ไปติดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
คนจำนวนไม่น้อยในสังคมพากันห่วงใยชะตากรรมของชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ หลังจากถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า!!
โดยเมื่อปี 2539 เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปบังคับให้อพยพออกมาทั้งหมู่บ้าน แต่ลงเอยชาวบ้านยืนยันว่าไม่สามารถอยู่ได้ จึงพากันหนีกลับไปอยู่ที่บางกลอยบนอีก จนกระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้มาตรการรุนแรง เผากระท่อมและยุ้งข้าว กวาดต้อนให้ลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง
ปี 2557 บิลลี่หรือพอละจี รักจงเจริญ ถูกอุ้มหายไป
บิลลี่เป็นเด็กหนุ่มกะเหรี่ยงที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้ความรุนแรง มีภาพถ่ายไฟลุกโชน ทำลายล้างที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งยืนยัน เพื่อใช้ต่อสู้ในทางคดีเพื่อทวงสิทธิของชาวกะเหรี่ยง
ขณะที่ดีเอสไอพบหลักฐานชิ้นส่วนกะโหลกทิ้งน้ำในอุทยานฯ แก่งกระจาน ที่เชื่อได้ว่าเป็นของบิลลี่ พร้อมถังน้ำมัน 200 ลิตร ยืนยันว่าถูกฆ่าเสียชีวิตแล้ว

นักวิชาการ นักพัฒนาชุมชน มีข้อมูลยืนยันได้ว่า หมู่บ้านบางกลอยบนใจแผ่นดินนั้นมีคนอาศัยมานานนับพันปีโดยในถ้ำใจแผ่นดินมีขวานหินของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยขวานมีร่องรอยการใช้งานจริง
อีกทั้งในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีนักเดินทางจดบันทึกไว้ถึงเส้นทางจากมะริด ข้ามมาแม่น้ำเพชรบุรีและล่องตามลำคลองต่อไปกรุงเทพฯ ซึ่งยืนยันได้ถึงบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินซึ่งเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญ
ไม่เท่านั้น จากการศึกษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย พบว่าเป็นชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่า ดูแลรักษาป่า ให้ความเคารพป่าอย่างดี
ไม่ใช่พวกทำลายป่า ที่จะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าแก่งกระจานแต่อย่างใด มีแต่จะอยู่ดูแลรักษาป่าอย่างดีด้วยซ้ำ
“ปู่คออี้ มีมิ” ผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่นับถือของชาวกะเหรี่ยง เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2561 ในวัย 107 ปี เป็นอีกบุคคลที่ยืนยันถึงการอยู่มาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่ดังกล่าว
ปู่คออี้กล่าวเอาไว้ว่า ขอสาบานว่าบ้านบางกลอยบน เป็นบ้านเดิม ไม่ได้บุกรุกใหม่ ยืนยันว่าบ้านที่ถูกเผาคือบ้านเกิด ไม่ใช่แค่ที่พัก เพราะตอนเกิดมา จำความได้ก็อยู่กับแม่กับพ่อ น้ำนมหยดแรกก็กินที่บางกลอยบนนี่เอง
คำขอร้องวิงวอนขอกลับไปอยู่ในถิ่นกำเนิดไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งสิ้นลมหายใจไปแล้ว
ที่น่าเศร้าสลด ตอนที่ปู่คออี้เสียชีวิตในปี 2561 นั้น ยังไม่รู้ชะตากรรมของบิลลี่ผู้เป็นหลานชาย ที่หายตัวไปในปี 2557
จนกระทั่งปี 2562 ดีเอสไอจึงพบพยานหลักฐาน จากการงมใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน เป็นชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เมื่อนำชิ้นส่วนกระดูกมาตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นแม่ของนายพอละจี เชื่อได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี
จึงนำไปสู่การตั้งคดีอุ้มฆ่าแล้วเผา
จากนั้นมีการตั้งข้อหานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ที่อยู่กับบิลลี่ในวันหายตัว
โดยในวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวฐานมีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง แล้วนายชัยวัฒน์ที่เป็นหัวหน้าอุทยานฯ ขณะนั้นมารับตัวบิลลี่ไป จากนั้นนายชัยวัฒน์อ้างว่า หลังจากว่ากล่าวตักเตือนก็ปล่อยตัวกลับไปแล้ว แต่บิลลี่ก็ไม่เคยปรากฏตัวอีกเลย จนกระทั่งดีเอสไอพบชิ้นส่วนกระดูกที่เชื่อได้ว่าใช่บิลลี่ ยืนยันว่าถูกฆ่าเผาในถังน้ำมันแล้ว
แต่ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกในข้อหาฆาตกรรม เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐาน ผลดีเอ็นเอ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ
ขณะที่ดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งกลับไปยังอัยการให้ทบทวนความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ!!

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2562 ซึ่งไทยได้ยื่นเสนอ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผลคือคณะกรรมการตีตกไป ด้วยเหตุผลข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและชุมชนในพื้นที่
เท่ากับว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงอพยพชาวกะเหรี่ยงจากบางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ด้วยการบังคับ การเผากระท่อมและยุ้งฉาง จากนั้นชาวบ้านต้องมาอยู่ในถิ่นที่ใหม่ แต่ไม่มีพื้นที่ทำกินที่เพียงพอเหมาะสม ไม่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข
รวมไปถึงผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนยังหายตัวไป
จึงทำให้ป่าแก่งกระจานในสายตาของคณะกรรมการมรดกโลกและชาวโลก กลายเป็นป่าแห่งความรุนแรง การสูญเสียที่อยู่ที่ทำกิน และการอุ้มหาย
แน่นอนว่ารัฐบาลไทยก็คงพยายามจะยื่นเสนอข้อมูลใหม่ เพื่อผลักดันให้ป่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลกอีกครั้ง
แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมองไม่เห็นว่า ข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อท้วงติงของคณะกรรมการมรดกโลกจะได้รับการแก้ไขเช่นไร
25 ปีที่อพยพชาวกะเหรี่ยงลงมา มีแต่ความทุกข์ระทม!
จนกระทั่งต้นปีนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์ไม่อาจจำทนต่อไปได้ แบกจอบแบกมีดกลับไปอยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยบนอีกครั้ง
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าลงเอยจะถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จัดการเช่นไร ไม่เท่านั้น ความตายของบิลลี่ก็ยังเป็นคดีมืดดำและคาราคาซังอยู่
ป่าแก่งกระจานจะเป็นมรดกโลกได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นได้แค่มรดกน้ำตา-มรดกเลือดมากกว่า!!